แรงเสียดทาน“สีจิ้นผิง” ชี้อนาคตเศรษฐกิจจีน
หอการค้าไทยในจีน ชี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำ หลังเข้มมาตรการซี่โร่โควิด ลามสู่การประท้วง ท้าทายอำนาจรัฐบาล”สี จิ้น ผิง” หวัง จีนเลิกคุมโควิด-ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปีหน้า ดันเศรษฐกิจฟื้น ทำไทยรับประโยชน์ทั้งส่งออกและท่องเที่ยว
เสียงต่อต้านมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” สร้างความประหลาดใจให้กับสังคมโลก ถึงแม้จะไม่มีผลต่อรัฐบาลจีนในเป็นช่วงที่ “สี จิ้นผิง” ขึ้นเป็นประธานาธิบดีจีนสมัยที่ 3 แต่ทำให้หลายฝ่ายต้องเหลียวกลับมามองสิ่งที่เกิดขึ้นในจีน รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจจีนหลังจากนี้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคบคุมโควิด-19
ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า รัฐบาลจีนปัจจุบันให้ความสำคัญด้านสุขภาพของประชาชนมากกว่าเศรษฐกิจ เนื่องจากจำนวนประชากรในจีนมาก ซึ่งรัฐบาลจีนมองว่าเป็นความเสี่ยงในช่วงแรกยังใช้มาตรการคุมโควิด-19 ไม่แรง มีการฉีดซีนเชื้อตายมาฉีดให้ประชาชนและใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตร (ซีโร โควิด) นับตั้งแต่เดือน ส.ค.2020 โดยช่วงแรกเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ และภาคการผลิตยังดำเนินต่อไปได้ดี โดยอัตราการการเติบโตทางเศรษฐกิจรวม 2 ปีที่โควิดระบาด เฉลี่ยโต 5% ถือเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ทั้งนี้ ปี 2565 โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง จีนประสบปัญหาหลายเรื่อง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมาก จากปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครน วิกฤติพลังงาน วิกฤตอาหาร ความขัดแย้งทางการเมือง ประกอบการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ ล่าสุดนายสี จิ้น ผิง ก็ได้รับเลือกเป็นผู้นำเป็นสมัยที่ 3 และยังต้องรอนายหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีส่งไม้ต่อให้นายหลี่ เฉียงในเดือน มี.ค.ปีหน้า ดังนั้นมิติทางการเมืองจึงมีความสำคัญจำเป็นต้องควบคุมให้ได้ เพื่อให้การเมืองผ่านไปเรียบร้อย จากนั้นก็จะเริ่มหันมามองเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามในช่วง 2 เดือนหลังปีนี้ จีนเจอการระบาดของโควิดรอบใหม่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แม้จีนจะใช้การตรวจแบบ RT-PCR แต่พบว่ามีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการมีสัดส่วนสูงมาก
สถิติการติดเชื้อในจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายตัวในหัวเมืองต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ประกอบกับรัฐบาลท้องถิ่นที่รับนโยบายซีโร่โควิดตามนโยบายรัฐบาลกลางที่ช่วงหลังเริ่มผ่อนคลายลง แต่รัฐบาลท้องถิ่นกลับดำเนินการตามนโยบายเข้มงวดเกินขอบเขต เช่น กักตัว ล็อคดาวน์เมือง ซึ่งคนจีนกำลังพูดกันว่าจะยอมอดตายเพราะเศรษฐกิจหรือจะยอมตายเพราะโควิด และช่วงหลังเชื้อโควิดไม่รุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิต หากติดเชื้อก็รักษาตามอาการ
รวมทั้งล่าสุดก็มีการประท้วงของคนจีนจากเหตุการณ์ไฟไหม้รุนแรงในเขต "ซินเจียง" ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ประกอบการมีกระแสข่าวการแทรกแซงของต่างชาติ เพราะพบว่าคนจีนในฮ่องกงมายุยงปลุกปั่นเพื่อให้สื่อตะวันตกนำไปตีข่าวในต่างประเทศ ซึ่งการประท้วงไปไกลกว่าแต่มาตรการโควิด แต่เรียกร้องให้ “สี จิ้น ผิง” ลาออก ทำให้รัฐบาลจีนไม่สบายใจและคนที่ออกมาประท้วงส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ซึ่งกลัวว่าจะกลายเป็นเทียนอันเหมิน 2
