เศรษฐกิจโลกเมื่อ "จีน" ผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 | บัณฑิต นิจถาวร
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะขึ้นอยู่กับสามปัจจัย หนึ่ง สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนว่าจะไปต่ออย่างไรเพราะจะมีผลอย่างมากต่อการผลิตและราคาของพลังงาน อาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก
สอง ภาวะเงินเฟ้อ นโยบายการเงินสหรัฐ ที่จะกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลก สาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะโยงอย่างสำคัญกับมาตรการควบคุมโควิดและการเปิดประเทศของจีน
ล่าสุด จีนได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิดเพื่อปูทางไปสู่การเปิดประเทศซึ่งจะดีต่อเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายก็มีความเสี่ยงที่ต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อให้เศรษฐกิจจีนได้ประโยชน์ และทางการสามารถควบคุมการระบาดของโควิดที่อาจปะทุขึ้นได้หลังการผ่อนคลาย เป็นความท้าทายทางนโยบายที่สำคัญ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
วันพุธที่แล้วทางการจีนได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดเป็นครั้งแรกในรอบสามปี
เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางและใช้ชีวิตได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เป็นการผ่อนคลายที่มาเร็วเหนือความคาดหมาย ซึ่งจะทำให้ประชาชนในจีนสามารถเดินทางภายในประเทศได้โดยไม่ต้องแสดงผลตรวจโควิด
สามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้ในกรณีที่ติดเชื้อ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ถ้าไม่อยู่ในพื้นที่ถูกประกาศว่ามีความเสี่ยงสูง
ทั้งหมดเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ เทียบกับมาตรการล็อกดาวน์ที่จีนได้ใช้คุมเข้มการระบาดของโควิดตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมาภายใต้นโยบายโควิดในจีนเป็นศูนย์
เหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้คงมีมาก แต่ที่สำคัญน่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนที่ถูกกระทบมากจากมาตรการล็อกดาวน์
ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัวลดลงจากระดับก่อนโควิดเหลือร้อยละ 3.2 ปีนี้และร้อยละ 4.4 ปีหน้า การส่งออกของจีนล่าสุดหดตัวร้อยละ 8.7 เดือนพฤศจิกายน
ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 10.6 เงินหยวนอ่อนค่ากว่าร้อยละ 10 ปีนี้ และอัตราการว่างงานของประชากรหนุ่มสาวในเมืองอยู่ที่ร้อยละ 18 เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเทียบกับสถานการณ์ก่อนโควิด
ทั้งหมดสะท้อนความอ่อนแอที่เศรษฐกิจจีนมีขณะนี้ ทําให้ทางการจีนได้ประกาศที่จะให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ กระตุ้นการขยายตัวของการใช้จ่ายในประเทศ และเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนการส่งออก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนที่เกิดขึ้น เป็นผลอย่างสำคัญจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของทางการที่กระทบเศรษฐกิจจีนและความเป็นอยู่ของประชาชนจีนมาก จนในที่สุดเราเห็นประชาชนออกมาเรียกร้องเมื่อปลายเดือนที่แล้วให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์
ซึ่งน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เร่งให้ทางการจีนพิจารณาเรื่องนี้ และเลือกที่จะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดเป็นการทั่วไปเพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่ได้ประโยชน์ แทนที่จะเลือกทําเป็นพื้นที่ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างที่จีนชอบทําเพื่อลดความเสี่ยง
และอีกเหตุผลหนึ่งที่น่าจะบทบาทในการตัดสินใจ คือความมั่นใจของทางการจีนในการดูแลให้การระบาดของโควิดหลังการผ่อนคลายมาตรการอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และไม่เป็นความเสี่ยงทางสาธารณสุขต่อประชาชนจีนทั้งประเทศและต่อเศรษฐกิจ
ประเด็นนี้สำคัญและเป็นความห่วงใยของนักลงทุน เพราะความสำเร็จในการคุมเข้มโควิดในจีนที่ผ่านมาทำให้อัตราการติดเชื้อในจีนมีน้อยมาก
คือจํานวนผู้ติดเชื้อล่าสุดมีเพียง 1.85 ล้านคนเทียบกับประชากรจีน 1,442 ล้านคน เทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ 4.71 ล้านคนในประเทศเรา
ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโควิดในจีนมีน้อยตามไปด้วย ซึ่งในทางทฤษฎีจะเอื้อให้การระบาดของโควิดหลังการผ่อนคลายเมื่อเกิดขึ้นจะสามารถเติบโตได้เร็ว
ที่สำคัญแม้เกือบร้อยละ 90 ของประชากรจีนจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อยสองเข็ม แต่อัตราการได้รับวัคซีนครบสามเข็มของประชากรสูงวัยโดยเฉพาะกลุ่มอายุเกิน 80 ปี ซึ่งถือเป็นระดับปลอดภัยมีเพียงร้อยละ 40
ทําให้ประชากรสูงวัยจะเป็นกลุ่มเปราะบางสุดหลังการผ่อนคลาย เป็นจุดอ่อนให้การระบาดสามารถแพร่ได้เร็ว และจะเป็นภาระทางสาธารณสุขมากสุด นี่คือความห่วงใย
ผมคิดว่าทางการจีนคงได้พิจารณาประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างดีแล้วในการตัดสินใจ การเลือกที่จะผ่อนคลายมาตรการในช่วงนี้ก็มีเหตุผล เพราะเป็นช่วงขาลงของโควิด โลกเองก็คุ้นเคย มีความพร้อมและความรู้ทางสาธารณสุขที่จะบริหารจัดการโควิดได้ดีกว่าที่ผ่านมามาก
ที่สำคัญจีนเองก็มีความพร้อมด้านทรัพยากร และสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นในการควบคุมการระบาด ทั้งหมดนี้น่าจะลดความเสี่ยงของการระบาดใหญ่ที่อาจปะทุขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการได้
และถ้าจีนทําได้ดี สามารถขยับไปสู่นโยบายเปิดประเทศได้ในปีหน้า เศรษฐกิจโลกก็จะได้ประโยชน์มาก เพราะจีนเป็นเศรษฐกิจอันดับสองของโลก ประเทศเราเองก็ได้ประโยชน์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจากจีน.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล