สนพ. ปลื้มมาตรการหนุนอีวีไทย เนื้อหอมสุดในอาเซียน
สนพ. ระบุ การเติบโตอุตสาหกรรมอีวีในไทยโตก้าวกระโดด ย้ำ มาตรการส่งเสริมไทยถือว่าดีที่สุดในอาเซียน เร่งหาวันประชุมบอร์ดอีวีแห่งชาติ เข็นวาระสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ลดต้นทุนเอื้อผู้ประกอบการในประเทศ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ดีที่สุดในอาเซียน ซึ่งสนพ.ได้พยายามผลักดันการใช้งานให้ได้ตามเป้าหมายนโยบาย 30@30 ที่ต้องผลิตรถอีวีให้ได้ระดับ 6-7 แสนคัน แม้ยอดจดทะเบียนขณะนี้อยู่ที่ราว 20,000 คันซึ่งถือว่ายังน้อยแต่หากเทียบอัตราการเติบโตถือว่าโตกว่า 200%
อย่างไรก็ตาม จากการสนับสนุนของรัฐบาลทั้งการสนับสนุนด้านเงินและมาตรการด้านภาษีและผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่กำลังจะนำเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เร็ว ๆ นี้ นั้น ทำให้ผู้ผลิตทั้งไทยและต่างประเทศต่างให้ความสนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีในประเทศไทยจำนวนมาก รวมถึงการเร่งสถานีชาร์จรถอีวีตามเป้าหมายปี 2030 ให้ได้ 1.2 หมื่นหัวชาร์จ ซึ่งขณะนี้มีที่ 2.5 พันหัวชาร์จ เชื่อว่าการทำให้ถึงเป้าหมายไม่น่ายาก
“อีวีจะเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ดี ซึ่งที่ผ่านมา ยอดการจองที่โตก้าวกระโดดและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และเทรนด์พลังงานสะอาดจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งการชาร์จไฟที่บ้านยังไงก็ราคาถูกกว่าน้ำมัน ซึ่งเชื่อว่าหากบอร์ดอีวีอนุมัติมาตรการผู้ผลิตแบตจะช่วยให้จูงใจและเงินลงทุนถูกลงเพราะหัวใจของรถอีวีต้นทุนอยู่ที่แบตกว่า 80%”
นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า เดิมจะมีการประชุมบอร์ดอีวี ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แต่เลื่อนออกไป จึงคาดว่าจะมีการประชุมเร็ว ๆ นี้ ถ้าไม่ทันเดือนธ.ค.ก็ต้องม.ค.ปีหน้า ซึ่งวาระสำคัญคือมาตรการกระตุ้นลงทุนการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวี แนวทางเบื้องต้นรัฐบาลจะมีวงเงินสนับสนุน เพื่อให้เกิดการลงทุนแบตขนาด 8 กิกะวัตต์ ภายในปี 2025 รับการผลิตอีวีจากค่ายรถที่รวมโครงการพอดี
นอกจากนี้ ในส่วนการกำหนดอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Low Priority ได้กำหนดอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Public EV Charger) ที่หน่วยละ 2.9162 บาท ส่วนการจัดทำมาตรฐานชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า ได้จัดทำมาตรฐานแล้วเสร็จ 123 เรื่อง เช่น แบตเตอรี่ เต้าเสียบ-เต้ารับ มอเตอร์ และอินเวอร์เตอร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สนพ. ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลักในการช่วยผลักดันนโยบายตามเป้าหมาย 30@30 ของประเทศ คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 ผลักดันให้ประเทศเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
โดยบอร์ด EV ได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป พร้อมทั้งกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสนับสนุนมาตรการผลิตแบตเตอรี่รถอีวีในประเทศ เป็นต้น
ส่วนเป้าหมายบอร์ดอีวี ได้กำหนดการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานรถ EV อย่างเป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลตั้งเป้าภายใน 5 ปีจากนี้ จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไม่น้อยกว่า 360,000 คัน แบ่งเป็นใช้ในประเทศ 260,000 คัน และส่งออก 100,000 คัน นอกจากนี้ บอร์ด EV ได้ตั้งเป้าให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมกว่า 1.05 ล้านคันภายในปี 2568
ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวี ซึ่งรัฐบาลจะใช้งบประมาณอุดหนุนเงินส่วนลดตั้งแต่ 70,000 - 150,000 บาท กับค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อทำโปรโมชันส่วนลดให้ประชาชน ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต ได้เตรียมงบประมาณในการอุดหนุนไว้แล้ว 3,000 ล้านบาท