เปิดแผน กนอ. ปี 66 ตั้งเป้ายอดขาย-เช่านิคมฯ 2,500 ไร่ รับเทรนด์ลงทุน
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยแผนดำเนินงานปี 2566 เตรียมตั้งนิคมอุตสาหกรรมบีซีจี 2 แห่งใหม่ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและเทรนด์ลงทุนใหม่สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตั้งเป้ายอดขาย/เช่านิคมฯ ปี 66 อยู่ที่ 2,500 ไร่
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายหลังจากเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ รวมทั้งการประกาศโครงการวีซ่าพำนักระยะยาว (LTR Visa) ตั้งแต่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
โดยในปี 2566 กนอ. ตั้งเป้ายอดขาย/เช่านิคมอุตสาหกรรม อยู่ที่ 2,500 ไร่ ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤติโควิด-19 และทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งทำให้มีนักลงทุนให้ความสนใจภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นรวมถึงไทย
ทั้งนี้ สถิติการลงทุน FDI ในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มเติบโต แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนามอาจเสียเปรียบหลายด้าน เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ มาตรการและสิทธิประโยชน์ด้านภาษี จำนวนประชากรวัยแรงงาน
"กนอ.มองว่าตัวเลขการลงทุนที่สูงจะเป็นเพียงช่วงระยะสั้นสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานสูง ซึ่งในระยะยาวอาจไม่ตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ กนอ.มุ่งไปสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมและ BCG ตามนโยบายรัฐ"
ปัจจุบัน มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมฯ ของกนอ. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง อินเดีย กลุ่มยุโรป สหรัฐอเมริกา และซาอุดิอาระเบีย โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์
โดย กนอ. อยู่ระหว่างการศึกษาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบีซีจี ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ ในพื้นที่อีอีซี ที่จังหวัดระยอง 1,482 ไร่ และในพื้นที่จังหวัดลำพูน 653 ไร่ เบื้องต้นแผนดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายใน ม.ค.-ก.พ. 2566
สำหรับการดำเนินงานปี 2565 ที่ผ่านมา กนอ.ได้พัฒนาโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) ล่าสุดความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 30.33% ส่วนช่วงที่ 2 ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว (แปลง A) และคลังสินค้าหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (แปลง C) มีการทำ Market Sounding เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงเอกสารก่อนประกาศเชิญชวน โดยล่าสุดได้มีการประกาศเชิญชวนครั้งที่ 2 ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 พ.ย. และเอกชนจะยื่นข้อเสนอมาในช่วงเดือน มิ.ย. 2566
นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค 1,384 ไร่ ก่อสร้างอยู่ที่ 38.65% คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567
นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ มีผู้ยื่นเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 2 แห่ง โดยแห่งที่ 1 บริษัท ศิวาชัย จำกัด พื้นที่ 4,131 ไร่ ล่าสุดโครงการฯ อยู่ระหว่างการปรับผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแห่งที่ 2 บริษัท กรีน ยูทิลิตี้ โฮลดิ้ง จำกัด ยื่นความประสงค์ขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