'เอสอาร์ที แอสเสท' ลุยบริหารสินทรัพย์รถไฟปีหน้า
"เอสอาร์ที แอสเสท" เตรียมทำสัญญาปีหน้า เริ่มบริหารสินทรัพย์ ร.ฟ.ท. เล็งปั้นที่ดินแปลงใหญ่ "สถานีธนบุรี" 3.5 พันล้านบาท ดันศูนย์สุขภาพและธุกิจโรงพยาบาล
นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแผนบริหารสินทรัพย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยระบุว่า ขณะนี้ SRTA เตรียมทำสัญญารับจ้างบริหารสินทรัพย์จาก ร.ฟ.ท. 2 รูปแบบ คือ 1. การเช่าพื้นที่เพื่อพัฒนา และ 2.การรับจ้างบริหาร เพื่อบริหารสัญญาเดิมที่ ร.ฟ.ท.มีอยู่กับคู่สัญญาในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าในช่วงต้นปี 2566 จะเริ่มทำสัญญาร่วมกับ ร.ฟ.ท.ได้ โดยเฉพาะส่วนของการรับจ้างบริหาร คาดว่า SRTA จะเข้าไปดำเนินการบริหารสัญญาแทน ร.ฟ.ท.รวมประมาณ 1,800 สัญญา
ขณะที่การเช่าพื้นที่เพื่อพัฒนานั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำการศึกษาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เป็นโครงการเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสมต่อความต้องการของตลาด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาส่วนของที่ดินแปลงใหญ่ อาทิ ที่ดินแปลงศูนย์คมนาคมพหลโยธิน หรือบริเวณสถานีกลางบางซื่อ ที่ดินแปลงสถานีธนบุรี บริเวณโรงพยาบาลศิริราช ที่ดินแปลง RCA ที่ดินแปลงโรงแรมหัวหิน ซึ่งเบื้องต้นส่วนของแปลงสถานีธนบุรีค่อนข้างมีความชัดเจนในคอนเซ็ปต์ของการพัฒนาแล้วว่า จะเป็นศูนย์สุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล (Health & Wellness Hub) จึงคาดว่าหาก SRTA ได้ทำสัญญารับจ้างบริหารแล้ว จะสามารถผลักดันที่ดินแปลงนี้เพื่อเปิดประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนได้เป็นส่วนแรก
"ตอนนี้เรากำลังศึกษาศักยภาพสำหรับที่ดินแปลงใหญ่ว่าจะพัฒนาอย่างไรให้เหมาะสม แปลงบางซื่อศูนย์คมนาคมพหลโยธินตอนนี้เราก็อยู่ระหว่างทำมาสเตอร์แพลนร่วมกับทางญี่ปุ่นว่าจะพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายสมาร์ทซิตี้อย่างไร และจะคัดเลือกแปลงไหนมาพัฒนาก่อน ซึ่งได้นำมาสเตอร์แพลนนี้เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สมาร์ทซิตี้ในปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่ามาสเตอร์แพลนใหญ่จะแล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในไตรมาส 3 ปีหน้า"
นางสาวไตรทิพย์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2566 จะเป็นปีแรกที่เริ่มเห็น SRTA เข้าไปบริหารสินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท โดยจะเริ่มทยอยรับโอนแต่ละสัญญามาดำเนินการตามแผน พื้นที่แปลงใหญ่ที่จะได้เห็นความชัดเจนในการพัฒนา คือ พื้นที่แปลงสถานีธนบุรีเป็นส่วนแรก ขณะที่แปลงศูนย์คมนาคมพหลโยธิน จะได้เห็นการจัดลำดับพัฒนา เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างมาก และคอนเซ็ปต์พัฒนาที่ต้องมีรายละเอียดอาจจะต้องใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดและดำเนินการเป็นปีก่อนจะเปิดประกวดราคาพัฒนาพื้นที่ ขณะที่สัญญาย่อยอย่างการพัฒนาพื้นที่ตามสถานีรถไฟทั่วประเทศ ปัจจุบันมีอยู่ราว 6,000 - 9,000 สัญญา ก็จะทยอยดำเนินการเพราะส่วนใหญ่เป็นสัญญาที่ยังไม่หมดอายุสัญญา
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า แผนพัฒนาสถานีธนบุรี ปัจจุบันมีเป้าหมายชัดเจนว่าพัฒนาโครงการนี้ ศูนย์สุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล (Health & Wellness Hub) ลักษณะโครงการผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส บนพื้นที่ 21 ไร่ 3 งาน มูลค่าโครงการประมาณ 3.5 พันล้านบาท โดยรายละเอียดการพัฒนาโครงการ จะแบ่งออกเป็น 4 โซน ประกอบด้วย
1.พื้นที่โรงแรมและศูนย์การค้าสูง 13 ชั้น โดยจะเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว 720 ห้อง มีศูนย์การค้าอำนวยความสะดวกภายใน มีที่จอดรถ 501 คัน
2.ศูนย์พักฟื้นและฟื้นฟูสุขภาพ หรือเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ 1 จำนวน 280 ห้อง ที่จอดรถ 232 คัน เปิดบริการในระดับลักซ์ชัวรี่
3.เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 2 จำนวน 300 ห้อง ที่จอดรถ 235 คัน
4.บ้านพักสำหรับพนักงานการรถไฟ เป็นอาคารสูง 13 ชั้น 315 ห้อง ที่จอดรถ 265 คัน