Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน

เอ๋ - วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินหญิงผู้เปลี่ยนขยะเป็นงานศิลปะนานกว่า 10 ปี ได้รับเชิญเข้าร่วมงาน SX2024 เผยแรงบันดาลใจจุดเริ่มต้นสร้างงานศิลปะอัพไซเคิล ต่อยอดจดทะเบียน สวส. สนับสนุนสินค้าอัพไซเคิลชุมชน และขยะ 5 ประเภทไหนควรเร่งลดเพื่อ 'ความยั่งยืน'

ความยั่งยืน (Sustainability) ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการถกเถียงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ ‘ศิลปะร่วมสมัย’ ก็ได้เข้าร่วมถกเถียงประเด็นนี้ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ ศิลปะอัพไซเคิล (Upcycled Art)

ในงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ห้า เอ๋ - วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินหญิงรุ่นใหม่เจ้าของผลงาน ศิลปะอัพไซเคิล ผู้เปลี่ยนขยะให้เป็นงานศิลปะที่มีความโดดเด่นของไทย ได้รับเขิญขึ้นเวที Talk Stage ในงานนี้ด้วย เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูล-ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านสื่อศิลปะ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 29 ก.ย.2567 

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน งานศิลปะอัพไซเคิลของวิชชุลดาในงาน Bangkok Design Week 2019

ผลงานศิลปะอัพไซเคิลของวิชชุลดาได้รับเชิญให้จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะใหญ่ระดับประเทศ อาทิ Bangkok Design Week 2019, Mango Art Festival 2021-2022, Bangkok Art Biennale 2024, และสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับไลฟ์สไตล์โกลบอลแบรนด์ บริษัทเอกชนระดับบิ๊กคอร์ป สถานทูต องค์กรการกุศล

วิชชุลดา สำเร็จการศึกษาสาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งใจก้าวเข้าสู่โลกศิลปะอัพไซเคิลตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ผสมผสานกับการเห็นไลฟ์สไตล์ของพ่อและแม่ แต่เส้นทางสู่การเป็นศิลปินอาชีพต้องอาศัยการพิสูจน์อยู่เหมือนกัน

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน  เอ๋ - วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์

“จุดเริ่มต้นคือการเล่นเกม ดูหนังไซไฟ” วิชชุลดา กล่าวและเล่าว่า เธอไม่ได้เห็นแค่นั่นคือพลาสติกและและฝาขวด แต่มองออกว่าเป็นส่วนใดของสัตว์ประหลาดในจินตนาการ หรือจะนำมาสร้างเป็นรูปร่างอะไรได้บ้าง

“งานอดิเรกเหล่านี้ผสมผสานกับคุณพ่อคุณแม่มีการคัดแยกขยะอยู่แล้ว ไม่ได้ประกอบเป็นธุรกิจ แต่เขามองว่าของน่าเสียดายจังเลย ไม่อยากทิ้ง อยากคัดแยกบางส่วนเอามาดีไอวาย (Do It Yourself) ใช้ซ้ำในบ้าน

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน ผลงานศิลปะอัพไซเคิลของวิชชุลดา

คุณพ่อเป็นวิศวกรไฟฟ้าอยู่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เศษไม้จากการซ่อมบ้าน พ่อไม่ทิ้ง เอามาทำเป็นโต๊ะเก้าอี้ คุณแม่เป็นพยาบาลอยู่องค์การโทรศัพท์ฯ ขวดน้ำหวานกินหมดแล้ว ล้างใส่น้ำดื่มในตู้เย็น เสื้อผ้าตัวไหนเก่าขาดแล้ว ไม่ทิ้งไปเลย แต่เก็บไว้ปะชุนใช้งานต่อ เสื้อยืดเก่าแล้วทำเป็นผ้าเช็ดมือ

เริ่มจากอะไรเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ค่ะ ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ของแต่ละอย่างอย่าเพิ่งทิ้งนะ มันมีคุณค่า ใช้ต่อได้

แต่พอเอ๋บอกอยากทำงานศิลปะ ช่วงแรกท่านก็ค้าน อยากให้ทำงานสายวิชาชีพ จริงๆ ท่านก็ชอบงานศิลปะ แต่ด้วยยุคของท่าน มองไม่ออกศิลปินทำงานยังไงให้เลี้ยงชีพได้ ให้เกิดความมั่นคงต่างๆ

แต่บนความค้าน ท่านก็สนับสนุนเอ๋ตั้งแต่มัธยมปลาย รับส่งเวลาเราเรียนพิเศษเกี่ยวกับศิลปะ ยินดีไปดูงานศิลปะกับเราบนความงงๆ ของเขา

แล้วความเป็นอาร์ตก็ค่อยๆ ไขปริศนาของท่าน ศิลปินทำหน้าที่อะไรบ้าง ค่อยๆ เปลี่ยนมายด์เซ็ตและทำให้ที่บ้านเข้าใจศิลปินเป็นอาชีพได้ เลี้ยงชีพได้”

 

ก้าวเข้าสู่โลก Upcycling กับคำถามดราม่าเบาๆ

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน  เอ๋ - วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์

วิชชุลดาเข้าเป็นนิสิตใหม่จุฬาฯ เมื่อพ.ศ.2554 หนึ่งปีหลังจากนั้นก็เริ่มเรียนรู้และสร้างสรรค์ศิลปะแนวอัพไซเคิลจริงจัง ด้วยมีแนวคิดอยากนำวิชาชีพศิลปินมาสร้างการเปลี่ยนแปลง

หลังออกจากรั้วจุฬาฯ เธอตัดสินใจทำงานประจำสักพักเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับการทำงานในระบบและเก็บเงินเพื่อสร้างงานศิลปะ กระทั่ง 7 ปีที่แล้วจึงถอยจากงานประจำมาทำงานเป็นศิลปินเต็มตัว

“งานอัพไซเคิลเป็นงานที่ทำมาตั้งแต่เรียนจุฬาฯ จนถึงปัจจุบัน เพียงแต่ตอนเรียน เอ๋ไม่ได้มองให้ครบกระบวนการ เรามุ่งไปแค่เอาขยะมาทำก็จบแล้ว แต่จริงๆ ต้องดูให้ครบกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เป็นการค่อยๆ พัฒนาของวิชชุลดา”

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน

 เอ๋ - วิชชุลดา สวมใส่งานศิลปะอัพไซเคิลที่ตนเองสร้างสรรค์

ผลงานศิลปะอัพไซเคิลของวิชชุลดามีทั้งความสวยงามและน่าฉงน จึงมักสะกดสายตาผู้ชมให้เข้ามายืนพินิจได้เสมอ นำมาซึ่งการคอลแล็บส์กับแบรนด์สินค้า องค์กรและบริษัทต่างๆ เป็นระยะ เกิดเป็นคำถามดราม่าเบาๆ “เมื่อไหร่วิชชุลดาจะทำงานศิลปะของตัวเอง”

“เอ๋มีแนวคิดทำยังไงบาลานซ์ตัวเองให้ได้ อยู่ให้ได้ สร้างงานได้ โดยไม่ขายวิญญาณ หลายคนอาจบอกวิชชุลดาทำงานศิลปะร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ เยอะมาก เมื่อไหร่ที่วิชชุลดาจะทำงานของตัวเอง ทำงานของตัวเองได้แล้ว

เอ๋อยากจะบอกว่า นี่ก็คือวิชชุลดา เราทำงานร่วมกับคนอื่นหลายคน เพราะภาคเอกชนหรือองค์กรหน่วยงานต่างๆ เข้าใจว่าเราเป็นใคร

เยอะมากที่เอ๋จะโดนคำพูดเหล่านี้ แต่ไม่ได้ไม่ชอบที่พี่หลายๆ ท่านพูดนะคะ แต่เอ๋อยากจะบอกว่านี่ไงคือเราเอง”

 

นอกจากศิลปะอัพไซเคิล วิชชุลดาขยายแนวคิดสร้างงานศิลปะเกี่ยวกับการลดขยะแนวอื่นด้วยหรือไม่

“ไม่มีเลยค่ะ แต่ภายใต้คำว่าอัพไซเคิล เอ๋ค่อยๆ พัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ เริ่มคิดต้องแบ่งปันผู้อื่นให้ได้ เลยเป็นที่มาของการจดทะเบียนบริษัท พอครบ 1 ปีก็ไปจดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ทำอย่างจริงจัง มองในแง่มิติสังคมเข้ามาด้วย

ภายใต้งานศิลปะ 1 ชิ้น เบื้องหลังมีคนทำอีกหลายๆ คน มีการกระจายรายได้ไปให้กับชุมชน สังคม เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ มีการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตปริ้นต์ที่เกิดขึ้นในแต่ละชิ้นงาน มีการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลในงานศิลปะ 1 ชิ้นมีวัสดุอะไรบ้างที่เราใช้ไปกี่กิโลกรัม ค้นหามาจากที่ไหน

 

ผลงานศิลปะอัพไซเคิลของวิชชุลดาต้องการสื่อสารประเด็นไหนบ้าง

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน

เอ๋ วิชชุลดา กับผลงานอัพไซเคิลสิ่งทอ

“ผลงานศิลปะแต่ชิ้นมีการสื่อสารที่ต่างกัน แต่ถ้าสรุปโดยย่อจะมุ่งเป็นประมาณ 3 หัวข้อด้วยกันบนพื้นฐานของการใช้วัสดุเหลือใช้

หนึ่ง)คือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น บางท่านอาจนึกไม่ออก วัสดุบางอย่างต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง เช่น ฝาขวด ขวดพลาสติก เสื้อผ้า เอ๋ก็จะสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นว่าสามารถต่อยอดกลายเป็นงานศิลปะได้ กลายเป็นโปรดักต์ดีไซน์ได้ กลายเป็นกิจกรรมเวิร์คช็อปได้ ทุกคนสามารถดีไอวายโดยใช้วัสดุเหลือใช้ ไม่จำเป็นต้องซื้อของใหม่

เหตุผลข้อที่สองคือ งานบางชิ้นเอ๋ต้องการเป็นตัวชี้วัดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละองค์กรแต่ละพื้นที่ ยิ่งงานศิลปะชิ้นใหญ่มากแค่ไหน หมายถึงองค์กรใดองค์กรหนึ่งสร้างขยะจำนวนมหาศาลภายใต้ระยะเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน 

บางทีข้อมูลรายงานภายในองค์กรแต่ละปีสร้างขยะเท่านั้นเท่านี้ เป็นหลักตัน หลักร้อยกิโลกรัม ห้าร้อยกิโลกรัม เรานึกไม่ออก แต่พอทำให้กลายเป็นงานศิลปะ นึกออกทันที เพราะงานศิลปะเห็นออกมาเป็นรูปร่าง

ข้อสาม อยากให้เขาเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรใหม่ ใช้ของที่มีอยู่แล้วทำเป็นวัสดุทดแทนการใช้ทรัพยากรใหม่ได้ เป็นที่มาของคอลเลคชั่นกระเป๋า เสื้อผ้า และคอลเลคชั่นต่างๆ ที่เกิดขึ้น

มุมมองขยะของวิชชุลดาคือ ทุกอย่างมีคุณค่า เอามาใช้ซ้ำ เอามาอัพไซคลิ่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเครื่องจักรขนาดใหญ่ ทุกผลงานของเอ๋ไม่มีการหลอม ไม่มีการใช้เครื่องจักรใหญ่ใดๆ เพราะเราไม่เป็นอุตสาหกรรม เราพยายามเน้นกับทุกคนว่า หยิบกรรไกร คัตเตอร์ ค้อน อุปกรณ์ง่ายๆ มาตัด ตอก ทุบ ใช้มือตัวเองในการดีไอวายสร้างสรรค์ พยายามจะบอกทุกคนว่า คนตัวเล็กๆ ทุกคนเปลี่ยนโลกได้ 

