ประเทศไทยแพ้ไม่ได้ แข่งอาเซียนดึง “เอฟดีไอ"
อาเซียนมีความจำเป็นที่ต้องการดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หริอ เอฟดีไอ โดยเฉพาะที่ให้ความสำคัญกับกิจการไฮเทคเพิ่มมากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะแข่งขันกันออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มที่
การลงทุนจะเป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2566 และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาระบุถึงความสำคัญของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะถัดไป โดยเฉพาะในอาเซียนที่จะรองรับการย้ายหรือขยายฐานการผลิตและการลงทุนมาในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น และจำเป็นที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมผ่านการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงการลงทุน
ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อหวังที่จะสร้างแรงส่งให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง รวมทั้งได้ผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่แห่งแรกของประเทศไทยที่มีการออกกฎหมายเฉพาะ แต่น่าเสียดายที่ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยลง ซึ่งดูจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่ไม่ได้ประชุมมาแล้ว 4 เดือน
ในขณะที่หลายประเทศในอาเซียนได้เร่งเครื่องดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่มีการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เพื่อเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในของอินโดนีเซียเอง จึงทำให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถอีวี โรงงานประกอบรถอีวี และลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า
ส่วนประเทศเวียดนามที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดดเด่นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงและโดดเด่นกว่าหลายชาติในอาเซียน โดยที่ผ่านมาได้พยายามปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้ทันสมัยและรองรับการลงทุน และสามารถปฏิรูปกฎหมายได้สำเร็จ ซึ่งล่าสุดได้ออกกฎหมาย Decree 35/2022 เกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยเกี่ยวกับขั้นตอนและต้นทุนสำหรับผู้มาลงทุนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจในเวียดนาม
อาเซียนยังคงมีลักษณะที่เหมือนกัน คือ มีความจำเป็นที่ต้องการดึงเอฟดีไอ ซึ่งมีลักษณะธุรกิจที่ดึงเข้ามาลงทุนจะให้ความสำคัญกับกิจการที่ไฮเทคเพิ่มมากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะแข่งขันกันออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มที่ รวมทั้งทำให้เห็นภาพไทยและอินโดนีเซียแข่งขันกันดึงการลงทุนอีวี หรือเห็นภาพไทยและเวียดนามแข่งขันดึงการลงทุนธุรกิจไฮเทค ซึ่งเป็นสนามที่ไทยพลาดไม่ได้เพราะเดิมพันด้วยการยกระดับเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง