เอกชนหวังบทบาท "เลขาฯคนใหม่" นำ EEC ยกระดับเศรษฐกิจไทย

เอกชนหวังบทบาท "เลขาฯคนใหม่" นำ EEC ยกระดับเศรษฐกิจไทย

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นพื้นที่ปักธงส่งเสริมการลงทุนใหม่ของประเทศ เพื่อยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนา และคนไทยมีรายได้สูงขึ้นได้ในปี 2572

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานภายในเดือน ธ.ค.2565 ซึ่งจะทำให้ได้เลขาธิการตัวจริงมาทำงานต่อจาก “คณิศ แสงสุพรรณ” ที่ครบวาระไปตั้งแต่เดือน 17 ส.ค.2565 โดยผู้ที่เข้าสู่การคัดเลือกได้แก่  ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ.และจุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้จะส่งผลต่อทิศทางการทำงานของสกพอ.ที่จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศและการทำงานร่วมกับภาคเอกชน

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เลขาธิการอีอีซีที่จะขึ้นมารับตำแหน่งใหม่จะต้องมีเข้าใจบริบทการลงทุนที่เป็นเมกะเทรนด์ใหม่ของโลก และมีการวางนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนอย่างตรงจุด ทั้งเรื่องการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว)  

การส่งเสริมพลังงานสะอาดและพลังงานสีเขียว และการลงทุนอย่างยั่งยืนและสมดุล ซึ่งเป็นเทรนด์การลงทุนของโลกยุคต่อไป เช่น การช่วงชิงการลงทุนของแบรนด์รถยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทยรวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อดันไทยเป็นผู้นำผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

ทั้งนี้ ในการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 29 และสภาธุรกิจเอเปค (เอแบค) ได้แสดงให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมรวมถึงทั่วโลกได้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพของไทย รวมทั้งการดำเนินนโยบายเชิงรุกในการออกไปพูดคุยกับนักลงทุนให้มากขึ้น และผลักดันให้เกิดการลงทุนจริง อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งสำคัญที่อีอีซีต้องเร่งผลักดันคือการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาต่อเนื่องหลังจากที่ไทยได้สปอตไลท์จากการประชุมเอเปค รวมทั้งรับโอกาสกระแสการย้ายฐานผลิต โดยการทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด อาทิ การจัดโรดโชว์ในต่างประเทศ

พร้อมทั้งการเร่งผลักดันความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและโครงการลงทุนซึ่งได้รับอนุมัติแล้วให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการดำเนินนโยบายของอีอีซีอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้

รายงานจากสกพอ.  เปิดเผยว่า เทรนด์การลงทุนทั่วโลกจับตามองเอเชียเป็นตลาดและฐานการผลิตสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ อีอีซีอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาค โดยโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก จะเข้าสู่ระยะก่อสร้างปลายปีนี้ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา  โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และสนามบินอู่ตะเภา จะส่งมอบหนังสือเริ่มงานในเดือน ต.ค.นี้ คาดเสร็จปี 2568-2569 ซึ่งจะทำให้ก้าวสู่ระยะการขยายตัวสำคัญตั้งแต่ปี 2569

“เมื่อ 4 โครงการสำเร็จจะเชื่อมต่อความเป็นกลางการลงทุนการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการเร่งรัดการลงทุนใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมเป้าหมายจะทำให้ไทยก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี”

เอกชนหวังบทบาท \"เลขาฯคนใหม่\" นำ EEC ยกระดับเศรษฐกิจไทย สำหรับแผนลงทุนระยะ 2 ในอีก 5 ปีข้างหน้า (2565-2569) ของอีอีซี วางเป้าหมายในการขับเคลื่อนต่อยอด เร่งรัดการลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง วิจัยพัฒนาเพิ่มความสามารถการแข่งขันของไทย วงเงินลงทุนรวม 2.2 ล้านล้านบาท เน้นที่การดึงดูด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 4 แกนธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูง อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า EV ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่และโลจิสติกส์ ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจBCG ซึ่งทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซี เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 400,000 ล้านบาท จากเดิมปีละ 300,000 ล้านบาท เป็นกลไกหลักผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5% ต่อปี ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 สร้างความมั่นใจนักลงทุนต่อเนื่อง พร้อมส่งผลใเห้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศพัฒนา และคนไทยมีรายได้สูงขึ้นได้ในปี 2572

การลงทุนในเขตอีอีซี ระหว่างปี 2561-2565 ดึงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม S-Curve เข้ามาลงทุนในอีอีซีคิดเป็นสัดส่วน 70% จากเงินลงทุนที่อนุมัติแล้วทั้งหมด จากทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 1.84 ล้านล้านบาท และในกลุ่ม 5 อุตสาหกรรม New S-Curve คิดเป็น 36% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 49%

ทั้งนี้ อีอีซี มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.โครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ดึงดูดบริษัทด้านดิจิทัลทั้งจาก จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น ในการลงทุนด้านธุรกิจดิจิทัลและดาต้าเซ็นเตอร์

2.การผลักดันนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และแสดงจุดยืนการเป็นฐานผลิตรถยนต์ของอาเซียน โดยจะมีการลงทุนจากบริษัท บีวายดี ค่ายรถอีวียักษ์ใหญ่จากจีนเตรียมยื่นขอบัตรส่งเสริมการลงทุน 30,000 ล้านบาทในปีนี้

3.การวางระบบการแพทย์ทันสมัยต่อยอดสู่การลงทุนในธุรกิจเวลเนส ซึ่งจะเป็นโอกาสธุรกิจครั้งใหญ่ โดยการเปิดฉากลงทุนการแพทย์จีโนมิกส์ทำให้เอกชนหลายประเทศสนใจร่วมลงทุนด้านการแพทย์ครบวงจรจากจีนและยุโรป