คุณไม่จำเป็นต้องจดบริษัทขนาดใหญ่ รอสร้างการเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่มากๆ แต่ทุกคนกลับบ้านไปดีไอวายได้ คัดแยกขยะได้ คุณช่วยลดขยะแล้ว มีจิตสำนึกที่ดี คุณช่วยลดขยะแล้ว เริ่มจากตัวเราก่อน เอ๋พยายามสื่อสารในลักษณะนี้

 

วัตถุดิบ-วัสดุในการสร้างงาน นำมาจากไหน 

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน

“วัตถุดิบมาจาก 3 ช่องทาง หนึ่ง)จากการเก็บคัดแยกของตัวเอง เราใช้อะไร บริโภคอะไร เก็บคัดแยกล้างทำความสะอาด ทั้งของตัวเองและของครอบครัว

ข้อที่สองคือรับซื้อขยะจากแต่ละชุมชน เช่นที่ตำบลไร่พัฒนา จังหวัดชัยนาท เก็บคัดแยกขยะต่างๆ แล้วนำมาหมุนเวียนใช้ซ้ำ อัพไซคลิ่งต่างๆ เอ๋มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปอบรมกับทีมชุมชนตั้งแต่ก่อนโควิด เราอยากต่อยอดกับชุมชนในระยะยาว เพราะชุมชนสนใจการคัดแยกวัสดุและนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์

ตอนแรกเขายังไม่รู้ว่าทำแบบไหนขายได้จริง ไปๆ มาๆ เป็นระยะยาวขึ้นมาเรื่อยๆ กลายเป็นชิ้นส่วนงานศิลปะของเรา เอ๋พยายามต่อยอดกับชุมชนอื่นๆ ด้วย

ข้อที่สามคือเอามาจากในองค์กรนั้นๆ ที่ทำงานด้วย”

 

ขอความเห็นเกี่ยวกับประเภทขยะที่ควรเร่งลด 5 อันดับแรก

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน

credit photo: www.wishulada-art.com

“เอ๋มองว่าอันดับหนึ่งคือ ขยะพลาสติก ประเภทที่อยากให้ลดลงหรือหายไปเลยคือ หลอดกาแฟ หลายท่านแม้ใช้ หลอดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่าย แต่ทิ้งไว้เดือนสองเดือน หลอดกาแฟจะกรอบกลายเป็นผง

นั่นคืออันตรายกว่าหลอดกาแฟพลาสติกปกติ เพราะมันกลายเป็นไมโครพลาสติก ปลิวหรือไหลไปตามน้ำได้ง่าย คือกระจายตัวสู่สิ่งแวดล้อมง่ายกว่าพลาสติกปกติ พลาสติก 1 ชิ้นยิ่งเล็กยิ่งอันตราย

ถ้าคุณจะมีแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม ควรลดการผลิตอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก หรือถ้าจะผลิตจริงๆ ต้องมองพลาสติกประเภทไหนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Biodegradable (วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ) ดีตรงที่ใช้อ้อยใช้มันสำปะหลังมาทำ ดีมากเลย แต่ในขั้นตอนการกำจัด ต้องแยกให้เป็นประเภทอีกค่ะ ไม่สามารถโยนไบโอดีเกรดาเบิลผสมกับพลาสติกธรรมดาแล้วรีไซเคิลได้ มันทำไม่ได้

พลาสติก 1 อัน ถ้าจะรีไซเคิลได้ มันต้องอยู่กับประเภทของมันเอง ข้อสำคัญไบโอดีเกรดาเบิล คนทั่วไปไม่รู้ว่านี้ไบโอฯ หรือไม่ไบโอฯ ซึ่งต้องการเครื่องย่อยสลายเฉพาะของมันเอง