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ออกมาควบคุม ในหลายเมืองการชุมนุมแค่ 1-2 วัน และจากการตรวจสอบล่าสุดการชุมนุมประท้วงเริ่มน้อยลง”
แต่การประท้วงไปโผล่ในยุโรปและสหรัฐ สะท้อนว่ามีเครือข่ายเพื่อขยายผลการประท้วงในจีนทั้งเรื่องโควิดและเป้าหมายที่รัฐบาลจีน
ทั้งนี้รัฐบาลจีนเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด ไม่ว่าจะเป็นการกักตัวตรวจเชื้อเป็นต้นซึ่งรัฐบาลจีนใช้เงินในเรื่องโควิดมากมายจนเกิดการเปรียบเทียบว่าใช้เหมือนการทำสงครามเช่นเดียวกับรัสเซียและยูเครน
สำหรับเศรษฐกิจของจีน เดิมตั้งเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 5.5 % แต่ผ่านมา 3 ไตรมาสจีดีพีเหลือเพียง 3% และเหลือเพียง 1 เดือน จีดีพีคงไม่เกิน 4% ทำให้คาดว่าปีนี้น่าจะอยู่ที่ 3%
ส่วนปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัวมากกว่า 6% เมื่อรวม 2 ปีเฉลี่ยจะขยายตัวราว 5% ซึ่งเป็นทิศทางตามแผนเศรษฐกิจที่จีนวางอยู่ตามสถานการณ์ในประเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อจีนเปลี่ยนหรือส่งไม้ต่อไปยัง “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” การอัดมาตรการเศรษฐกิจหรือการฟื้นเศรษฐกิจจะออกมา เพราะจีนตั้งใจอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และที่สำคัญในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจีนจะยกเลิกมาตรการซีโร่โควิด หรืออย่างน้อยก็เปิดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ
ขณะที่ภาคการผลิตของจีน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วน iPhone ที่ระงับการผลิตและอาจทำให้การส่งมอบ iPhone ล่าช้า ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการคุมโควิดของจีนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และพื้นที่ที่มีวามเสี่ยงสูง เช่น บางเขตในปักกิ่งก็ให้มีคนงานทำงานเพียง 5% ของทั้งหมดที่เหลือทำงานที่บ้าน
ขณะที่กิจกรรมทางด้านการตลาด เช่น การแสดงสินค้า ขอให้เลื่อนไปก่อนบางแห่งก็ต้องยกเลิก ซึ่งทำให้ภาคการผลิตหยุดชะงัก การบริการขนส่งไม่สะดวก ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยทั้งห้างสรรพสินค้า แหล่งช้อปปิ้งและท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้เกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ อาจกระทบเศรษฐกิจภาพรวมที่อาจมากกว่าการล็อคดาวน์เซี่ยงไฮ้และเมืองข้างเคียงในแถบปากแม่น้ำแยงซีเกียง
รวมทั้งหากมองแง่การลงทุนแล้ว การลงทุนในจีนจะเติบโตอัตราลดลง ซึ่งไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจจีนแต่เป็นเพราะภาคความพร้อมของธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังนั้นการขยายการลงทุนของต่างประเทศในจีนอาจเติบโตในอัตราที่ลดลง
นอกจากนี้ ในจีนจะมีธุรกิจต่างชาติบางส่วนอาจไม่พอใจหรือไม่สบายใจในการดำเนินมาตรการซีโร่โควิด ที่อาจถอนการลงทุนหรือโยกย้ายแผนการลงทุนที่เดิม โดยอาจกระจายไปประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ไทย
“ภายหลังการประชุม 2 สภาในเดือน มี.ค.ปีหน้า ผ่านไปเรียบร้อย จะทำให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือน เม.ย.-พ.ค.ได้จะเป็นอานิสงค์ต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามา"
ส่วนการลงทุนเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้บวกกับการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยที่ประสบความสำเร็จ โดย “สี จิ้นผิง” เดินทางมาร่วมประชุมก็มีส่งผลทางจิตวิทยาหรือส่งสัญญาณให้นักธุรกิจจีนออกมาลงทุนในประเทศพันธมิตรอย่างไทย ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับตลาดจีนมากขึ้น และเชื่อว่าหลังจากโควิดหมดจะทำให้ความต้องการสินค้ามีมากขึ้น การท่องเที่ยวกลับมา และไทยจะได้รับประโยชน์