คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ

ฟาน อัครินทร์ ศิวพรพิทักษ์ อดีตนักแสดงวัยรุ่นกลุ่มหินกลิ้ง จากละคร ‘กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้’ เผยเส้นทาง 10 ปี กว่าจะเปิด BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟที่ขอเติบโตพร้อมความยั่งยืนของคนปลูกกาแฟบนดอยสูง

กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ เป็นหนึ่งในละครโทรทัศน์ขวัญใจวัยรุ่นในปีพ.ศ.2543 รีเมคจากภาพยนตร์ต้นฉบับชื่อเดียวกันที่ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2534 สร้างปรากฏการณ์ให้กลุ่มนักแสดงวัยรุ่นชายในเรื่องโด่งดังในนาม ‘กลุ่มหินกลิ้ง’ นักแสดงหลายคนในเวอร์ชั่นละครยังคงเดินในเส้นทางบันเทิง ขณะที่ ฟาน อัครินทร์ ศิวพรพิทักษ์ ซึ่งรับบทเป็น ‘กร๋อย’ เลือกเติบโตในเส้นทางสายกาแฟ

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 'ฟาน อัครินทร์ ศิวพรพิทักษ์' ผู้ร่วมก่อตั้งและเจ้าของร้านกาแฟ BEANS Coffee Roaster (บีนส์ คอฟฟี่ โรสเตอร์) เดินทางไปเปิดร้านกาแฟบีนส์ที่จังหวัด ภูเก็ต นับเป็นสาขาแรกของบีนส์ที่ตั้งอยู่นอกกรุงเทพฯ

สองปีก่อน ฟานให้กำเนิดร้านกาแฟบีนส์สาขาแรกที่ซอยทองหล่อ กรุงเทพฯ ปัจจุบันเขาสามารถขยายเป็น 7 สาขาในกรุงเทพฯ และ 1 สาขาที่ภูเก็ต

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ BEANS Coffee Roaster สาขาภูเก็ต

คนอื่นอาจเริ่มต้นธุรกิจจากการเปิดหน้าร้านกาแฟ แต่ฟานเริ่มจากรากของกาแฟ ทำจากหลังบ้านกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมานานนับ 10 ปี ด้วยวิธีขึ้นไปแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนาเมล็ดกาแฟร่วมกับชาวบ้านผู้ปลูกกาแฟบนดอยสูงของจังหวัด น่าน และจังหวัด เชียงใหม่ แล้วนำมาใช้เสิร์ฟในร้านบีนส์

นี่คือคำตอบที่ทำให้ BEANS มัดใจคอกาแฟและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

 

บนดอยสูงของจังหวัดน่านและเชียงใหม่ 

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ เครื่องคั่วเมล็ดกาแฟ ควบคุมควันและกลิ่น

“ที่น่าน เราทำงานร่วมกับชุมชนบนดอยสวนยาหลวง ที่เชียงดาว(อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่)เราทำที่หมู่บ้านปางมะโอ ข้างๆ กันก็มีอีกหลายหมู่บ้าน เช่น ปางห้วยตาด ปางกืด” ฟานกล่าวถึงพื้นที่การปลูกกาแฟที่เขาลงไปทำงานเบื้องหลัง และเล่าถึงวิธีการทำงานกับชาวบ้านว่า

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ ฟาน อัครินทร์ ศิวพรพิทักษ์

“เราไปทำงานตั้งแต่ตรวจค่าดิน ดูเรื่องสายพันธุ์กาแฟ สปีชีส์ที่ต่างกันให้รสชาติไม่เหมือนกัน พื้นที่คุณเป็นแบบนี้ น่าจะปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้ ตอนนี้ตลาดโลกต้องการสายพันธุ์นี้อยู่นะ คุณลองปลูกมั้ย ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งหมดก็ได้ ค่อยๆ เปลี่ยน”