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน ศิลปะอัพไซเคิลแสดงพื้นผิววัสดุ

ถัดมาคือ โฟม อันตรายมาก เผลอๆ อันตรายกว่าพลาสติก เพราะโฟมรีไซเคิลไม่ได้เลย และอยู่ในชีวิตประจำวันมาก เช่น กล่องอาหาร บรรจุภัณฑ์ต่างๆ จึงควรลดลง

คนไทยหลายๆ คนให้ความสำคัญเรื่อง Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) แต่ที่เราปรับเปลี่ยนไม่ได้ เพราะวัตถุดิบทดแทนราคาสูงมาก

ลองถามป้าๆ พ่อแม่พี่น้องผู้ประกอบการรายเล็ก เขาสนใจเรื่องไคลเมตเชนจ์ สิ่งแวดล้อม แต่เขาบอกถ้าเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากโฟมเป็นกล่องกระดาษ ราคาสูงกว่ากันเยอะมาก ทำอย่างไรให้บรรจุภัณฑ์กระดาษราคาเท่ากับโฟมหรือน้อยกว่าโฟมให้ได้ ก็จะเปลี่ยนได้ในภาพใหญ่

เอ๋เคยไปที่อินเดีย หลายท่านอาจบอกขยะเยอะมาก แต่เมืองอาห์เมดาบัด (Ahmedabad) มีภาครัฐที่ประกาศว่าเมืองนี้ไม่มีพลาสติกหรือมีให้น้อยที่สุด บรรจุภัณฑ์ทุกอย่างของเขาทำมาจากกระดาษทั้งหมด มีคัดแยกที่เป็นระบบมาก พลาสติกก็เลยน้อยมากๆ

ล่าสุดที่ไปเยอรมนี เจ้าพ่อในการรีไซเคิล ขวดพลาสติกต่างๆ เอาไปแลกกลับมาเป็นเงินได้ ราคาสูงพอๆ กับซื้อน้ำเปล่า 1 ขวด ขวดพลาสติกแลกได้ 0.25 ยูโร น้ำดื่มขวดราคา 0.29 ยูโร คือจ่ายเพิ่มแค่ 0.04 ยูโรซื้อน้ำเปล่าได้ คนจรจัดเยอรมันไม่ขอเงินค่ะ เขาขอขวดน้ำ และมักไม่มีใครให้ขวดด้วย

ไทย ภาครัฐเองก็อยากให้สนับสนุนให้เรารีไซเคิล คัดแยกขยะ ดีมากเลย แต่เป็นการจัดการที่ปลายเหตุแล้ว อยากให้เขาไปมองที่ต้นเหตุ ทำอย่างไรจะสนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนในวงกว้างให้ได้ ผู้บริโภคไม่อยากใช้พลาสติกและโฟม แต่ใช้เพราะถูกบังคับให้ใช้ ไม่มีทางเลือก

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน วิชชุลดา x แรคคูนข้างเดียว

อันดับสาม ถุงผ้าสปันบอนด์ (Spun-bonded) หลายบริษัทเกิดไอเดียปีใหม่แจกถุงผ้าลดโลกร้อน บางทีแฝงมาด้วยถุงผ้าสปันบอนด์ซึ่งมีส่วนผสมของพลาสติกอยู่ด้านใน จึงอันตรายกว่าถุงผ้าปกติหรือถุงพลาสติกทั่วไป อะไรที่มีส่วนผสมมากกว่า 1 อย่าง นั่นคือยากต่อการรีไซเคิล

แต่เอ๋ไม่ได้บอกเราห้ามใช้พลาสติก ซึ่งยังมีข้อดีในแง่ทำให้เราลดการตัดไม้ทำลายป่า แต่ทำยังไงให้พลาสติกเหล่านั้นอยู่ในถูกที่ถูกทาง และถูกคัดแยกง่ายมากขึ้น

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน Wishulada x FLY NOW III (credit photo: www.wishulada-art.com)

