ธปท.หวั่นสินเชื่อ ‘ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง’ ดันหนี้พุ่ง
ปัจจุบันการให้บริการสินเชื่อในรูปแบบ Buy Now Pay Later หรือ BNPL หรือ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” เริ่มมีความแพร่หลายมากขึ้น
หลังผู้ให้บริการทางการเงินจำนวนมาก ทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ นอนแบงก์ ออกมาแข่งกันทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการลดภาระการใช้จ่าย แทนการจ่ายเงินก้อนเดียว ให้มีทางเลือกในการผ่อนชำระมากขึ้น
ผู้อำนวยการ ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.
สุคนธ์พัฒน์ จันทพันธ์ ระบุ กรณีที่มีแบงก์ นอนแบงก์ หันมาทำแคมเปญ BNPL หรือ สินเชื่อใช้ก่อนผ่อนทีหลังมากขึ้น ในด้านความเสี่ยงด้านหนี้ภาคครัวเรือน มองว่า ปัจจุบันความเสี่ยงของ BNPL ต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทยในภาพรวมยังค่อนข้างจำกัด เพราะถ้าดูขนาดของธุรกรรมเปรียบเทียบกับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับต่ำ โดยขนาดของธุรกรรมปี 2565 อ้างอิงจาก Thailand BNPL Market Report 2022 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 55,000 - 65,000 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม
ขณะที่ รูปแบบการให้สินเชื่อบางส่วนเป็น Digital P-loan ซึ่งเข้าข่ายสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. โดยคิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินเพดานที่ 25% ต่อปี และมีการกำหนดวงเงินต่อรายต้องไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งเป็นการจำกัดการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือนได้บางส่วน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจ BNPL มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และอาจนำไปสู่พฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวของครัวเรือนได้ เนื่องจากธุรกิจ BNPL มีลักษณะเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว เพราะเป็นธุรกรรมการซื้อขายที่ผูกกับ online purchase ผ่าน e-commerce platform
นอกจากนี้ ยัง มีลักษณะที่ช่วยเพิ่ม consumer experience โดยทำให้การทำธุรกรรมซื้อขาย online มีความต่อเนื่อง และคล่องตัวมากขึ้น (seamless consumer journey)
ทั้งนี้ ผู้บริโภคอาจ lose track ในการติดตามจ่ายหนี้ ประกอบกับยอดชำระหนี้ต่อการซื้อในแต่ละครั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่มักพบในต่างประเทศ และท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การใช้สินเชื่ออื่น เช่น O/D และ P-loan เพื่อนำมาชำระหนี้
ดังนั้น ธปท. จึงติดตามพัฒนาการของตลาด BNPL อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์จากการซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระกับธุรกิจ BNPL ขณะที่ความเสี่ยงของธุรกรรมดังกล่าวได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
หาก ธปท. เห็นว่าธุรกรรม BNPL อยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติม หรือ การให้บริการที่ไม่เป็นธรรมในวงกว้าง ธปท. จะพิจารณาประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสมร่วมกันต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์