เปิดเบื้องลึก ครม.ถกเก็บ 'ภาษีขายหุ้น' แลกเก็บรายได้เข้ารัฐ 1.6 หมื่นล้าน
การเก็บภาษีการขายหุ้นของรัฐบาล ในอัตรา 0.11% ของมูลค่าการขายหุ้น โดยในปีแรกที่บังคับใช้กฎหมายจะมีการเก็บภาษีในอัตรา 0.055% ต่อปี (เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น) ตามการเสนอของกระทรวงการคลัง
การตัดสินใจเรื่องนี้ถือว่าเป็นความกล้ากาญของรัฐบาลอย่างหนึ่งที่ตัดสินใจในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญความผันผวนและมีความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างประเทศจีนที่กำลังล็อกดาวน์หลายเมืองเพื่อต่อสู้กับโควิด-19
แม้ในการพิจารณาเรื่องนี้ ครม.มีมติเห็นชอบแล้วให้ดำเนินการตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ โดยร่างพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีธุรกิจที่ ครม.เห็นชอบกำหนดอัตราภาษีเฉพาะสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น 0.05% (0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ ถึง 31 ธ.ค.2566 และกำหนดอัตรา 0.10% (0.11% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 1.6 หมื่นล้านบาท และในปีแรกที่จัดเก็บภาษีขายหุ้นครึ่งนึงรัฐบาลจะมีรายได้ 8 พันล้านบาท และมีการชี้แจงจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ว่าเรื่อง การจัดเก็บภาษีขายหุ้นนั้นจะไม่กระทบนักลงทุนรายย่อยมากนัก
เบื้องหลังที่ ครม.ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ในการประชุมวันที่ 29 พ.ย.นั้นไม่ได้ง่ายดายเพียงแค่ยกมือผ่านกันเท่านั้น หากแต่มีการสอบถามและกำชับในประเด็นต่างๆจากทั้งรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีด้วย
แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่าว่าในการพิจารณาของ ครม.ใช้เวลาในการพิจารณาและแสดงความเห็นในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้บอกกับที่ประชุม ครม. ว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้ดี พิจารณาให้รอบครอบ และต้องชี้ให้สังคมเข้าใจ เพราะใกล้จะปีใหม่แล้ว และใกล้จะครบวาระของรัฐบาลแล้วด้วย
ส่วนนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวเสริมนายกรัฐมนตรีว่าเรื่องนี้อยากให้มีการพิจารณาให้รอบครอบเพราะว่าแม้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้จะไม่มากนักแต่นักลงทุนเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อมาก มีเงินมากการออกมาเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้จะมีพลังมากไปด้วย
ด้านนายอาคมกล่าวชี้แจงเพิ่มเติมในที่ประชุม ครม.ว่ากระทรวงการคลังได้มีการศึกษาแล้วในเรื่องนี้โดยได้เปรียบกับประเทศฝรั่งเศส และประเทศอิตาลี ซึ่งในเรื่องนี้กรณีของประเทศฝรั่งเศสกระทบแค่ระยะสั้นๆ ส่วนประเทศอิตาลีไม่มีผลกระทบกับการซื้อขายหุ้นเลย
นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.ว่ากระทรวงการคลังพิจารณาถึงเหตุผลของการเก็บภาษีขายหุ้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้
การเก็บภาษีขายหุ้นนั้นยกเว้นภาษีสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว และปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เติบโตขึ้นอย่างมาก
โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน จึงเห็นควรยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
โดยให้จัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอัตราครึ่งหนึ่งของอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีแรกของการจัดเก็บ 0.055% (อัตราที่รวมกับภาษีท้องถิ่น) และจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราตามประมวลรัษฎากรในปีต่อ ๆ ไปของการจัดเก็บ 0.11% ( เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) เพื่อให้ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีระยะเวลาเพียงพอแก่การปรับตัวรับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งผลกระทจากสงครามรัสเซีย - ยูเครนต่อการลงทุนก่อนจะเริ่มเสียภาษี ตลอดจนบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีระยะเวลาเพียงพอแก่การพัฒนาระบบหักและนำส่งภาษี
เว้นภาษีกองทุนเงินออมผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลัง เห็นควรคงการยกเว้นภาษีให้แก่ ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กองทุนบำนาญ ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขายรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด (กองทุนบำนาญ คือ กองทุนที่ผู้จ่ายเงินสมทบหรือเงินสะสมเข้ากองทุนสามารถหักลดหย่อนเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ) และกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนแก่กองทุนบำนาญ เพื่อไม่ให้การจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อการสร้างสภาพคล่องของหลักทรัพย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย รวมทั้งการออมเพื่อการเกษียณอายุ
ผลกระทบด้านอื่น ๆ ได้แก่
1.การเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและการออมเพื่อการเกษียณอายุ
แจงต้นทุนตลาดหุ้นไทยใกล้เคียงกับสิงคโปร์
2.อาจส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้นจาก 01.7% เป็น 0.22% (ต้นทุนที่รวมทั้งการซื้อและการขาย) แต่ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยต่ำกว่า ของมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 0.29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 0.38% และสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 0.20% เล็กน้อย
ทั้งนี้ ในปีแรกของการจัดเก็บที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 0.055% ต้นทุนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 0.195% ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์