นอกจากนี้ฟานยังพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องการตัดแต่งต้นกาแฟเพื่อให้ผลผลิตเยอะขึ้น การเก็บเกี่ยวผลผลิต ขั้นตอนการหมักเมล็ดกาแฟ (fermentation) การล้างเมือก การตากเมล็ดกาแฟ ฯลฯ

“เรื่องการหมัก ต้องทดลองกัน ลองหมักสองวันแล้วชิมดู ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์กาแฟ ความร้อน-เย็นของอากาศ เราไม่ได้ทำงานกันปีเดียว เราทำงานกันมากถึงสิบปีเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์กันไปเรื่อยๆ”

เช่นเดียวกับการตากเมล็ดกาแฟ ใช้ระยะเวลาการตากนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม พื้นที่มีความชื้นมากน้อยอย่างไร

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ

“สมัยก่อนตอนที่ผมทำงานแรกๆ ทำยังไงรู้ว่าแห้ง ชาวบ้านใช้ฟันกัด ถ้ากัดเข้าแปลว่ายังไม่แห้ง ถ้ากัดไม่เข้าคือแข็งแล้ว แปลว่าเมล็ดกาแฟแห้งแล้ว นี่คือ know-how(ความรู้เชิงขั้นตอน)ของชาวบ้าน

แต่สิ่งที่เรานำขึ้นไปคือ เครื่องวัดความชื้น คุณก็วัดสิ ผมต้องการความชื้นไม่เกินเก้า สิ่งที่เขาได้คือความเสถียรของโปรดักต์ คุณจะขายของ คุณต้องมีมาตรฐาน เรานำมาตรฐานที่เก็บเกี่ยวจากข้างนอกไปใส่ให้เขา ถ้าเขาผลิตตามที่เราบอก มันก็เป็นมาตรฐานของเขา นี่คือสิ่งที่เราต้องการ และสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ”

สร้างโปรดิวเซอร์กาแฟในชุมชน 

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ

การเพิ่มเติม know-how ให้กับชาวบ้านผู้ปลูกกาแฟ เปรียบเสมือนการสร้าง โปรดิวเซอร์กาแฟชุมชน ซึ่งจะช่วยกระจายการพัฒนาการปลูกกาแฟภายในหมู่บ้านและกระจายไปยังหมู่บ้านข้างเคียง

“ในหนึ่งหมู่บ้าน แต่ละบ้านปลูกกาแฟพื้นที่ไม่เยอะครับ บางบ้านมีสองไร่ สามไร่ สี่ไร่ สร้างผลผลิตต่อไร่ได้ 200-500 กิโลกรัม เวลาโรงคั่วซื้อ เราซื้อเป็นหลักตัน

คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นโปรดิวเซอร์ เขาจะเริ่มรวบรวม ไปคุยกับคนในหมู่บ้าน คุณมีผลผลิต 200 กิโลกรัมใช่ไหม คุณแปรรูปแบบนี้สิ เอาความรู้ไปให้เพื่อนบ้านอีกขั้นตอนหนึ่ง ถ้าแปรรูปได้ เดี๋ยวโรงคั่วซื้อในราคานี้ ทำให้โนว์ฮาวเรื่องกาแฟกระจายไปยังคนปลูกกาแฟคนอื่นๆ ในหมู่บ้านมากขึ้น หรือกระจายไปยังหมู่บ้านข้างเคียง”

การเผยแพร่และการที่เพื่อนบ้านเปิดใจรับ know-how การปลูกกาแฟ เท่ากับเพิ่มพื้นที่การปลูกกาแฟคุณภาพ ขณะเดียวกันคนปลูกกาแฟก็มีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่ในพื้นที่เท่าเดิมที่มี

 

ลูกหลานพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย กลับสู่ชุมชน 

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ

หนึ่งในปัญหาเกษตรกรไทยคือ เด็กรุ่นใหม่ เข้าเมืองใหญ่ไปเรียนหนังสือแล้วทำงานที่นั่น เนื่องจากไม่สามารถกลับมาหางานทำได้ที่บ้านเกิดซึ่งช่องทางมีไม่มากเท่าเมืองใหญ่ คนทำกาแฟจึงมักเป็น ‘พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย’ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มีอายุ

