สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จี้รัฐชะลอขึ้นค่าไฟงวดใหม่
“สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจี้รัฐหาทางออกต้นทุนพลังงานสูง วอนชะลอการปรับค่าไฟงวดใหม่ออกไปก่อน ห่วงเพิ่มภาระค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และลดขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ”
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ ส.อ.ท.ขอให้ภาครัฐพิจารณาข้อเสนอเพื่อหาทางออกต้นทุนพลังงานสูงโดยขอให้ชะลอการขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ออกไปก่อน โดยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแบกรับภาระที่เกิดขึ้น และปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ
ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ซึ่งถูกปรับขึ้นถึง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 17% เป็น 4.72 บาท/หน่วย ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากอยู่แล้ว หากปรับขึ้นอีกในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จะเป็นการปรับค่าไฟฟ้าขึ้นที่รุนแรงมากถึงสองงวดติดต่อกัน และจะส่งผลกระทบรุนแรงมากยากต่อการปรับตัวของทุกภาคส่วน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยเกินคาด
รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ เนื่องจากภาคการผลิตและภาคบริการเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวเพิ่มเล็กน้อยจากระดับ 93.1 ในเดือนตุลาคม โดยมีปัจจัยจากคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ ปัจจัยสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ การขยายตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะปกติ ส่งผลดีต่อการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ ขณะเดียวกันภาคการก่อสร้างมีทิศทางที่ดีขึ้นภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ส่งผลให้ความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัญหาขาดแคลนชิปมีทิศทางดีขึ้น ส่งผลดีต่อการผลิตสินค้ายานยนต์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ อัตราค่าระวางเรือที่ปรับลดลงส่งผลดีต่อผู้ส่งออก
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงจากอุปสงค์จากต่างประเทศลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งจีนยังคงมาตรการ Zero-COVID อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกลดลง