ความท้าทายที่ไม่ควรมองข้ามของเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด

ความท้าทายที่ไม่ควรมองข้ามของเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด

ความท้าทายที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยที่มีมาตั้งแต่ก่อนวิกฤต COVID-19 คือ การกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้นจากที่เป็นอยู่ประมาณ3% ต่อปี (ค่าเฉลี่ยระหว่าง พ.ศ. 2549-62) ที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ( 7-8%)

การเติบโตที่ช้าลงสร้างความกังวลว่าไทยจะไม่สามารถยกระดับไปเป็นประเทศพัฒนาได้ แต่ติดกับดักรายได้ และเป็นเหตุให้ไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมาย ( เช่น 5 S-curve และ 5 New S-curve) กิจกรรมเป้าหมาย (การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม) และพื้นที่เป้าหมาย (โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC) วิกฤต COVID-19 

 ทำให้มีการปรับยุทธศาสตร์อีกครั้งให้เป็นเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (Biology) หมุนเวียน (Circular) และ สีเขียว (Green)  ในความเป็นจริงยุทธศาสตร์พุ่งเป้าไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลก แต่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร คือ เป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษ 1950-60 ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ต้องการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ล้มเหลวและก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะในระยะต่อมา

 

ความท้าทายที่ไม่ควรมองข้ามของเศรษฐกิจไทยในยุคหลังโควิด

วันนี้ประเทศต่าง ๆ หันกลับมาพึ่งพายุทธศาสตร์ในลักษณะพุ่งเป้าเพิ่มมากขึ้น แม้เป็นหมายอาจจะแตกต่างกันบ้าง บางประเทศ อาทิ ไทย จีน และสหรัฐฯ มุ่งไปที่อุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มุ่งไปที่เทคโนโลยี (อาชนัน และคณะฯ, 2563) ส่วนหนึ่งเพราะโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทวีความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล หลายอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงที่จะล้มหายตายจาก สำหรับประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งไทยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เรื่องดังกล่าวเป็นเสมือนโอกาสแซงขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ และนำพาประเทศให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน

โจทย์การจัดการยุ่งยากขึ้นสำหรับประเทศรายได้ปานกลาง เพราะมีโครงสร้างการผลิตเดิมอยู่และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ข้อค้นพบของงานวิจัยใหม่ ๆ เช่น งานเขียนใน Harvard Business Review ของ Birikinshaw (2022) ชี้ให้เห็นว่าผลของ Disruptive ไม่ได้รุนแรงดังที่เคยกังวล

เรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับพัฒนาการของอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย (อาชนัน และคณะฯ 2565) ที่ความต้องการของสินค้าในอุตสาหกรรม S-curve ทั้ง 5 ของไทยไม่ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีเหตุผลที่แตกต่างกันไปตามแต่ละอุตสาหกรรม (ซึ่งนำเสนอในบทความต่อไป) เช่น รถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวอย่างที่ดีที่แม้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ ณ ปี 2564 ก็ยังเป็นสัดส่วนไม่ถึง2% ของรถยนต์ที่วิ่งทั้งหมดบนท้องถนน (อาชนัน, 2565) เมื่อเป็นเช่นนั้นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในเป้าหมายอย่างเดียวกันน่าจะทำได้ลำบาก หรือไม่เกิดผล เพราะความต้องการมีจำกัด สินค้าที่ผลิตอาจจะขายใครไม่ได้

 ดังนั้นโจทย์การจัดการสำหรับประเทศรายได้ปานกลาง คือ การบริหารจัดการช่วงเปลี่ยนผ่านให้อุตสาหกรรมเดิมยังสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับกระตุ้นกิจกรรมที่ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ แทนการให้ความสำคัญแต่อุตสาหกรรมใหม่เพียงอย่างเดียว

เรื่องดังกล่าวสำคัญขึ้นอย่างมากในยุคหลังโควิคเพราะ วิกฤติ COVID-19 ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ กลาง หรือเล็กต่างประสบปัญหา โดยเฉพาะปัญหาสภาพคล่อง ในขณะที่การขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ข้างต้นต้องพึ่งพาเงินทุนมากขึ้นและเป็นเงินทุนระยะยาว (ภาษาชาวบ้าน คือ ต้องมีเงินเย็น) ที่ลงทุนเครื่องจักร อุปกรณ์ และวิจัยและพัฒนา นอกจากนั้นการสร้างงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นโจทย์สำคัญอันดับหนึ่งที่ต้องเร่งแก้ในยุคหลังโควิค

อาจมีคนเชื่อว่าเราต้องเร่งกระตุ้นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส แต่ในบริบทนี้การแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาสที่เหมาะสมกว่า คือ กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมเป้าหมายผ่านการเติมเต็มปัจจัยสนับสนุน และให้กิจกรรมเหล่านี้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ทำอยู่เดิม

 ในขณะที่ส่งเสริมให้นำเอาเทคโนโลยีใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเป็น Cash cow หล่อเลี้ยงธุรกิจ และเป็นแหล่งเงินทุน (เงินเย็น) ที่จะนำไปอุดหนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมในลักษณะคู่ขนานน่าจะทำให้การเปลี่ยนผ่านสมเหตุสมผลและแก้ปัญหาปากท้องของผู้คนในระยะสั้นได้ไป พร้อม ๆ กัน

โดย  รศ.ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์

ICRC เศรษฐศาสตร์​ ธรรมศาสตร์