ไทยยูเนี่ยน จับตา 12-18 เดือนข้างหน้า ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ พุ่งค่าเงินผันผวน

ไทยยูเนี่ยน  จับตา 12-18 เดือนข้างหน้า ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ พุ่งค่าเงินผันผวน

ไทยยูเนี่ยน เฝ้าระวัง 12 - 18 เดือนข้างหน้า เศรษฐกิจโลก ทำดอกเบี้ย เงินเฟ้อพุ่ง อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน เล็งปรับราคาสินค้ารับสถานการณ์ ตั้งเป้ารายได้ปี 2566 ยังโต 5 % จากปี 2565 คาดโต 12 % นำไอ-เทลเข้าตลาด 9 ธ.ค.นี้ ระดมทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ทำหนี้ ดี/อี ลดเหลือ 0.6 ฐานะการเงินเข้มแข็ง

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู เปิดเผยว่า  ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้  บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ไอ-เทล ซึ่งเป็นบริษัทลูกของทียู ระดมทุน 12,000 ล้านบาท และเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย  ถือเป็นอีกขั้นของความสำเร็จของทียู เนื่องจากการกระจายหุ้นของไอ-เทล จะทำให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ทำให้อัตราส่วนหนี้ต่อทุน (ดี/อี) ของทียูที่ปัจจุบัน 1.13 เท่าลดเหลือ 0.6 เท่า มีผลให้ภาระการจ่ายดอกเบี้ยลดลงในทิศทางเดียวกัน  และทียูจะมีฐานะการเงินที่เข้มแข็งมาก

ไทยยูเนี่ยน  จับตา 12-18 เดือนข้างหน้า ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ พุ่งค่าเงินผันผวน ไทยยูเนี่ยน  จับตา 12-18 เดือนข้างหน้า ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ พุ่งค่าเงินผันผวน

                ทั้งนี้ในปี 2566 ทียูตั้งเป้ารายได้เติบโต 5% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ตลอดทั้งปี 9 เดือนบริษัทมีรายได้เติบโต 13% จากปัจจัยลบที่หลากหลาย แต่บริษัทยังมีรายได้ที่ดีมาก และเป็นปีที่บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเยอะมาก โดยทั้งปี 2565 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 12% จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 8,013 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจทั้ง กลุ่มอาหารกระป๋อง, อาหารแช่แข็งขยายตัวมีรายได้ดี รวมถึงการนำธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของไอ-เทลที่กำลังจะเข้าตลาด

“บริษัทมีแผนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เพื่อพิจารณาเพิ่มอัตราการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นของ TU ในงวดสิ้นปี 2565 ให้มากขึ้น จากเดิมที่จ่ายเฉลี่ยกว่า 50% และเชื่อมีโอกาสจ่ายได้ในระดับ 60% เพราะทิศทางอัตราส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) ปรับตัวลดลงประมาณ 40%”

                 อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2566-2567 หรือ ช่วง 12-18 เดือนจากนี้ไป ต้องจับตาสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เศรษฐกิจผิดปกติ เกิดการชะลอตัว พร้อมๆ กับสถานการณ์เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เกิด Stagflation  คือ สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว  อัตราดอกเบี้ยยังสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างผันผวนมาก  จึงต้องติดตามสถานการณ์การตลาดอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค  และมีผลต่อคำสั่งซื้อของลูกค้า

                ช่วง  3 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2563 - 2565 ทียูมีผลการดำเนินงานที่ดีมาก โดยเฉพาะธุรกิจรับจ้างผลิต ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง อาหารกระป๋อง รวมถึงอาหารสัตว์ แต่ปัญหาจะเป็นส่วนของต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป(อียู)  และสหรัฐอเมริกา ต่างประสบปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อ ดังนั้นประมาณต้นปี 2566 ทียูเตรียมปรับราคาสินค้าของบริษัทที่จำหน่ายในอียู ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และต้นทุนที่เกิดขึ้น

“ผู้บริโภคทั้งยุโรป และอเมริกาต่างรู้สึกเจ็บปวดกับภาระการใช้จ่าย เพราะทั้งเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟที่สูงขึ้น ค่าน้ำมันแพง ดอกเบี้ยสูงขึ้นเงินที่มีจำกัด ทำให้กระทบเรื่องการบริโภคในเรื่องของอาหารและเสื้อผ้า ดังนั้นต้องจับตาพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร อีกสาเหตุสำคัญคือ เรื่องสงครามยูเครน และรัสเซียก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง  จึงต้องบริหารความเสี่ยงแบบจับตาสถานการณ์แบบวันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ และเดือนต่อเดือน”

สำหรับธุรกิจ เรดลอปสเตอร์ ที่มี 750 สาขาทั่วโลก นั้น ยอมรับว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะในสหรัฐ ไม่สามารถทำกำไรได้เลย ส่วนหนึ่งเพราะลอปสเตอร์เป็นอาหารพรีเมียมมีราคาแพงอยู่แล้ว แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง จึงต้องนำสินค้ามาขายในราคาที่ต่ำกว่าเพื่อบริหารสต็อก  ปัจจุบันได้ปรับแผนตั้งทีมบริหารใหม่  ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา  คาดว่าในปี 2566 ธุรกิจลอปสเตอร์ จะลดการขาดทุนได้ 50% หรือประมาณ 500-600 ล้านบาท และทยอยสร้างรายได้กลับมาทำกำไรได้ใน 3 ปี

ทั้งนี้ ธุรกิจเรดลอปสเตอร์ ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิดระบาด มีอัตราเติบโตดีมาตลอด ปีละ 2,000 ล้านบาท และยังเป็นที่เชื่อมั่นของกลุ่มผู้บริโภค  ดังนั้น ทียู จึงมองแนวโน้มธุรกิจนี้ยังจะไปได้ดี โดยปัจจุบันได้ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)  ทำแฟรนไชส์ โดยเปิดสาขาที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ และกำลังจะเปิดสาขาที่ 2 ที่ One Bangkokในปลายปี 2566

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์