ซินเจนทา ทุ่ม330ล้าน ขยายโรงงานเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดใหญ่สุดในอาเซียน
ซินเจนทา ซีดส์ ทุ่มงบกว่า 330 ล้าน เพิ่มกำลังการผลิตขยายโรงงานใหม่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียนที่จังหวัดลพบุรี พร้อมตั้งเป้าเป็นผู้นำ ยกไทยเป็นฮับส่งออก
นายจัสติน วอล์ฟ ประธานกรรมการบริหารธุรกิจเมล็ดพันธุ์ บริษัท ซินเจนทา สำนักงานใหญ่ เปิดเผยว่า ในฐานะผู้พัฒนาและผู้ผลิตเมล็ดข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์ชั้นนำของโลก ซินเจนทามีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนระยะยาวในภาคการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งได้นำความรู้และทักษะ ประสบการณ์ที่ยาวนาน รวมกับความชำนาญของทีมงานที่ไทย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรในไทย
ด้วยการทำงานอย่างหนักของทีม ทำให้เกษตรกรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากซินเจนทามากขึ้นและมีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยและหุ้นส่วนของซินเจนทาประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งจะลงทุนอย่างต่อเนื่องในทุกๆปีอีกหลายล้านบาท เพื่อทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้ได้ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าสู่ตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในไทย และช่วยสร้างระบบการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน
"เราภูมิใจที่จะประกาศว่าซินเจนทาได้ลงทุนกว่า 330 ล้านบาท โดยการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัยที่สุดมาใช้ ให้ได้ผลผลิตเมล็ดข้าวโพดลูกผสมที่มีคุณภาพสูงและตรงกับความต้องการของเกษตรกรมากที่สุด และเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดแก่เกษตรกรไทย ซินเจนทาจะพัฒนานวัตกรรมต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าทีมของเรามีความพร้อมสำหรับความท้าทายในอนาคตที่จะมาถึงอยู่เสมอ”
นายพิชญา รุจิรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ซินเจนทา ซีดส์ ประจำประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่า “โรงงานในส่วนต่อขยายนี้เพิ่มศักยภาพกำลังการผลิตสูงสุดได้ถึง 10 ตันต่อชั่วโมง จากเดิมที่ทำได้เพียง 3 ตันต่อชั่วโมง โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนากระบวนการผลิตที่นำเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมันนีและประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวขับเคลื่อนการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมสำหรับอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดสำหรับอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และอาเซียน”
“นอกจากนี้โรงงานส่วนต่อขยายใหม่ของซินเจนทา ซีดส์ ยังควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ มีการใช้หุ่นยนต์แขนกลในการจัดเรียงสินค้าเพิ่มความปลอดภัยลดการใช้แรงงานหนักและความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบการทำงานผ่านระบบเครือข่ายไร้สายได้ และยังมีระบบกำจัดฝุ่นแยกอิสระในเครื่องจักรแต่ละส่วน เพื่อป้องกันมลภาวะทางอากาศระหว่างการปฏิบัติการ จึงเป็นโรงงานที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน”
ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ บริษัทซินเจนทา ซีดส์ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม โดยดำเนินการผลิตภายใต้สัญลักษณ์ทางการค้ายี่ห้อ NK อาทิ เช่น NK6253, NK6848, NK7321, NK8216, NK6275, S7328 และ S6248 สำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิเช่น เวียดนาม, กัมพูชา, เมียนมาร์, ปากีสถาน, ศรีลังกา, เอกัวดอร์ และกัวเตมาลา
ในส่วนของการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง ที่นี่จะมีการตรวจสอบ DNA ของข้าวโพดว่ามีลักษณะของพันธุ์ถูกต้องตามขบวนการปรับปรุงพันธุ์หรือไม่ มีการสุ่มตรวจสอบเมล็ดเพื่อทดสอบอัตราการงอกและความแข็งแรงของเมล็ด ซึ่งเมล็ดพันธุ์ของซินเจนทามีอัตราการงอกสูงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 (ตามกฏหมายระบุให้เกินร้อยละ 76 เท่านั้น) และมีความชื้นของเมล็ดพันธุ์ไม่เกินร้อยละ 12 เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการคัดแยกเมล็ดให้ได้ความบริสุทธิ์ทางกายภาพและมีขนาดที่เป็นมาตรฐาน
ด้วยนวัตกรรมใหม่ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมที่ผลิตได้ มีคุณภาพทั้งในเรื่องอัตราการงอก ความแข็งแรงของต้นกล้า ความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ ความบริสุทธิ์ทางกายภาพ และความสม่ำเสมอของขนาดที่ดี ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้ง รวมถึงโรคและแมลงต่าง ๆ ช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้น เพียงพอกับความต้องการ และช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้ประเทศไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากถึงปีละ 8-9 ล้านตัน แต่ปัจจุบันกลับมีกำลังการผลิตในประเทศเพียง 5-6 ล้านตัน ยังขาดปริมาณที่ต้องการอีกถึง 2-3 ล้านตัน ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังขาดทั้งในแง่ปริมาณผลผลิต คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ลักษณะของพันธุ์อาทิเช่น การทนทานต่อศัตรูพืชและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยนวัตกรรมใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศไทยลดการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสม
บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทย ดำเนินธุรกิจทั้งวิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำนวัตกรรมมาแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้ลงทุนกว่า 330 ล้านบาท โดยได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ดำเนินการสร้างโรงงานส่วนต่อขยายในอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ระหว่างปี พ.ศ. 2564–2565