3 องค์กรรัฐ จับมือ สร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง
3 องค์กร ลงนามเอ็มโอยู เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ภายใต้โครงการ บ้านมั่นคงให้มีความเข้มแข็งและสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคง โดยใช้สหกรณ์และบัญชีเป็นเครื่องมือนำทางในการสร้างความความยั่งยืนให้กับสหกรณ์
นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยภายหลังเป็นเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีวสหกรณ์ และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ว่า
ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนคนจนเมืองทั่วประเทศ สร้างความมั่นคงในการครอบครองที่ดิน พัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อมชุมชน และสอดคล้องกับวิถีชีวิตและความสามารถในการจัดการของชุมชน
และในปี 2547 ได้มีนำระบบสหกรณ์มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโครงการบ้านมั่นคงเข้มแข็งมากขึ้น ภายใต้ “โครงการสหกรณ์บ้านมั่นคง” โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การให้ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาและจัดการตนเอง โดยมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการไม่มีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ
"ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่จัดขึ้นในวันนี้เพื่อให้การขับเคลื่อนทางการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และขอให้ร่วมกันทำงานเพื่อให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป"
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนความร่วมมือของกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเป็นหน่วยงานหลักในการถ่ายทอดความรู้ด้านการสหกรณ์แก่กลุ่มออมทรัพย์ที่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จัดตั้งขึ้น เพื่อให้กลุ่มออมทรัพย์มีความพร้อมในการจัดตั้งสหกรณ์ในระดับพื้นที่และระดับนโยบายให้เป็นไปตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ที่เกี่ยวกับการจัดตั้งสหกรณ์
กำหนดแนวทางในการปรับปรุงคู่มือการจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ตามโครงการบ้านมั่นคง สนับสนุนวิทยากรในการอบรมให้ความรู้ด้านการดำเนินกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการ ดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลักดันให้สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงมีพนักงานจัดทำบัญชีของสหกรณ์ และร่วมให้ความรู้ในด้านการจัดทำบัญชีสหกรณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ที่มีปัญหา ส่งเสริม สนับสนุน และประชาสัมพันธ์ให้สหกรณ์ มีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการ ดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาลมีแผนการปฏิบัติงานร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ชัดเจน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรชุมชนที่ใช้สหกรณ์เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชน ผู้มีรายได้น้อย
โดยการมีส่วนร่วมจากองค์กรชุมชนที่ดำเนินโครงการบ้านมั่นคง ในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของโครงการบ้านมั่นคง รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการจัดทำระบบบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด เพื่อให้สหกรณ์สามารถบริหารจัดการและดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
สำหรับพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดแสดงนิทรรศการ“การสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง” ภายใต้ธีม “บ้านมั่นคง สหกรณ์เข้มแข็ง” ความเป็นมาของสหกรณ์โครงการบ้านมั่นคง บทบาทกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการขับเคลื่อนสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ความเข้มแข็งของสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง สหกรณ์ตัวอย่าง ได้แก่
สหกรณ์เคหสถานคลองลัดภาชีร่วมพัฒนา จำกัด และ สหกรณ์เคหสถานแก่นนคร จำกัด และมีบริการคลินิกให้ความรู้ คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง หลักการ วิธีการ อุดมการณ์สหกรณ์ หลักเกณฑ์การจัดตั้งสหกรณ์โครงการบ้านมั่นคง ความรู้เรื่องกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับ การตอบข้อซักถามในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงสินค้าและกิจกรรมของสหกรณ์ กิจกรรมสาธิตการฝึกอาชีพ และการคำนวนราคาตอนทุนกำไร เช่น
กระเป๋าหนัง สานตะกร้า ผักคอนโด ไม้กวาด เป็นต้น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน มีสินค้ามากกว่า 20 ร้านค้า มาจากเครือข่ายชุมชนสหกรณ์ทั่วประเทศ เช่น น้ำพริก พวงมาลัย ทอดมัน กาแฟโบราณ เนื้อย่าง สายคล้องแมส เป็นต้น รวมทั้งยังมีเวทีเสวนานำเสนอรูปธรรม ชี้ทิศทางการบริหารชุมชนด้วยระบบสหกรณ์ และบทบาทการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย