Bangkok Art Biennale 2022 เปิดให้ชมแล้ว เทศกาลศิลปะนานาชาติ ธีม โกลาหล : สงบสุข
มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เผยทำไมงาน “Bangkok Art Biennale 2022” เลือกโจทย์แสดงงานศิลปะภายใต้แนวคิด “CHAOS : CALM” 73 ศิลปินชั้นนำทั่วโลกร่วมโชว์ผลงานศิลปะกว่า 200 ชิ้น เปิดให้ชมแล้ว 22 ตุลาคม 2565 -23 กุมภาพันธ์ 2566
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการ และผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale หรือ BAB) นำทีมตัวแทนภัณฑารักษ์ มร.ไนเจล เฮิร์สท์ (Nigel Hurst) ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการที่ IMG และ มิส.โลเรดานา ปัซซีนี-ปารัชชานี (Loredana Pazzini-Paracciani) นักวิชาการและภัณฑารักษ์อิสระในสาขาศิลปะร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถลงข่าวประกาศความพร้อมการจัดงาน Bangkok Art Biennale 2022 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติกรุงเทพฯ ณ ห้อง 201 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2565
การจัดงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2022 (บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022) หรือ BAB 2022 เป็นการผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกันระหว่าง มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), กรุงเทพมหานคร, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน
งานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Art Biennale 2022 ครั้งนี้ จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด CHAOS : CALM ที่ภัณฑารักษ์ร่วมกันตั้งโจทย์ ดังนั้นงานศิลปะที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อร่วมจัดแสดงในงานนี้จึงเป็นการเล่าเรื่องและสะท้อนความคิดเห็นในประเด็น “โกลาหล : สงบสุข”
จัดเต็มผลงานศิลปะจาก 73 ศิลปินชั้นนำ จาก 35 สัญชาติทั่วโลก สร้างความอลังการและความยิ่งใหญ่ให้กับวงการศิลปะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยมากกว่า 200 ผลงาน บนสถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานครทั้งหมด 12 แห่ง
มิส.โลเรดานา ปัซซีนี-ปารัชชานี, ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์, มร.ไนเจล เฮิร์สท์
“บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 มีความตั้งใจสนับสนุนวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย โดยเน้นการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของคนไทย มาเสริมสร้างภาพมุมมองของศิลปกรรมที่เพิ่มความงดงามและทันสมัยเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้แก่คนไทย ในรูปของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในด้านศิลปะและวัฒนธรรม” ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ กล่าว
ปีนี้ถือได้ว่ามีความพิเศษเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากทีมภัณฑารักษ์จะนำผลงานจากศิลปินชั้นนำทั่วโลกมาจัดแสดงที่ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่หลักในการจัดแสดงงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวบนพื้นที่ใจกลางเมืองได้เป็นจำนวนมากแล้ว
ยังได้เพิ่มพื้นที่จัดแสดงงานแห่งใหม่ขึ้นที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เรียกว่าเป็น BAB BOX (แบ๊บบ๊อกซ์) แห่งใหม่ ที่พร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว ผู้รักงานศิลปะที่จะเดินทางมาจากทั่วโลก และยังถือเป็นโอกาสพิเศษในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC APEC 2022 Thailand
ศิลปิน : Chiharu Shiota (ชิฮารุ ชิโอตะ)
ชื่อผลงาน : The Eye of The Storm
เทคนิค : ศิลปะจัดวาง
สถานที่ : BAB BOX ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (ชั้น B2)
กระดาษสีขาวนับพันแผ่น เชื่อมต่อกันด้วยเชือกสีแดง หมุนวนเหมือนพายุไต้ฝุ่น ตัวกระดาษจัดรูปทรงให้ดูเหมือนกำลังปลิวขึ้นและลอยคว้างเหมือนถูกลมพัด แต่จุดศูนย์กลางยังคงสงบนิ่ง นี่คือความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างความสงบนิ่ง(CALM)ของศูนย์กลางโครงสร้างที่เหมือนพายุไต้ฝุ่น กับความเคลื่อนไหวรุนแรง(CHAOS)ของเส้นรอบวงพายุมาโดยตลอด
ทำให้คณะประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 ได้มีโอกาสชมงานศิลปะจากเหล่าศิลปินที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เชื่อว่าจะสร้างความตื่นตาตื่นใจกับผลงานศิลปะร่วมสมัยบนพื้นที่ขนาดใหญ่ รวมถึงกิจกรรมที่เตรียมจัดเต็มอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังเพิ่มพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue ที่จะใช้จัดแสดงผลงาน Digital Art บนโลกออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นรูปแบบงานศิลปะที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในวงการศิลปะ
ผู้สนใจยังมีโอกาสพบกับเหล่าศิลปินชื่อดังจากทั่วโลกที่จะเดินทางมากรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าร่วมงานพบปะแฟนๆ ผู้รักศิลปะในประเทศไทย นำโดย ทอม แซ็คส์, มารีนา อบราโมวิช, ทัตสึโอะ มิยาจิมะ, เจค แชปแมน, เออีเอส+เอฟ เรียกว่าจะช่วยสร้างสีสันด้านการท่องเที่ยว สร้างความตื่นตัวให้กับคนในแวดวงศิลปะ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ชื่นชอบในงานศิลปะ
ผลงานชื่อ Humans ภาพวาดด้วยดินสอถ่าน โดย คาเมรอน แพลทเทอร์ ศิลปินชาวแอฟริกาใต้
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ กล่าวด้วยว่า คาดว่าตลอดระยะเวลาของการจัดงานต่อเนื่อง 4 เดือนในครั้งนี้ จะมีนักท่องเที่ยว นักสะสมงานศิลปะ ภัณฑารักษ์ ศิลปิน และคนในวงการศิลปะทั่วโลกเดินทางมากรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก นับเป็นการกระตุ้นและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยได้ทางหนึ่ง
พร้อมกันนี้ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และเป็นการยกระดับการจัดงานศิลปะในไทย สนับสนุนศิลปินไทย ให้อยู่ในกระแสของศิลปะระดับโลกอีกด้วย
มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ยังเปิดโอกาสให้กับผู้สนใจศิลปะตั้งแต่ระดับนิสิตนักศึกษาไปจนถึงบุคคลทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดงาน BAB 2022 รวมตัวกันเป็นกลุ่มอาสาในนาม DEK BAB (เด็กแบ๊บ)
หน้าที่ของ DEK BAB ทำงานกับศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ ในการเป็นผู้ช่วยติดตั้งงานศิลปะ (Artist Crew), ผู้ติดตามศิลปิน (Liaison) และ ผู้นำชมและดูแลชิ้นงาน (Docent) รวมถึงร่วมเวิร์คช็อปและอบรมโดยทีมงานภัณฑารักษ์และกูรูด้านศิลปวัฒนธรรมที่มีประสบการณ์การจัดงานศิลปะในระดับโลก ทำหน้าที่เสมือนทูตที่เชื่อมต่อระหว่างศิลปินกับผู้ชมงาน ประหนึ่งว่า DEK BAB คือองค์ประกอบที่เติมเต็มให้งาน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ นี้สมบูรณ์
ศิลปิน : Jitish Kallat(จิติช กัลลัต)
ชื่อผลงาน : Integer Studies (Drawing from Life)
เทคนิค : วอลล์เปเปอร์จัดวาง
