‘สภาพัฒน์’ แนะ 8 ประเด็น บริหารปี 66 รับมือ ‘เศรษฐกิจถดถอย’
สศช.มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าสดใสได้หลายปัจจัยหนุนคาดจีดีพีโต 3-4% กำหนดประเด็นบริหารความเสี่ยงปีนี้ และปีหน้า 8 ประเด็นบริหารเศรษฐกิจลดความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจไทย เข้าสู่โหมดฟื้นตัวจากโควิด-19 ในไตรมาสที่ 3ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 4.5% เป็นไตรมาสที่ 4 ที่เศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.2% ส่วนในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3 – 4% (ค่ากลาง 3.5%)
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. หรือ "สภาพัฒน์" กล่าวว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องจากปี 2565 โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 3% การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.5% เทียบกับ 2.6% ในปี 2565 โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.6% และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 2.4% สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่มีวงเงินลงทุน 695,077 ล้านบาท เพิ่มขี้น 13.5% จากวงเงิน 612,566 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 รวมถึงแรงสนับสนุนจากความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจ
ขณะที่การส่งออก (ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยรวมในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1% โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 1% ชะลอลงจาก 3.2% ในปี 2565 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ตามจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในกรณีฐานคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 จะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้าน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 8.5% หนุนให้ดุลการค้าเกินดุล 1.77 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะเกินดุล 5.6 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.1%
ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 จะอยู่ในช่วง 2.5 - 3.5% ลดลงจาก 6.3% ในปี 2565 สอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง
นายดนุชา กล่าวด้วยว่าแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับแต่ก็ยังมีความเสี่ยง และประเด็นที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 8 ประเด็น ได้แก่
1.การแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้สินในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้ตรงจุดและเหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย โดยให้ความสำคัญต่อการแก้ไขภาระหนี้เดิมและการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่ไปกับการจัดการหนี้นอกระบบ เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้ไม่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของอุปสงค์ภายในปประเทศในระยะยาว
2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 2566/2567 ที่มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูง
3. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า ให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ควบคู่ไปกับการรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิต โดยให้ความสำคัญกับ การส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมี แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์
การติดตามสถานการณ์การค้าโลกท่ามกลางแนวโน้มการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจที่นำไปสู่การยกระดับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อศึกษาวิเคราะห์โอกาสและผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการพิจารณา การตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน
4.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่องโดยให้ความสำคัญกับ การแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมสำหรับ ปัจจัยสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านการท่องเที่ยวให้เหมาะสมและเพียงพอเพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น การพิจารณาความเพียงพอของเที่ยวบิน การเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน รวมทั้งการพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ
เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะผู้ปูระกอบการรายย่อย ให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง และยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก การบริหารจัดการพื้นฐาน ทั้งการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว
รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเนื่อง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศัยภาพและมีกำลังซื้สูง โดยเฉพาะกลุ่มพำนักระยะยาว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น
5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับ การดูแลด้านสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพื่อให้กิจการที่มีศักยภาพสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกษัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563 - 2565 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ เป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ควบคู่ไปกับการดื่งดูดนักลงทุนจากกลุ่มประเทศใหม่ที่มีศักยภาพ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละภูมิภาค การขับเคลื่อนการลทุนพัฒนาพื้นที่เศษฐกิจและโคงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญๆ การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่ม อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่
6.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบด้วย การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ให้ได้ 93% ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ของงบประมาณทั้งหมด การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามแผนงาน โดยเฉพาะการเร่งรัดดำเนินการในโครงการที่สำคัญที่ได้มีการอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว และการเพิ่มศักยภาพ
ทางการคลังโดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการจัดลำดับความสำคัญด้านการใช้จ่าย เพื่อให้ฐานะการคลังอยู่ในระดับที่เพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้ความไม่แน่นอนของปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศในระยะต่อไป
7.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและอาจจะสร้างแรงกดดันและส่งผลูกระทบช้ำเติมต่อเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งติดตาม และฝ้าระวังปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง
8.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด19 และโรคติดเชื้ออื่นๆเพื่อเตรียมการป้องกันได้อย่างทันท่วงที