ค้าน ‘ประชานิยม’ ขึ้นค่าแรง – พักหนี้ ‘สภาพัฒน์’ แนะดูผลกระทบศก.รอบด้าน
สศช.ค้านประชานิยมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเกินทักษะแรงงาน ห่วงค่าจ้างพุ่งทั้งระบบ เอกชนอาจลดคนใช้หุ่นยนต์ ส่วนเงินเดือนปริญญาตรี หากปรับฐานเร็วเกินไปจะกระทบทั้งต้นทุนเอกชน และภาระงบประมาณจากเงินเดือนราชการที่เพิ่ม ส่วนการพักหนี้หวั่นสร้าง Moral Hazard เบี้ยวหนี้เพิ่ม
วันนี้ (14 ธ.ค.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2565
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงนโยบายของพรรคการเมืองที่มีการเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานว่าในเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ถือว่าเป็นผลตอบแทนของแรงงานไร้ทักษะที่จะได้ค่าแรงตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่ปัจจุบันสิ่งที่รัฐทำมาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือการอัพสกิล-รีสกิลแรงงานเพื่อเพิ่มทักษะ และทำให้แรงงานให้มีรายได้ตรงกับทักษะที่เขามี หากมีทักษะมากก็ควรได้ค่าจ้างแรงงานมาก
หากมีการขยับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำค่าจ้างแรงงานก็จะปรับเพิ่มขึ้นไปด้วยทั้งระบบทั้งแรงงานที่มีทักษะและไม่มีทักษะ ดังนั้นภาระก็จะตกอยู่กับผู้ประกอบการ หากมีการปรับขึ้นค่าแรงภาคอุตสาหกรรมก็ต้องปรับไปใช้หุ่นยนต์แทนซึ่งก็จะตามมาด้วยการปลดคนงานต่อ ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือการเพิ่มทักษะแรงงานให้สูงขึ้น และเพิ่มค่าใช้จ่ายตรงนั้นมั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมยอมรับได้
ขณะเดียวกันการปรับเพิ่มเงินเดือนเด็กจบใหม่(ป.ตรี) ซึ่งมีข้อเสนอจากบางพรรคให้เพิ่มเงินเดือนเริ่มต้นเป็น 25,000 บาท คาดจะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ อย่างที่ผ่านมาที่มีการปรับเพิ่มขึ้นเงินเดือนเด็กจบใหม่ 15,000 บาท ภาครัฐก็ต้องมีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการเช่นกัน เพื่อให้เกิดกรอบที่ชัดเจนระหว่างเด็กจบใหม่และคนที่ทำงานมาก่อนแล้ว เช่น ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ ซึ่งต้องปรับฐานขึ้นมาส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณ
“ที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ซึ่งแน่นอนว่ายังมีข้อจำกัดของฐานะการเงินการคลัง และต้องดูวินัยการเงินการคลังในระยะถัดไปด้วย สิ่งที่น่าจะทำคือการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพและปรับเงินเดือนตามฝีมือแรงงานดีกว่า” นายดนุชา กล่าว
สำหรับเรื่องการพักชำระหนี้เช่นกัน หรือล้างหนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะสนับสนุนให้คนที่ชำระหนี้ดีอยู่แล้วมีแรงจูงใจที่จะไม่จ่ายหนี้ (Moral Hazard) และการพักหนี้นั้น หนี้ที่มีก็ไม่ได้หายไปสุดท้ายก็ต้องมาใช้หนี้อยู่ดี
"การพักหนี้ พักดอกเบี้ยไปจะส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบไปด้วย สิ่งที่ควรทำคือปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายบุคคลมากกว่า ไม่ใช่การพักหนี้ทั้งระบบ" นายดนุชา กล่าว