สถานที่ : มิวเซียมสยาม
มิส.โลเรดานา ปัซซีนี-ปารัชชานี อธิบายงานศิลปะของ "จิติช" ศิลปินชาวอินเดีย ประกอบด้วยภาพวาด จำนวน 365 ภาพ ซึ่งวาดทุกวันเมื่อปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ขณะที่โลกเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ทุกวันเขาบันทึกตัวเลข 3 กลุ่ม คือ จำนวนประชากรโลก จำนวนการเกิด จำนวนการตาย ลงบนกระดาษลายตาราง แล้วลากเส้นไปตามจินตนาการ จนเกิดเป็นภาพจำนวน 365 ภาพ นำมาจัดแสดงในลักษณะวอลล์เปเปอร์
ที่มาธีม "โกลาหล : สงบสุข"
ปีพ.ศ.2564-2565 เป็นช่วงเวลาที่คับขัน อันเนื่องมาจากภัยคุกคามต่าง ๆ ทบทวีขึ้นจากโรคระบาดใหญ่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปสู่การจัดการกับความไร้ระเบียบของโลกใหม่ ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่ฝังรากลึกและความแตกแยกด้วยความแตกต่างทางการเมือง การเหยียดเชื้อชาติและอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง
ชาวอเมริกันจำเป็นต้องจำกัดการแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของตนนอกประเทศ ในทางตรงกันข้ามจีนซึ่งผ่านวิกฤติการระบาดใหญ่มาได้โดยไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ นั้น จะพัฒนาการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางต่อไป
การเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจในระดับโลกปรากฏชัดเจน จากการที่การทำลายสภาพภูมิอากาศ การล่มสลายของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและความไม่มั่นคงในระดับนานาชาติ ได้นำโลกเข้าสู่ภาวะโกลาหล มวลมนุษยชาติได้ประสบกับความสิ้นหวัง ความโดดเดี่ยว ความกลัวและความตาย
"ควาย" สัญลักษณ์ความแข็งแรง ทรหดอดทน และกระดูกสันหลังของชาติ สร้างสรรค์โดย ไมตรี ศิริบูรณ์
คำว่าคาวส์ (Chaos) ในจักรวาลวิทยากรีก หรือ "เคออส" หมายถึงสภาวะว่างเปล่าก่อนการก่อกำเนิดของเอกภพหรือจักรวาล คาวส์มาก่อนเยอา (Gaea) และเอรอส (Eros) หรือโลกและความปรารถนา
ในสภาวะที่วุ่นวายโกลาหลและไร้ระเบียบ เราต้องอยู่กับการคาดการณ์อะไรล่วงหน้าไม่ได้และความกลัวเนื่องจากเราไม่คุ้นเคยกับภัยพิบัติรุนแรงที่มีผลกระทบติดตามมาแบบระลอกคลื่นเช่นนี้
การเร่งแข่งขันกันเพื่อให้ได้วัคซีนมาป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด ทำให้เกิดปัญหาน่ากังวลอื่น ๆ ตามมา เป็นเรื่องขัดแย้งกันที่ว่า เมื่อมีปริมาณวัคซีนสำรองแล้ว แต่การทูตวัคซีนและสงครามวัคซีนกลับก่อให้เกิดปัญหาการกระจายวัคซีนและปริมาณวัคซีนในตลาดที่ไม่เท่าเทียม
ผู้ต่อต้านวัคซีนและผู้สงสัยจำนวนมาก กังวลเรื่องการอนุมัติวัคซีนอย่างรีบเร่ง ไม่มีหลักประกันใด ๆ เรื่องผลที่จะติดตามมาในระยะยาว ถึงแม้ว่าจะต้องล่าช้าและผิดหวัง
ผลงานชื่อ "Temporary Insanity" สร้างสรรค์โดย พินรี สัณฑ์พิทักษ์
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ โควิด-19 (SARS-CoV2) ได้แตกสายพันธุ์ออกเป็นอัลฟา (B.1.1.7) เบตา (B.1.351) แกมมา (P.1) เดลตา (B.1.617.2) อีตา (B.1.525) ไอโอตา (B.1.526) แคปปา (B.1.617.1) แลมบ์ดา (C.37) และมิว (B.1.621)
วัคซีนทั้งหลายที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ และไวรัสเหล่านี้ก็มีแนวโน้มสูงมากที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน เช่นนี้หมายความว่าอะไร จะมีผู้เสียชีวิตมากขึ้นอีก ต้องฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วยมากขึ้นอีกและสร้างกำไรให้ตลาดวัคซีนมากขึ้นอีก
