ความท้าทายของการบริหารเศรษฐกิจปีนี้ | บัณฑิต นิจถาวร

ความท้าทายของการบริหารเศรษฐกิจปีนี้ | บัณฑิต นิจถาวร

อาทิตย์ที่แล้ว ผมให้สัมภาษณ์รายการ Money Chat เรื่องเศรษฐกิจ มีคำถามน่าสนใจว่าการบริหารเศรษฐกิจปีนี้เทียบกับสองปีที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร อันไหนท้าทายกว่า

คำถามดังกล่าวดีมากแต่เสียดายไม่มีเวลาลงรายละเอียด วันนี้จึงขอเขียนเรื่องนี้เพื่อแชร์ความเห็นผมให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ
    ผมว่าการบริหารเศรษฐกิจปีนี้ท้าทายกว่าสองปีที่ผ่านมา เพราะปัญหาและสิ่งที่นโยบายต้องให้ความสำคัญปีนี้มีมากและมีในหลายมิติ เทียบกับสองปีก่อนที่การบริหารเศรษฐกิจโฟกัสอยู่ที่การหยุดการระบาดและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นหลัก 

ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาปีนี้จะมี Tradeoff สูง คือการแก้ปัญหาหนึ่งอาจทำให้อีกปัญหาหนึ่งแก้ไขยากขึ้น ทำให้ผู้ทำนโยบายต้องมองกว้าง ตัดสินใจอย่างมีหลักการ และให้น้ำหนักอย่างถูกต้องในการทำนโยบาย

ปี 2020 เป็นปีแรกของการระบาดที่ยังไม่มีวัคซีน ทำให้มีความไม่แน่นอนมากว่าการระบาดของ Covid19 จะแก้ไขอย่างไรและจบอย่างไร และจากอัตราการเสียชีวิตที่สูง

โดยเฉพาะในยุโรปทำให้การแก้ไขจึงมุ่งไปที่การลดการเสียชีวิตด้วยมาตรการปิดเมืองและล็อกดาวน์เพื่อลดการระบาดขณะที่ภาครัฐใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยทำได้ดีในแง่ควบคุมการระบาด แต่ก็มีต้นทุนสูงต่อเศรษฐกิจที่การขยายตัวติดลบร้อยละ 6.1

 ปี 2021 เป็นปีสองของการระบาดและมีวัคซีน โจทย์บริหารเศรษฐกิจจึงเป็นการป้องกันการระบาดโดยเร่งฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงเพื่อลดการระบาด ลดการเสียชีวิต และปูทางไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

ขณะที่ภาครัฐใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบและเลือกจังหวะที่จะหยุดล็อกดาวน์เปิดประเทศเพื่อฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งปีทีแล้วประเทศเราทำได้ไม่ค่อยดี การระบาดมีต่อเนื่องเกือบทั้งปี เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและอาจขยายตัวเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ 

ชี้ว่าเศรษฐกิจยังอ่อนแอ เพราะการฟื้นตัวกระจุกอยู่ในสาขาเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์จากการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่คนจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัว ต้องพึ่งเงินช่วยเหลือจากภาครัฐและการว่างงานมีมาก

ปีนี้การระบาดยังมีต่อเนื่องแม้ความรุนแรงดูจะผ่อนเบาลงและประชาชนพร้อมปรับตัวที่จะอยู่กับสถานการณ์ระบาดเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเดินต่อได้ ทำให้นโยบายต้องมุ่งไปที่การฟื้นเศรษฐกิจ 

ความท้าทายของการบริหารเศรษฐกิจปีนี้ | บัณฑิต นิจถาวร

อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจโลกปีนี้มีความไม่แน่นอนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ยังมีอยู่ จากปัญหาเงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

 ด้วยเหตุนี้ การบริหารเศรษฐกิจปีนี้จึงไม่ง่ายและท้าทาย เพราะมีทั้งมิติการควบคุมการระบาด การประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่องและกระจายผลอย่างทั่วถึงเพื่อให้การฟื้นตัวเข้มแข็ง การดูแลปัญหาเงินเฟ้อและผลที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ 

นี่คือประเด็นที่การบริหารเศรษฐกิจปีนี้ต้องให้ความสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจอยู่ได้กับความเสี่ยงของโควิด-19 และฟื้นตัวได้ต่อเนื่องทั่วถึงและมีเสถียรภาพ โดยเรื่องที่ควรพิจารณามีดังนี้

1. ลดความเสี่ยงที่การระบาดจะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมากสุดเท่าที่จะทำได้ และเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขที่จะดูแลผู้เจ็บป่วยได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งให้ประชาชนรับทราบแนวทางที่จะดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยเพื่อลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุข


2. สนับสนุนภาคธุรกิจที่กำลังขยายตัวให้ลงทุนเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจและการจ้างงานเพื่อให้การฟื้นตัวที่กำลังเกิดขึ้นสามารถไปได้ต่อเนื่อง รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจปรับตัวในแง่ดิจิทัลเทคโนโลยีและลดการใช้คาร์บอน

3. ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกระจายผลอย่างทั่วถึงโดยมาตรการที่เน้นการสร้างงาน ปรับทักษะแรงงานให้คนที่ว่างงานมีงานใหม่ทำ ปรับวิธีการเยียวยาจากการให้เปล่าเพื่อบริโภคไปสู่การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และลดกลุ่มเป้าหมายในการเยียวยาให้เหลือเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่ให้เป็นการทั่วไป

4. ดูแลเงินเฟ้อและค่าครองชีพซึ่งสำคัญมากต่อความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ โดยเน้นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเพื่อให้อุปสงค์และอุปทานสินค้ามีความสมดุล ไม่ใช่ควบคุมหรือตรึงราคาสินค้าเพราะจะมีผลเพียงระยะสั้น การแก้ไขต้องทำจริงจังต่อเนื่องเพื่อให้เงินเฟ้อสามารถควบคุมได้แม้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

5. ลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจที่จะมาจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกที่จะปรับสูงขึ้น และผลที่จะมีต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงผลที่จะมีต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์คือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

6. เตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมกับโลกหลังโควิดที่ประเทศเราจะต้องเพิ่มผลิตภาพการผลิตเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ ด้วยการปฏิรูประบบสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ตลาดแรงงาน ระบบราชการและระบบการศึกษา

นี่คือความท้าทายของการบริหารเศรษฐกิจปีนี้ เป็นปีที่ประชาชนต้องปรับตัวมาก ในความเห็นของผม จากข้อจำกัดที่ภาครัฐมีในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานและฐานะการคลัง รัฐต้องนึกถึงแนวทางใหม่ในการบริหารเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศสามารถก้าวข้ามหกเรื่องที่สำคัญนี้ไปได้ 

โดยแนวทางใหม่ที่ควรพิจารณาคือให้ภาคเอกชนและกลไกตลาดมีบทบาทนำในการฟื้นเศรษฐกิจ รัฐลดบทบาทลงในการแทรกแซงเศรษฐกิจ และจำกัดบทบาทไว้เฉพาะการตัดสินใจที่สำคัญที่ต้องทำให้ถูก

อย่าลืมว่ารัฐบาลที่ทำหน้าที่ดีสุด จะไม่ใช่รัฐบาลที่แทรกแซงมากสุด แต่เป็นรัฐบาลที่ตัดสินใจได้ดีสุด.

ความท้าทายของการบริหารเศรษฐกิจปีนี้ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]