ระเบิดเวลา "ฟองสบู่หนี้" แบงก์ชาติต้องบริหารให้ดี
แม้ตัวเลข GDP คนไทยจะเริ่มกลับมายืนในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด ทว่าไส้ในของเศรษฐกิจไทยกลับยังมีปัญหาที่หมักหมมไว้มากมาย นั่นคือ ‘ระดับหนี้’ ที่สูงขึ้น ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่หนี้สาธารณะ
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดในวันนี้ (30 พ.ย.) ดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะขยับขึ้นอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เช่นเดียวกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ก็เริ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิดแล้ว
เท่ากับว่าเราใช้เวลาราว 3 ปีในการฟื้นฟู ‘สุขภาพเศรษฐกิจไทย’ ให้กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งนับเป็นเวลาที่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่เขาฟื้นตัวเร็วกว่าเรามาก
แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ แม้ตัวเลขจีดีพีเราจะเริ่มกลับมายืนในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด ทว่าไส้ในของเศรษฐกิจไทยกลับยังมีปัญหาที่หมักหมมไว้มากมาย ซึ่งถ้าเปรียบก็คงไม่ต่างจากคนที่ผิวพรรณภายนอกแม้เริ่มดูดีกลับมาเท่าเดิม แต่สุขภาพภายในยังบอบช้ำอยู่มาก สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดๆ คือ ‘ระดับหนี้’ ที่สูงขึ้น ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่หนี้สาธารณะ
หนี้ครัวเรือน ดูจะเป็นปัญหาใหญ่สุดในบรรดาหนี้ทั้งหมด เพราะเกี่ยวพันกับการบริโภคที่มีสัดส่วนสูงถึง 50% ของจีดีพี หากหนี้ครัวเรือนยังสูงในระดับ 90% ต่อจีดีพี การจะหวังให้การบริโภคเติบโตได้เร็วคงยากตามไปด้วย
ซึ่งจะว่าไปแล้วปัญหาหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยรอบนี้ ‘ฟื้นตัวช้า’ ก็มาจากการที่ครัวเรือนมีหนี้สูง ทำมาหาได้ก็ต้องใช้หนี้ก่อนจึงไม่ค่อยมีเงินเหลือไปบริโภค และภาครัฐเองก็ไม่กล้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการก่อหนี้เหมือนในอดีตด้วย คงเพราะรู้ตัวว่าระดับหนี้ครัวเรือนสูงมากเกินไปแล้ว
ประเด็นที่อยากชวนคิดต่อ คือ ภาระหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจที่ยังทรงตัวในระดับสูง(มาก) การที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นจึงยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนที่มากขึ้นต่อคนกลุ่มนี้ แน่นอนว่าหากเศรษฐกิจไทยยังเติบโตอย่างเชื่องช้า ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของคนกลุ่มนี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ถ้าดูตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ของเอสเอ็มอี ณ ครึ่งแรกของปี 2565 พบว่า มีสูงถึง 7.6% หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด) พบว่า มีสัดส่วนเพียง 4.5% ขณะที่หนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ณ ครึ่งแรกปี 2565 สูงถึง 11.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 มีเพียง 3.2% เท่านั้น เห็นตัวเลขนี้บอกได้เลยว่ายังต้องจับตากันอีกยาวๆ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ยังถูกซ่อนอยู่ คือ หนี้ของกลุ่มเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการ ‘พักชำระ’ เอาไว้ ซึ่งเร็วๆ นี้มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลง จึงต้องดูว่าคุณภาพของหนี้ก้อนนี้จะเป็นอย่างไร ‘หน้าผา NPL’ จะยิ่งสูงขึ้นหรือไม่
เราหวังว่า ‘แบงก์ชาติ’ จะมีแผนที่ดีในการบริหารจัดการปัญหาที่ถูกหมักหมมเอาไว้ เพราะแน่นอนว่าดอกเบี้ยที่ทยอยเพิ่มสูงขึ้น คงไม่ต่างจากเข็มที่กดลงบนฟองสบู่ลูกนี้ อยู่ที่ว่าเข็มจะเจาะลงลึกแค่ไหน แล้วฟองสบู่จะแฟบลงก่อนได้หรือไม่ ภาพทั้งหมดนี้สะท้อนว่า สุขภาพเศรษฐกิจไทยภายนอกแม้ดูดีขึ้น แต่ไส้ในยังต้องเยียวยากันอีกเยอะ!