การปลูกกาแฟเป็นงานหนัก เก็บเกี่ยวปีละครั้ง แต่ต้องเดินขึ้นเขาลงเขา ใช้มืออย่างเดียว เด็กรุ่นใหม่อาจไม่อยากเข้าไร่เพราะงานเหนื่อย ทำงานออฟฟิศสบายกว่า

แต่ฟานเห็นว่าการปลูกกาแฟแบบมี know-how สามารถเพิ่มรายได้ต่อไร่มากขึ้นกว่าเดิม เป็นแรงจูงใจให้เด็กรุ่นใหม่กลับบ้านหรือกลับดอย

“สมมุติรับซื้อกาแฟกิโลกรัมละ 100 บาท เขาทำได้ 1 ตัน เขาขายได้หนึ่งแสนบาท หารต่อเดือนเยอะกว่าเงินเดือนเดือนละหมื่นกว่าบาทในออฟฟิศ ยิ่งถ้าเขาทำกาแฟได้มาตรฐานมากขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้น เขาก็ค่อยๆ กลับมาพัฒนาสวนกาแฟของพ่อแม่ให้ดีขึ้น ช่วยพ่อแม่ดูแลสวน เป็นการทำอะไรที่ยั่งยืนกว่าในมุมของผม”

ฟานกล่าวด้วยว่า “การที่เราสนับสนุนให้ชาวสวนกาแฟแข็งแรง เป็นการที่เราดึงเด็กๆ ที่ต้องการเจริญเติบโตกลับไปที่รากหง้าของเขา ทำสวนของพ่อแม่ให้ดีขึ้น ถ้าเขาทำดี เรารับซื้อในราคาถูกต้อง เขาก็เติบโตต่อไปได้

ต่อไปเขาจะส่งต่อให้รุ่นใหม่ๆ ก็สามารถส่งต่อให้เจนเนอเรชั่นต่อไปได้ เขาไม่จำเป็นต้องอยู่กับเราเสมอไป เราแค่คิดว่าทำยังไงให้วงการกาแฟไทย ตลาดกาแฟไทย หรือชาวไร่ชาวสวนของเราสามารถเติบโตได้ในสายงาน และพัฒนาชุมชนของเขาแข็งแรงขึ้น เป็นการกระจายความรู้ ความเจริญ ไปในแต่ละพื้นที่ของเรามากกว่า”

 

การทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีคนแพ้-คนชนะ 

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ

ฟานกล่าวว่า การไปลงแรงกับชาวบ้านผู้ปลูกกาแฟด้วยใจด้วยความซื่อสัตย์ เป็นการ ‘ได้ประโยชน์’ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

“ข้อดีคือถ้าเขาทำกาแฟดี เราก็ได้กาแฟดีมาใช้ เขาอยู่ได้ เราอยู่ได้ เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ ผมคิดว่าการทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีคนแพ้และคนชนะ การทำธุรกิจควรไปด้วยกันได้ เราอาจได้น้อยหน่อย เขาอาจจะได้มากหน่อย แต่ว่าได้ทั้งคู่

เราอาจซื้อเขาแพงหน่อยถ้าเขาทำได้ดี เราจะบอกราคาตลาดอยู่เท่านี้ คุณลองทำแบบผมได้ไหม ผมให้เพิ่มอีกห้าบาท ถ้าต้องการของดีต้องยอมจ่ายแพง ผมก็ยอมจ่าย ถ้าเขาทำให้ผมได้จริงๆ

เรื่องพวกนี้อยู่ที่ความเชื่อใจและโตไปด้วยกัน ที่เชียงดาว ผมไม่มีกระดาษสักแผ่น ไม่มีสัญญา ขึ้นไปด้วยใจ ถ้าเราโชว์อัพว่าเรามาทำสิ่งที่ถูกต้อง เขาจะรู้สึกเองว่าคือสิ่งที่ถูกต้อง

