ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022

“ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่ เปิดพื้นที่ชั้นใต้ดินจัดแสดง 55 ชิ้นงานศิลปะในงาน Bangkok Art Biennale 2022 ศิลปินร่วมส่งเสียงเพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพใจ-กาย ความเท่าเทียมทางเพศ นักการเมืองกับการคายร่างใหม่

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center – QSNCC) เป็น 1 ในสถานที่ 12 แห่ง ที่เข้าร่วมงาน Bangkok Art Biennale 2022 (BAB2022) หรือ เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติกรุงเทพฯ ซึ่งมีกำหนดจัดแสดงผลงานศิลปะเป็นเวลา 4 เดือน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 

กลางเดือนพฤศจิกายน 2565 “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” มีภารกิจพิเศษเป็นสถานที่รองรับการจัดประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation 2022) ประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เข้าไปชมงาน BAB2022

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

แต่ช่วงเวลานี้ พื้นที่ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” เปิดรับการไปเยือนตามปกติ ผู้สนใจงานศิลปะสามารถเดินทางไปชมงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้แล้ว

โดยที่นี่มีการจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินไทยและศิลปินสากล รวมกัน 18 ท่าน มีความหลากหลายของผลงานศิลปะให้ชมมากกว่า 55 ชิ้น ซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นในธีม “CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ BAB2022 ต้องการสื่อสารในการจัดงานครั้งนี้ 

ผลงานศิลปะหลายชิ้นในงาน BAB2022 ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ "ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์" สะท้อนว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจปากท้อง ความเป็นอยู่ ฯลฯ ล้วนเป็นผลมาจากการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ทั้งในดินแดนตนเองและเหนือดินแดนผู้อื่นตั้งแต่อดีตถึงวันนี้

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022

ทิฟฟานี ชุง (Photo by Ketsiree Wongwan)

ทิฟฟานี ชุง (Tiffany Chung)

ศิลปินชาวเวียดนาม มีชื่อเสียงทั่วโลกจากการทำงานสหสาขา ซึ่งอธิบายความขัดแย้งการแบ่งขอบเขตทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม การถูกบังคับให้พลัดถิ่น และการอพยพของผู้ลี้ภัยในหลายช่วงเวลาและสถานที่

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 Tiffany Chung, finding one’s shadow in ruins and rubble, 2014

งานศิลปะจัดวางของ “ชุง” ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ประกอบด้วยงานที่สร้างขึ้นใหม่และที่มีอยู่แล้ว  ซึ่งเน้นประเด็นความขัดแย้งและการถูกบังคับให้พลัดถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็นำเสนอความหวังและการเยียวยา เป็นหนทางต่อไปข้างหน้า

งานศิลปะจัดวางนี้ชื่อ finding one’s shadow in ruins and rubble (พ.ศ.2557) ประกอบด้วยกล่องไฟไม้มะฮอกกานีทำมือ 31 กล่อง บรรจุภาพถ่ายอาคารที่ถูกทำลาย ซากปรักหักพัง และเมืองร้างต่างๆ ในประเทศซีเรีย เป็นเครื่องเตือนใจให้พยายามหาความหวังภายใต้ซากปรักหักพัง

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 if water has memories (พ.ศ.2565)

ผลงานอีกชิ้นชื่อ if water has memories (พ.ศ.2565) งานวิดีทัศน์ 3 ช่อง ชิ้นใหม่ ซึ่ง BAB สนับสนุนทุนสร้าง ระลึกถึงผู้คนซึ่งถูกทำร้าย กระทำชำเรา ลักพาตัว และเสียชีวิตในทะเล ช่วงที่โจรสลัดสุ่มโจมตีผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามหลังปีพ.ศ.2518 ในอ่าวไทย สืบค้นจากคลังข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เป็นอาทิ

 

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ อธิบายงานศิลปะของ "ฉิว ซื่อเจี๋ย"

ฉิว ซื่อเจี๋ย (Qiu Zhijie)

ศิลปินท่านนี้เป็นที่รู้จักจากผลงานอักษรวิจิตร  ภาพวาดหมึก ภาพถ่าย วีดิทัศน์ ศิลปะจัดวาง และการแสดง ผสมผสานการสื่อสาร แนวทดลองระหว่างขนบวรรณกรรมจีนกับศิลปะร่วมสมัย การมีส่วนร่วมทางสังคม และพลังในการปลดปล่อยตัวเองของศิลปะ