วงจรอุบาทว์นี้ได้นำหลายประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤติเนื่องจากรัฐบาลล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติและความโกลาหลวุ่นวาย
บรรยากาศการแถลงข่าวเปิดงาน BAB 2022
ผลกระทบของการระบาดใหญ่ที่มีต่อระบบนิเวศของวงการศิลปะ ทำให้เกิดภาวะตกต่ำอย่างรุนแรงทั่วโลก การที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ศิลปะและงานสร้างสรรค์ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยต้องเผชิญปัญหาคุกคาม การยกเลิก การเลื่อนกำหนดและความล่าช้า ตลอดจนการตัดงบประมาณและการเลิกจ้างงาน
ส่งผลให้เกิดภาวะที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรล่วงหน้าได้ในทุกระดับ เป็นเรื่องท้าทายที่ภาคส่วนต่าง ๆ ของศิลปะซึ่งสามารถฟื้นตัวและปรับตัวได้เร็วที่สุดจะหาทางรอดได้อย่างสร้างสรรค์
มร.กันซุก เซตบาซาร์ ศิลปินชาวมองโกเลีย และ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมศิลปะระดับนานาชาติเพียงไม่กี่งานที่จัดขึ้นตามกำหนดการเดิม ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดใหญ่ในวงกว้างและความวุ่นวายทางการเมืองก็ตาม
แก่นความคิดหลักที่ว่า "ศิลป์สร้าง ทางสุข" นั้นเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สหประชาชาติตั้งใจให้บรรลุภายในปี พ.ศ.2573
การเรียนรู้ที่จะอยู่รอดอย่างยากลำบากนั้น หมายถึงการต้องเผชิญอุปสรรคหลากหลาย ทั้งฝันร้ายเรื่องการจัดการ การเดินทางและการกักตัว การรักษาระยะห่างทางสังคมในการชมงานศิลปะ การเดินทางไปตามสถานที่จัดงานต่าง ๆ และการชมงานออนไลน์แบบเสมือนจริง
ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาที่จัดงาน BAB2020 จะยังไม่มีวัคซีน แต่ก็โชคดีที่โควิด-19 ระลอกแรกไม่รุนแรงนักและมีการใช้มาตรการกึ่งล็อคดาวน์ ผู้ชมกว่า 400,000 คนได้ชมงานตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และอีกกว่า 2.3 ล้านคนได้ชมในโลกเสมือนจริงและทางออนไลน์
เกล้ามาศ ยิบอินซอย, โชน ปุยเปีย, พินรี สัณฑ์พิทักษ์
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ภายใต้แก่นความคิดหลัก โกลาหล : สงบสุข จัดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ขั้วตรงข้ามระหว่างความโกลาหลกับความสงบสุข จะสะท้อนบรรยากาศร่วมสมัยของโลกอันสับสนวุ่นวายที่เราอยู่
ศิลปินผู้สร้างงานที่แสดงความระส่ำระสาย ความบาดเจ็บชอกช้ำและความโกรธ ช่วยเตือนให้เราคิดถึงความเปราะบางของชีวิตในช่วงเวลาแห่งการระบาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การเมืองและความขัดแย้งทางอุดมการณ์ต่าง ๆ ในโลก ที่ไม่พึงประสงค์และลวงตา เหล่าศิลปินแสดงให้เห็นผลลัพธ์ของการทำลายมนุษยชาติและธรรมชาติด้วยน้ำมือมนุษย์เอง
ประติมากรรม Evolution-Standing Female Attendant สร้างสรรค์โดย ซู เจิน (Xu Zhen)
ในท่ามกลางความโกลาหลยังมีความหวังและโชคดีที่บังเอิญค้นพบให้เห็นอยู่ลาง ๆ ด้วยการที่มนุษย์และธรรมชาติค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้าสู่การอยู่รอด
ด้วยความสูญเสียและเสื่อมสลายอันมหาศาล วิถีชีวิตจะไม่มีวันกลับคืนสู่สภาพที่เคยเรียกกันว่าปกติได้ การค้นพบความสงบท่ามกลางความโกลาหลอาจช่วยให้ดีขึ้นได้อย่างไม่คาดคิด ด้วยการใช้ปรีชาญาณและโอกาส
กระบวนการนี้ต้องอาศัยปัจจัยที่หลากหลายทั้งความเห็นอกเห็นใจ ความอดทน เสน่ห์จูงใจและอารมณ์ขัน เราอาจจะรู้สึกสงบและผ่อนคลายไปพร้อมกันได้ในโลกใหม่แห่งสมัยหลังการระบาดใหญ่และการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันทันที
ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต, วลัญช์ สุภากร