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ

แน่นอนคนเรามีทั้งดีและไม่ดี แต่สุดท้ายแล้วถ้าเราจริงใจกับเขา มันคือแอ็คชั่นเท่ากับรีแอ็คชั่น คุณให้เขาอย่างไร เขาก็ให้คุณกลับมาอย่างนั้น

บีนส์เองไม่ได้กลัวเลยว่าเขาจะไม่ขายกาแฟให้เรา เราเชื่ออยู่แล้ว ถ้าเราทำดีกับเขา ทำให้เขาโตได้ เขาก็ขายให้เราอยู่แล้ว ผมว่ามันเป็นการสนับสนุนชาวบ้านใปในตัว

ผมไม่ต้องการให้เขาขายผมเจ้าเดียว คุณทำดีคุณขายคนอื่นได้ ผมสอนคุณแล้วคุณต้องขายให้ผมเท่านั้น มันผูกขาดเกินไป คุณแบ่งให้ผมเท่านี้ผมก็โอเค

สุดท้ายแล้วคนได้ประโยชน์ก็คือชาวบ้าน คุณทำดีคุณได้ดี ผมได้โปรดักต์ที่ดีมาใช้ แต่สิ่งที่ย้อนกลับไปหาชาวบ้านคือได้ความน่าเชื่อถือมากขึ้น แน่นอนแบรนด์ผมเป็นแบรนด์ที่มีคนรู้จัก คุณสามารถเอาเราไปขายได้ว่าขายกาแฟให้บีนส์ ทุกอย่างช่วยกันได้”

 

เมล็ดกาแฟยอดดอยผสานสับปะรดภูเก็ต 

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ โครงการ The Society

ร้านกาแฟ BEANS Coffee Roaster สาขาภูเก็ตตั้งอยู่ที่โครงการ The Society โซเชียลสเปซแห่งล่าสุดของ ‘แสนสิริ’ ในพื้นที่เชิงทะเล-บางเทา ย่านเศรษฐกิจแห่งใหม่ของภูเก็ต

เมื่อลงไปอยู่ในพื้นภูเก็ต ฟานก็มองหาความเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์กาแฟของเขากับชุมชนเกษตรกรในภูเก็ต

“เรายังไม่ลืมรากเหง้าของบีนส์ดั้งเดิม ในเมื่อเราทำเรื่องกาแฟกับชาวไร่ เราก็ควรทำเรื่องวัตถุดิบกับคนท้องถิ่นภูเก็ตเหมือนกัน

ถ้าพูดถึงภูเก็ต หลายคนนึกถึงสับปะรด สับปะรดภูเก็ต ได้สัญลักษณ์จีไอ (Geographical Indication) เราก็ไปทำงานกับชาวไร่ คุณส่งให้เราได้มั้ย แม้ไม่เยอะมาก แต่ก็เป็นการได้ทำงานกับชาวไร่ กลับมาที่รากของเรา”

คุยกับ ฟาน อัครินทร์ เปิดเส้นทาง BEANS Coffee Roaster ร้านกาแฟขวัญใจคอกาแฟ

องค์ประกอบ Pineapple Splash

เป็นที่มาของ Pineapple Splash ด้วยส่วนผสมระหว่างสับปะรดภูเก็ตคั้นน้ำ ช็อตเอสเพรสโซของบีนส์ ไซรัปมะพร้าวไทย และโซดา เครื่องดื่มกาแฟซิกเนเจอร์ของบีนส์ พิเศษเฉพาะที่ The Society เท่านั้น

เปิดช่องทางให้คอกาแฟจากทั่วโลกรู้จักทั้งกาแฟไทยและสับปะรดภูเก็ต

  • ภาพ : จิราภา ราชาสุธี