อันดับสี่คือ เสื้อผ้า สิ่งของติดตัวเราเสมอ บางทีเราเปลี่ยนบ่อยมาก อิทธิพลจากแฟชั่น ใช้ทรัพยากรต้นน้ำเยอะมาก บางคนมีมายด์เซ็ตใช้เสื้อผ้าเยอะก็บริจาคได้ เท่ากับลดโลกร้อน แต่บางทีเราส่งเสื้อผ้าที่ไม่ใช้งานได้จริงไปบริจาค นั่นเท่ากับเราย้ายขยะจากบ้านเราไปที่มูลนิธิ ซึ่งไม่รู้จะนำเสื้อผ้าเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างไร ก็เป็นขยะที่ต้องกำจัด

อันดับห้า ก้นบุหรี่ ของเล็กๆ น้อยๆ ที่มองข้าม โยนทิ้งตามข้างทาง ทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง ชิ้นเล็กๆ น่าจะเป็นวัสดุธรรมชาติ แกะเข้าไปก็เจอผงยาสูบ ด้านนอกหุ้มกระดาษ คิดว่าน่าจะย่อยสลายได้ง่าย

แต่เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ พอลงไปในน้ำเยอะๆ มันไม่ย่อยสลาย ผงด้านในกระจายออกมาสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้ระบบนิเวศรวน และไม่ได้ทิ้งลงชิ้นเดียว คนสูบบุหรี่กี่คน ทิ้งลงไปทีละเยอะๆ ทำให้น้ำเน่า น้ำเสียสมดุล

สิ่งสำคัญที่น่าจะช่วยให้โลกดีขึ้นได้ เอ๋มองว่าทุกการกระทำของเรา ต้องมองให้ครบ loop (วงจร) มองไปที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ผลิตขึ้นมาแล้วดีต่อสิ่งแวดล้อมมั้ย ตอนที่เราใช้งาน..ดีต่อสิ่งแวดล้อมมั้ย ดีต่อตัวเรามั้ย พอเราทิ้งไปแล้ว ขั้นตอนกำจัดอย่างไร ไปไหนต่อ”

 

วิชชุลดาเตรียมเนื้อหาใดเกี่ยวกับ Sustainability ไปร่วมงาน SX2024

Upcycle Artist วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ขยะ 5 ประเภทใดควรเร่งลดเพื่อความยั่งยืน

“เอ๋มีออกบูธสินค้าที่ทำและชุมชนทำเกี่ยวกับการนำวัสดุเหลือใช้มาอัพไซคลิ่งใหม่เป็นกระเป๋า เฟอร์นิเจอร์เล็กๆ มีงานศิลปะของบางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ พูดถึงการอัพไซคลิ่งวัสดุเป็นงานอินสตอลเลชั่นอาร์ต 1 ชิ้น

มีเวิร์คช็อปจากเรื่องราวการจัดการขยะ ให้ทุกคนมาสร้างงานศิลปะ 1 ชิ้นที่ใช้งานได้ ทำเป็นโคมไฟสนุกๆ ยกกลับไปใช้งานที่บ้านได้ วันที่ 28 กันยายน เวลา 15.00 -17.00 น. ฝากเชิญผู้สนใจมาร่วมสนุกกันนะคะ

สำหรับเวทีทอล์ค วันที่ 29 ก.ย. 13.00 -14.00 น. อยากพูดในเรื่อง Regenerative เราไม่ได้มองสุดโต่งอย่างเดียว แต่เราต้องมองให้ครบวงจร รีเจนเนอเรทีฟอาร์ตแอนด์ดีไซน์ คือพยายามพูดถึงเราจะนำอาร์ตมาแก้ไขปัญหาเรื่องของขยะ-สิ่งแวดล้อมในมิติได้บ้าง”

เตรียมตัวไปสนุกกับวิถีการอัพไซเคิลสไตล์ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ และเปิดโลกความยั่งยืนอีกมากมายในงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.-6 ต.ค.2567 เวลา 10.00-20.00 น.