นักวิชาการหนุนค่าแรง 600 บาท ฟังมุมมอง ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์
"ค่าแรงขั้นต่ำ ต้องคำนึงถึงปรัชญาของคำว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งต้องเป็นค่าจ้างที่รองรับการดำเนินชีวิตปกติของลูกจ้างได้ โดยไม่มีการต่อรอง"
ผู้สื่อข่าวฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อกรณี พรรคเพื่อไทยประกาศ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2570 อยู่ที่ 600 บาท/วัน และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เริ่มต้นเงินเดือนที่ 25,000 บาท/เดือน (งานประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565)
อ.แล ให้ความเห็นว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องคำนึงถึงปรัชญาของคำว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งต้องเป็นค่าจ้างที่รองรับการดำเนินชีวิตปกติของลูกจ้างได้ โดยไม่มีการต่อรองซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีการประกาศเป็นนโยบายออกมานั้น ย่อมมาจากการพยากรณ์เศรษฐกิจ และค่าครองชีพ ซึ่งจะเห็นว่า ไม่มีแนวโน้มที่ค่าครองชีพจะลดลง สำคัญยิ่งกว่าได้เท่าไหร่ คือ ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง
ปัจจุบันนี้ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ได้คำนึงตามหลักปรัชญาของค่าแรงขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว แต่มีการคำนึงถึงนายจ้างด้วยว่า จะอยู่ได้หรือไม่ เท่าไหร่ที่นายจ้างจะยอมจ่ายได้ จึงเป็นผลของการใช้อำนาจต่อรอง โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงว่า ลูกจ้างจะอยู่ได้ที่ค่าแรงเท่าไหร่
ซึ่งควรจะคำนึงลูกจ้างก่อน แล้วรัฐบาลจึงเข้าไปช่วยเหลือนายจ้างในกรณีที่มีความจำเป็น โดยเลือกช่วยเหลือเฉพาะกิจการที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ แต่หากเป็นกิจการที่ไม่ตอบสนองกับความต้องการของตลาด ไม่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ ก็ต้องปล่อยให้เจ๊งไป ให้ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเครื่องมือคัดเลือก ว่าธุรกิจไหนควรจะอยู่ ธุรกิจไหนไม่ต้องอยู่
อ.แล กล่าวถึงโครงสร้างการขึ้นค่าแรงว่า ในปัจจุบัน ตัวแทนที่มีการต่อรองนั้น ก็ไม่ใช่ตัวแทนของนายจ้าง ลูกจ้างที่แท้จริง แต่เป็นสมาคมที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ เช่น สภาหอการค้า สมาคมอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคี
ซึ่งรูปแบบไตรภาคีนั้น มีใช้ในประเทศด้อยพัฒนา โดยรัฐบาล เป็นฝ่ายคัดเลือกกลุ่มองค์กร ที่สามารถเจรจากันได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการไตรภาคี
พร้อมยกตัวอย่าง การขึ้นค่าแรงในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยในอดีต จาก 215 บาท เป็น 300 บาท ว่าสามารถทำได้ประสบความสำเร็จ จึงเป็นสิ่งสะท้อนว่า รัฐบาลสามารถสั่งได้ ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีจึงเป็นเพียงเครื่องมือทางเมืองเพื่อรองรับนโยบายทางการเมือง
อ.แล ประเมิณความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาท ของพรรคเพื่อไทยว่า หากเป็นนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง ต้องทำให้ได้ เพราะหากทำไม่ได้ ย่อมเสียเครดิตต่อพรรค ซึ่งหน้าที่ของรัฐบาล และพรรคการเมืองคือ การทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ อยู่ดีกินดี ยกระดับปากท้องของคนข้างมาก และคนส่วนใหญ่ของสังคมคือคนหาเช้ากินค่ำ คือคนที่เป็นแรงงาน ไม่ใช่นายทุน
ซึ่งอุปสรรคของการดำเนินนโยบายคือ การคัดค้านขององค์กรนายจ้าง โดยตามธรรมชาติ ไม่เคยมีองค์กรนายจ้างไหน จะเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลนั้นๆว่า จะเกรงใจกลุ่มนายทุนมากน้อยแค่ไหน มีอิทธิพลกับรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน จะเห็นประโยชน์ของใครเป็นหลัก และจะกล้าลุยไฟในประเด็นที่มีกลุ่มทุนคัดค้านหรือไม่
ส่วนผลกระทบเรื่องการว่างงานเพิ่มขึ้น จากการขึ้นค่าแรงนั้น อ.แล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน ไม่ใช่มีแรงงานล้นเกิน ที่สำคัญคือ หากนายจ้างคิดว่า ค่าจ้างแพง ก็ต้องไปมุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานของตนเองให้มีความสามารถมากกว่าเดิม ถือเป็นเรื่องดี ที่ลูกจ้างสามารถอยู่ได้ และนายจ้างก็มีลูกจ้างที่ฝีมือดีขึ้น และลูกจ้างแรกเข้า ไร้ฝีมือเท่านั้น ที่ได้ค่าแรงในอัตราขั้นต่ำ โดยค่าแรงเป็นต้นทุนการผลิตเพียง 10% กว่าเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถือว่าเป็นสัดส่วนที่เล็กน้อย และจากการปรับค่าแรงเป็น 300 บาทที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามีธุรกิจไหนเจ๊ง จากการปรับขึ้นค่าแรง หากมีก็น้อยมาก ไม่เป็นปรากฏการณ์
กรณีการย้ายฐานการลงทุนไปต่างประเทศของผู้ประกอบการ อ.แล ระบุว่า ไม่ได้เกิดจากการเจ๊งในประเทศ แต่เป็นเพราะการตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ มีค่าแรงถูกกว่า และไม่เสียภาษีส่งออก ต่างกับประเทศไทยที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเวียดนาม เป็นต้น ฉะนั้น การลงทุนในประเทศที่มีกำไรมากกว่า ต้นทุนถูกกว่า จึงเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นการลดค่าแรงไทย เพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านจึงไม่มีความจำเป็นต้องทำ เนื่องจากเราพัฒนามาก่อน