ถอดบทเรียนขึ้นค่าแรง 300 เพิ่ม ‘ผลิตภาพแรงงาน’ ดีกว่าขึ้น ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’?
เมื่อเข้าใกล้ช่วงเวลาเลือกตั้งนโยบายยอดนิยมที่พรรคการเมืองต่างๆจะใช้ออกมาหาเสียงกันมักจะมีนโยบาย “ประชานิยม” คือนโยบายที่มีผลต่อประชาชนจำนวนมาก โดยคาดหวังคะแนนเสียงเป็นกอบเป็นจากฐานเสียงที่เป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ
หนึ่งในนโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองจะมาใช้หาเสียงกันก็คือเรื่องของนโยบายการยกระดับรายได้แรงงาน
โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งการเลือกตั้งในครั้งหลังๆที่ผ่านมาเริ่มมีการประกาศของพรรคการเมืองว่าจะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานเป็นตัวเลขเท่าไหร่ โดยล่าสุดคือการประกาศของพรรคเพื่อไทยโดยประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย “แพทองธาร ชินวัตร” ประกาศล่าสุดว่าหาก พรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายในปี 2570 จะได้เห็นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะอยู่ที่ 25,000 บาทต่อเดือน
ที่จริงแล้วการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำถือว่าเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งของแรงงาน โดยเฉพาะตลาดแรงงานของไทยที่มีประมาณ 39 ล้านคน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าโครงสร้างของแรงงานของไทยแบ่งเป็นแรงงานในระบบและนอกระบบ โดยแรงงานนอกระบบคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 62 – 63% ขณะที่ประมาณ 37 – 38% จะเป็นแรงงานในระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบเช่น แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย แรงงานภาคเกษตร รวมถึงผู้ที่มีกิจการค้าเล็กๆ ทำโดยลำพังของตนเอง เป็นต้น โดยปัญหาของแรงงานนอกระบบคือความไม่แน่นอนของรายได้ ทำงานหนัก และอื่น ๆ อีก เช่น ต้องทำงานโดยไม่มีวันหยุด ไม่มีสิทธิในการลาพักผ่อน ทำงานในเวลาที่ไม่ปกติ เป็นต้น
ในทางเศรษฐศาสตร์ค่าจ้างแรงงานสามารถเพิ่มได้โดยการเพิ่ม “ผลิตภาพ” คือการทำให้แรงงานมีความสามารถในการทำงานที่สามารถพัฒนาหรือเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้นได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยให้แรงงานทำงานกับเครื่องจักรมากขึ้น การฝึกอบรมแรงงานทั้งก่อนหรือขณะปฏิบัติงานเพื่อให้มีความเข้าใจและมีทักษะที่ถูกต้อง การมีการศึกษาสูงขึ้นการปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากแรงงานมีผลิตภาพสูงจะได้รับค่าจ้างแรงงานที่สูงเพิ่มขึ้น และสูงกว่าระดับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่กำหนดไว้
ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยให้ความเห็นไว้ในบทความที่ชื่อ “สองมุมคิด สะกิดค่าจ้างไทย” เผยแพร่ในเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจากบทเรียนจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ ในอดีตที่มีการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ในช่วงปี 2555-2556
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและกระทรวงแรงงานสะท้อนว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 จาก 176 บาทต่อวันในปี 2554 เป็น 316 บาทต่อวันในปี 2561 ทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างปรับเพิ่มขึ้น 47 จาก 52 บาทต่อชั่วโมงในปี 2554 เป็น 76 บาทต่อชั่วโมงในปี 2561 ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะขยายตัวเร่งขึ้นเท่านั้น ค่าจ้างเฉลี่ยก็ปรับสูงขึ้นมากเช่นกัน เป็นนัยว่าแม้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นค่าจ้างบรรทัดฐานสำหรับผู้มีรายได้น้อย
แต่ผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างจะส่งผลเป็นลูกระนาดไปสู่แรงงานในกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เพราะนายจ้างต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างทั้งกระดานเพื่อรักษาส่วนต่างระหว่างค่าจ้างของลูกจ้างรายได้น้อยและค่าจ้างของลูกจ้างกลุ่มอื่น ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากการไหลออกของแรงงานได้
ในมุมของนายจ้างหรือภาคธุรกิจค่าจ้างแรงงานถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนของการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และอาจทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับลดการจ้างงานลงโดยใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน ลดกำลังการผลิตลง หรือในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจต้องเลิกกิจการ ซึ่งจะส่งผลต่อแรงงาน
ค่าแรงเพิ่ม 17.2% ผลิตภาพแรงงานเพิ่มแค่ 4.3%
“ประเด็นสำคัญคงไม่ได้อยู่แค่ว่าค่าแรงจะขึ้นเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ว่าค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นจะคุ้มค่ากับผลิตภาพแรงงานหรือมูลค่าเพิ่มที่แรงงานแต่ละคนสร้างให้กับสถานประกอบการหรือองค์กรที่ทำงานอยู่หรือไม่ โดยข้อมูล 347 กิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมจากสำมะโนอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555 (ข้อมูลปี 2554) และ พ.ศ. 2560 (ข้อมูลปี 2559) สะท้อนว่าหลังการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศแล้ว ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 4.3% แต่แรงงานได้รับค่าจ้างต่อคนเพิ่มสูงขึ้นถึง 17.2% โดยเฉลี่ย แม้จะมีสถานประกอบการที่มีผลิตภาพแรงงานขยายตัวสูงกว่าค่าจ้างต่อคนก็มักเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานค่อนข้างมากเกินหนึ่งหมื่นคนโดยเฉลี่ย”
ดร.นครินทร์ ระบุด้วยว่า นโยบายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังมีความจำเป็นในฐานะโครงข่ายคุ้มครองทางสังคมเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ แต่สิ่งสำคัญเช่นกันคือจะทำอย่างไรให้สามารถยกระดับความสามารถของแรงงานในการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วย ซึ่งต้องอาศัยการปรับมุมมองของนายจ้างในการเปิดโอกาสทั้งในด้านเงินทุนและเวลาให้แรงงานได้พัฒนาฝีมือ
ขณะที่แรงงานเองก็ต้องเร่งพัฒนาฝีมือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยตระหนักว่าหากผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้แล้วแรงงานจะอยู่ได้อย่างไร ซึ่งในปัจจุบันนี้สถานศึกษาและผู้ประกอบการหลายแห่งมีความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีเพื่อพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด แต่ปัจจัยแห่งความสำเร็จอาจไม่ได้อาศัยแค่กลไกทวิภาคี แต่ต้องอาศัยความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีจากทั้งแรงงาน ผู้ประกอบการ และการสนับสนุนที่ตรงจุดและเพียงพอจากภาครัฐ จึงจะสามารถประสานประโยชน์ในการยกระดับรายได้แรงงานไทยได้อย่างยั่งยืน
..เป็นมุมมองที่ตอกย้ำว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำนั้น เป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่าการหาเสียงด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในทุกๆการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น