ผงะ หมูแช่ฟอร์มาลีน ขายส่งหมูกระทะ ขณะยังลักลอบนำเข้าต่อเนื่องตามชายแดน
การลักลอบนำเข้าเนื้อหมูยังมีต่อเนื่อง ตามแนวชายแดน กรมปศุสัตว์ จับอีก 1,500 กก. ที่ จ. สระแก้ว ซุกกระสอบผ้ามือสอง จากก่อนหน้า เจ้าหน้าที่บุกยึดอายัดเครื่องในและเนื้อสัตว์แช่ถังฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกระทะในพื้นที่ชลบุรีและใกล้เคียง กว่า 2.5 หมื่นกก.มูลค่า 5 ล้านบาท
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ได้รายงานเหตุการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าซากสุกรด้านชายแดนจังหวัดสระแก้ว โดยเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 4 ธันวาคม 2565 ด่านกักกันสัตว์สระแก้ว ร่วมกับด่านศุลกากรอรัญประเทศ หน่วยงานความมั่นคง และตำรวจ ร่วมกันจับกุมผู้กระทำผิดฐานลักลอบนำเข้าซากสุกรจากประเทศกัมพูชาเข้ามาประเทศไทยด้านชายแดนจังหวัดสระแก้ว จำนวน 1,500 กก.
จึงดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่สถานีตำรวจภูธรคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ความผิดตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 18,22,31,34 และพรบ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242,247 โดยส่งมอบผู้ประทำความผิด และยานพาหนะ ให้ตำรวจดำเนินคดี ส่วนซากสุกรด่านกักกันสัตว์สระแก้วจะดำเนินการฝังทำลายตามระเบียบกรมปศุสัตว์
รูปแบบการลักลอบกระทำความผิดเริ่มจากมีการสั่งซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการชาวกัมพูชา และนำมาซุกซ่อนไว้บริเวณชายแดน จากนั้นจะนำยานพาหนะเข้าไปลำเลียงโดยใช้กระสอบผ้ามือ 2 ทับหลังซากสุกรเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ ระหว่างขับรถออกมาจากแนวชายแดน พบชุดลาดตระเวนของเจ้าหน้าที จึงขับรถหนี เจ้าหน้าที่จึงขับรถตามสกัดและสามารถจับกุมได้ บริเวณบ้านดงงู อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ผู้ต้องหาให้การสารภาพ ว่านำซากสุกรลักลอบนำเข้ามาจริง
การลักลอบนำซากสุกรเข้ามาในครั้งนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565 โดยลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จำนวน 2,000 กก. บริเวณบ้านเขาตาง๊อก ต.คลองหาด อ.คลองหาด จ.สระแก้ว และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 จับกุมได้ขณะกำลังขนซากสุกรขึ้นรถห้องเย็น จำนวน 5,000 กก. บริเวณบ้านหนองปรือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ทั้งนี้กรมปศุสัตว์จะร่วมกับ กรมศุลกากร ตำรวจ และหน่วยงานความมั่นคง เฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ส่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี บุกตรวจสอบแหล่งลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินรายใหญ่ ส่งขายร้านหมูกะทะและร้านอาหารอีสาน กว่า 66 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียง ปริมาณน้ำหนักรวม 25,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของยังไม่สามารถแสดงแหล่งที่มาของชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสัตว์ได้ จึงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีความเสี่ยงแพร่เชื้อโรคระบาดสัตว์ร้ายแรงเช่น แอฟริกาอหิวาต์ในสุกร และโรคปากและเท้าเปื่อย เป็นต้น
โดย นายสัตวแพทย์ชุติพล มงคลรัตน์ ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายสัตวแพทย์จิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์รายใหญ่ แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตหวั่นแพร่โรคระบาดสัตว์ร้ายแรง
ผลการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าสถานประกอบการดังกล่าว ไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหาร ไม่มีเอกสารใบอนุญาตค้าซากสัตว์(ร.10) ไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายซากสัตว์(ร.3) และไม่มีเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์(รน.) ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 อีกทั้งยังพบการผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค ชิ้นส่วนเครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ประกอบด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์
พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการยึดอายัดของกลางชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสุกรและโคที่อยู่ในสถานประกอบการและในตู้แช่เย็นคอนเทนเนอร์ จำนวนกว่า 25,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ได้ยึดอายัดของกลางสารเคมีและแกนลอนบรรจุสารฟอร์มาลิน ขนาด 25 ลิตร จำนวนกว่า 50 แกนลอน รวมถึงได้ยึดใบเสร็จกว่า 2,300 ใบ ที่มีหลักฐานการขายให้กับลูกค้าร้านหมูกะทะ และร้านอาหารอีสาน จำนวนกว่า 66 ราย
และในส่วนของชิ้นส่วนสไบนาง ที่ผลิตแปรรูปนั้นแช่อยู่ในถังน้ำผสมสารฟอร์มาลิน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้สั่งยึดอายัดไว้ และเก็บตัวอย่างเนื้อและเครื่องในสัตว์ นำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจหาเชื้อโรคปนเปื้อนที่เป็นอันตรายและตรวจหาสารเคมีตกค้าง (ฟอร์มาลิน)
โดยได้ให้เจ้าของกิจการห้ามโยกย้ายถ่ายเทของกลางที่อายัดไว้ และให้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาแสดงภายใน 15 วันหากไม่สามารถนำมาแสดงได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการทำลายด้วยการฝังหรือเผา และดำเนินคดีถึงที่สุด ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ ขยายผลในการตรวจสอบสถานประกอบการในลักษณะเดียวกันนี้ และหากพบการกระทำผิดให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไปด้วย