ฉิว ซื่อเจี๋ย นำผลงานชื่อ Map of Memories (พ.ศ.2560) เข้าร่วมแสดง งานศิลปะชิ้นนี้ดูเหมือนแผนที่โลกขนาดใหญ่ในยุคบุกเบิก แต่เป็นแผนที่ที่สำรวจ “ความทรงจำทางการเมือง” การต่อสู้เพื่อครอบครองพื้นที่ทางทะเล จนนำมาซึ่งความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ และอีกหลายเหตุการณ์ความขัดแย้งที่สื่อผ่านลักษณะภูมิประเทศในรูปแบบต่างๆ

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022

เถกิง พัฒโนภาษ กับผลงานภายใน Rokayasala

เถกิง พัฒโนภาษ

นำเสนอผลงานชื่อ Rokayasala เชื้อเชิญผู้ชมเข้าไป “ดู ฟัง สัมผัส” ประหนึ่งเข้าไปอยู่ในร่างกายของศิลปินชื่อ “โรคยาศาล” มาจากพระพุทธพจน์ที่ทรงเปรียบกายคนเป็นดั่ง “รังของโรค” 

ในขณะเดียวกันผลงานหลากหลายชิ้นใน “โรคยาศาล” ก็น้อมใจผู้ชมไปสู่ภาวะสันติสงบ ระงับเมื่อระลึกได้ว่า เราทั้งมวลล้วนเป็นละอองธุลีในอนันตจักรวาล 

เถกิงทำงานศิลปะต่อเนื่องมานานกว่า 25 ปี เริ่มจากประติมากรรม ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยระดับปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ งานทั้งหมดก่อตัวขึ้นจากความหมกมุ่นกับสเปซภายในกายและสเปซนอกโลก

ต่อมาก็นำความรู้สึกและภาวะเจ็บป่วยเกือบถึงตายที่เขาต้องเผชิญอยู่หลายหนจากอาการเนื้องอกที่ต่อมใต้สมองและระบบฮอร์โมน มาเป็นผลงานศิลปะเชิง hybrid media ในรูปแบบงานประติมากรรม จิตรกรรม และ AR

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 ผลงานชื่อ Anything Can Break (2011) โดย พินรี สัณฑ์พิทักษ์

พินรี สัณฑ์พิทักษ์

มีผลงานศิลปะจัดแสดง 2 ชิ้น คือ Anything Can Break (2011) มีลักษณะเป็นลูกบาศ์มีปีก ทำจากกระดาษพับเรืองแสง ศิลปินเรียกว่า flying cubes แซมด้วยแก้วเป่ารูปเต้านมสตรี ห้อยลงมาจากโครงรูปวงกลมขนาดใหญ่ที่ติดตั้งไว้บนเพดาน

เมื่อผู้ชมเดินเข้าไปชมงานและผ่านจุดตรวจจับความเคลื่อนไหวก็จะได้ยิน “เสียงประกอบ” ที่สร้างขึ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสและมีประสบการณ์กับงานศิลปะได้ แล้วสำรวจดูว่าเขาจะรู้สึกและเกิดจินตนาการอย่างไรหรือไม่

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 พินรี สัณฑ์พิทักษ์ อธิบายผลงาน Temporary Insanity (2004)

ผลงานศิลปะอีกชิ้นชื่อ Temporary Insanity (2004) ประกอบด้วยประติมากรรมผ้าอินเตอร์แอ็คทีฟสีสันสดใสกว่า 100 ชิ้น วางกระจัดกระจายอยู่บนพื้น ภายในประติมากรรมผ้ามีกลไกดักจับเสียงซ่อนอยู่ ซึ่งตอบสนองต่อ “เสียง” เมื่อผู้เข้าชมงานทำให้เกิดเสียง เช่น ตบมือ ประติมากรรมผ้าก็จะสั่นไหวกระดุกกระดิกได้

ประติมากรรมนี้หุ้มด้วยผ้าไหมไทยเลื่องชื่อ โทนสีแดง สีส้ม และสีเหลือง เปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นศิลปะจัดวางที่สร้างสมาธิในการชม

รูปทรงประติมากรรมผ้าคล้ายลูกแพร์ แสดงนัยของเต้านมสตรี กับรูปทรงที่ไม่ระบุเพศชัดเจน สื่อสารเรื่องการก้าวข้ามการแบ่งแยกทางเพศ

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 Apotekariya Cena ของ อัลวิน รีอามิลโล

อัลวิน รีอามิลโล (Alwin Reamilo) 

ศิลปินจากประเทศฟิลิปปินส์นำเสนอผลงานชื่อ Apotekariya Cene (Semana Santa Cruxtation II or How to intone Butiki, Bituka, Botika) 2021-2022 เป็นการนำภาพสองมิติและสามมิติเข้าไปไว้ตู้และกล่องไม้ 

เนื่องจากฟิลิปปินส์ตกอยู่ภายใต้การปกครองชาติตะวันตกหลายร้อยปี ภาพในตู้และกล่องไม้จึงพูดถึงความเชื่อทางศาสนาคาทอลิก ขณะเดียวกันก็ยังมีความเชื่อท้องถิ่นเรื่องวิญญาณนิยม ความเชื่อในแบบอเมริกัน และเสียดสีประเด็นทางการเมือง

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 ส่วนหนึ่งของชิ้นงาน Apotekariya Cena

การวางภาพมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมฝาผนังชิ้นสำคัญของโลก The Last Supper ของ เลโอนาร์โด ดา วินชี แต่อัลวินเปลี่ยนเป็นภาพใบหน้านักการเมืองคนสำคัญของโลก เสมือนหนึ่งมาร่วมรับประทานอาหารมื้อสุดท้าย 

ขณะเดียวกันก็สอดแทรกการเล่าเรื่องการล่าอาณานิคมเข้าไว้ด้วย รวมทั้งการลอกคราบของปู สัญลักษณ์ “การคายร่างใหม่” เปรียบเสมือนวัฏจักรของมนุษย์ หรือใครจะตีความว่าเป็นการเปลี่ยนให้ดูแตกต่างจากเดิม แต่จริงๆ จิตวิญญาณก็ยังเป็นตัวเองไม่เปลี่ยนแปลง เข้าตำรา “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ลองไปดูกันได้ว่าคุณอยากตีความอย่างไร

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 Eye of the Storm, (Courtesy of Atelier Chiharu Shiota)

ชิฮารุ ชิโอตะ (Chiharu Shiota)

แรงบันดาลใจของศิลปินหญิง ชิฮารุ ชิโอตะ  มักมาจากประสบการณ์หรือความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งเธอนำไปขยายต่อสื่อถึงปัญหาทั่วไปของมนุษย์ เช่น เรื่องชีวิต ความตาย และความสัมพันธ์

ในงาน BAB2022 ชิฮารุนำเสนองานศิลปะจัดวางชื่อ The Eye of The Storm (2022) จัดทำด้วยกระดาษสีขาวหลายพันแผ่น เชื่อมต่อกันด้วยเชือกสีแดง จัดเรียงเชือกหมุนวนเหมือนพายุไต้ฝุ่น

ตัวกระดาษจัดรูปทรงให้ดูเหมือนกำลังปลิวขึ้นและลอยคว้างเหมือนถูกลมพัด ตรงกลางเว้นเป็นช่องว่างเปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางของพายุที่ยังคงสงบนิ่ง 

นี่คือความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างความสงบนิ่ง(CALM)ของศูนย์กลางโครงสร้างที่เหมือนพายุไต้ฝุ่น กับความเคลื่อนไหวรุนแรง(CHAOS)ของเส้นรอบวงพายุ ที่เป็นแบบนี้มาโดยตลอด

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 ความอลังการของ Eye of the Storm (Courtesy of Atelier Chiharu Shiota)

ศิลปินบอกว่าเวลาที่เราเข้าไปสู่จุดศูนย์กลางของพายุไต้ฝุ่น ลมจะสงบ ฝนตกเล็กน้อยหรือไม่ตกเลย ในเขตพายุโซนร้อน ศูนย์กลางที่เคลื่อนไหวอย่างรุนแรงอาจจะสงบอย่างน่าประหลาดใจ เป็นไปตามกฎแรงหนีศูนย์กลาง ยิ่งห่างจากศูนย์กลางเท่าใด ลมก็ยิ่งแรงขึ้น และสร้างความเสียหายมากขึ้นเท่านั้น

ชิฮารุฝากข้อคิดไว้ด้วยว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติอันแปลกประหลาดนี้ ก็เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์และในจิตใจของมนุษย์เช่นเดียวกัน

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 ประติมากรรมควาย Chaos (โกลาหล)

ไมตรี ศิริบูรณ์

ไมตรี ศิริบูรณ์ เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี อาศัยและทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นที่รู้จักจากการนำเสนอภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่และชนบทอีสาน ผลงานช่วงแรกๆที่เขาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับแรงบันดาลใจจากจิตรกรรมฝาผนังและการตกแต่งวัดวาอารามด้วยกระจกกับโมเสกพื้นผิววาววับ

ในงาน BAB2022 ไมตรีสร้างสรรค์ ประติมากรรมควาย สัญลักษณ์ความแข็งแรง ความทรหดอดทน และกระดูกสันหลังของชาติ แต่เป็นประติมากรรมควายที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวจริง จำนวน 2 ตัว

ประติมากรรมควายตัวที่จัดแสดงอยู่ที่นี่ชื่อ “ควายโกลาหล” ตกแต่งด้วยโมเสกและสี ส่วน “ควายสงบสุข” เป็นควายเผือกที่มีหนุ่มอีสานผมทองขี่หลังอยู่ ตั้งอยู่ที่ “สามย่านมิตรทาวน์”

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022

ประติมากรรม Eternity ของ "ซู เจิน"

ซู เจิน (Xu Zhen)

เมื่อปีพ.ศ.2547 "ซู เจิน" ได้รับรางวัลศิลปะร่วมสมัยจีน สาขาศิลปินยอดเยี่ยม การทำงานศิลปะของเขาครอบคลุมหลายสื่อ มีผลงานแสดงตามพิพิธภัณฑ์และเบียนนาเล่ทั่วโลก

สำหรับงาน BAB2022 ซู เจินนำผลงานชื่อ Eternity(2016) มาร่วมจัดแสดง เป็นชุดประติมากรรมจัดวางที่ประกอบด้วยรูปปั้นเลียนแบบงานสมัยคลาสสิก ที่จัดว่าเป็นมาตรฐานสูงสุดของอารยธรรมตะวันตกและเอเชีย

รูปปั้นเลียนแบบนี้ทำจากแร่ผสม ช่วงลำตัวมีลักษณะของรูปปั้นเทพเจ้ากรีกที่มีกล้ามเนื้อสวยงาม แต่ส่วนศีรษะของรูปปั้นที่หายไปแทนที่ด้วยรูปปั้นของเทพเจ้าแบบตะวันออกและวางในลักษณะกลับหัว

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022

ศิลปินได้ใช้แนวทางที่ทั้งปลุกปั่นและขบขันในการแสดงความแตกต่างของวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก

รูปปั้นเทพเจ้ากรีกจัดเป็นจุดเริ่มต้นอารยธรรมตะวันตก ขณะที่รูปปั้นเทพเจ้าเอเชียก็แสดงรูปแบบสูงสุดของความเลื่อมใสศรัทธาในวัฒนธรรมโลกบูรพา

การย้ายที่ของงานศิลปะซึ่งเป็นอมตะดังกล่าว แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ของลัทธิอาณานิคม การเมือง และสงครามระหว่างประเทศ ด้วยการจับองค์ประกอบที่ตรงข้ามกันทางสุนทรียะและวัฒนธรรมให้มาอยู่ด้วยกัน 

ศิลปินเน้นให้เราเห็นประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางวัฒนธรรมลารแย่งชิงอำนาจในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022

ประติมากรรม Purity ขนาด 165 x 34 x 42 เซนติเมตร

เคนเนดี ยานโค (Kenneda Yanko) 

ศิลปินหญิงท่านนี้เกิดมิสซูรี สหรัฐอเมริกา อาศัยและทำงานอยู่ที่นิวยอร์ก เป็นศิลปินทำงานประติมากรรม และศิลปะจัดวางโดยใช้โลหะเก่าๆ กับสีทาพื้นผิว

ในงาน BAB2022 คุณจะได้ชมผลงานชื่อ Purity มีลักษณะเป็นงานประติมากรรมผิวสีและโลหะที่ “ยานโค” สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปีค.ศ.2018 งานมีพื้นผิวที่ดูเหมือนหินอ่อน ซึ่งไม่ค่อยเห็นกัน นับเป็นครั้งเดียวที่ยานโคทำในลักษณะนี้และแขวนลงมาจากเพดาน

ส่วนที่เป็นโลหะของงาน คือ “ที่นั่งคล้ายชิงช้าสีดำ” และดูเหมือนหินอ่อนอีกเช่นกัน ผิวสีขาวและสีเทาดูละเอียดอ่อนบอบบางและหนักแน่นในขณะเดียวกัน

ด้านข้างของงานประติมากรรม ฉายภาพงาน NFT ของ Purity ซึ่งยานโคสร้างสรรค์ร่วมกับนักดนตรีชื่อ “Masego” งานดิจิทัลชิ้นนี้เน้นย้ำความหมายของงานประติมากรรม สะท้อนแรงกระตุ้นที่ศิลปินสร้างขึ้นและผสมผสานมุมมองเชิงนามธรรมของทั้งเธอและนักดนตรี

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 Disasters of War ผลงานของ Jake and Dinos Chapman

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศิลปะกับการเมือง ในงาน BAB2022 Installation view ผลงานโดย Robert Mapplethorpe

งานแสดงศิลปะ Bangkok Art Biennale 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ยังมีผลงานศิลปะของศิลปินอีกหลายท่านและน่าสนใจอีกหลายชิ้น จัดแสดงให้ชมรวมกันอยู่ที่บริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า BAB BOX ตั้งอยู่ที่ชั้น B2 วันนี้ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566