รัฐเร่งสปีดแก้ไขกฎหมาย ลดต้นทุนธุรกิจดันศักยภาพ“อีอีซี”
“สนั่น อังอุบลกุล “ ย้ำ การปรับปรุงกฎหมายจะสนับสนุนการลงทุนในอีอีซี ที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนตรงจากทั่วโลก ด้าน"วิษณุ"เผยรัฐรพร้อมร่วมมือเอกชนปลดล็อคกฏหมาย เพิ่มขีดความสามารถประเทศ ชี้โจทย์ใหญ่ต้องแก้ ปรับทัศนคติผู้บริหาร-ขรก. ให้บริการภาคธุรกิจ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกาถาพิเศษเรื่อง “ปลดล็อค กฎหมาย กฎระเบียบ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศได้อย่างไร ในงานมอบรางวัล “สำเภา-นาวาทอง” ประจำปี 2565 จัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นประเด็นที่ภาคเอกชนทำเองได้ แต่บางส่วนต้องให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ โดยเฉพาะการมีกฎระเบียบที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นระบบแรงงาน ระบบภาษี การอำนวยความสะดวก สิ่งแวดล้อม ระบบการลดการทุจริตคอร์รัปชั่น
ทั้งนี้ การวางแนวทางดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) พระราชกฤษฏีกา (พ.ร.ฏ.) รวมถึงระเบียบข้อบังคับ ประกาศกระทรวง คำสั่งกระทรวง ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขและปฏิรูป
การปรับปรุงแก้ไขทำมานานหลายปีแต่บางอย่างไม่สำเร็จ เช่น การแก้ไข พ.ร.บ. เพราะใช้เวลานานกว่าจะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งยุบสภาก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่หลังเลือกตั้ง
นอกจากนี้ทัศนคติของหน่วยงานภาครัฐไล่มาตั้งแต่รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดีและข้าราชการ ที่อาจไม่เข้าใจถึงการปฏิรูปจึงไม่ร่วมมือ เช่น เมื่อถามว่าควรต้องปฏิรูปหรือแก้ไขอะไรบ้างก็ตอบว่าดีอยู่แล้วไม่เป็นปัญหาไม่ต้องแก้ไข ทำให้การปฏิรูปจึงเป็นไปได้ยาก
“สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และผมเป็นรองนายกฯ มีแนวคิดปฏิรูป โดยนายกฯ เป็นประธาน หากบอกให้แก้กฎระเบียบต่างๆ หน่วยงานคิดว่าเป็นการสั่งการจากบนลงมา ดังนั้นแนวคิดปฏิรูปแบบเสรีนิยมที่ให้หน่วยงานไปตรวจสอบเองว่ามีกฎระเบียบ อะไรที่ต้องการแก้ไขก็ให้เสนอมาแต่ก็ไม่ได้ผล"
ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลได้ทำแผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน และหนึ่งใน 13 ด้าน คือ การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดย การปฏิรูปกฎหมายมี 3 ด้าน คือ
1.การยกเลิกกฏหมายที่ไม่ทันสมัยฟุ่มฟือย 2.การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย 3.จัดทำกฏหมายใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่มี
สำหรับแนวทางทั้ง 3 ด้านจะเป็นเครื่องมือเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้ ที่ผ่านมาภาคเอกชนและภาครัฐได้ปรับปรุงกระบวนงานไปแล้วเกือบ 1,000 งาน ซึ่งเป็นกฎระเบียบ ข้อบังคับเล็กๆน้อยๆที่ทำได้ทันที แต่ที่ต้องใช้เวลา คือ พ.ร.บ.และ พ.ร.ฎ.เพราะกระบวนการปรับปรุงล่าช้า โดยต่างจากช่วงแรกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา ช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งบางเรื่องก็เสนอสภา บางเรื่องใช้คำสั่งหรือประกาศ คสช. โดยมีจำนวน 300 ฉบับ ที่หลายฉบับปลดล็อคปัญหาที่ติดขัดมานานได้
นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.อีกกว่า 100 ฉบับที่ประกาศใช้ในยุค คสช.ที่ยังอยู่และมีผลบังคับใช้ทำให้ปลดล็อคปัญหาภาคเอกชนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคเอกชน อาทิ
พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ที่ช่วยอำนวยความสะดวกกับภาคเอกชนในการอนุมัติการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการกำหนดระยะเวลาขออนุมัติ คู่มือสําหรับประชาชนเป็นคู่มือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้รับคําขออนุญาตและเป็นรายละเอียดให้ประชาชนรับทราบกระบวนการขั้นตอน รวมถึงระยะเวลาการอนุญาต
พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 เป็นการส่งเสริมให้การทำงานและการให้บริการภาครัฐ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ทั้งอำนวยความสะดวกประชาชนยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องติดต่อด้วยตนเอง ยกเว้น 5 เรื่อง คือ การจดทะเบียนสมรส การหย่า การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรธรรม การทำบัตรประชาชนและการทำพาสปอร์ต
พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดาเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2565 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้
พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฏหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ซึ่งกฏหมายนี้ทำเพื่อให้หน่วยงานขอรัฐใช้เป็นกรอบหรือแนวทางการดำเนินการในการจัดทำร่างกฏหมายในระดับพระราชบัญญัติ โดยพ.ร.บ.เหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาฯ
“การปรับปรุงกฏ ระเบียบ ประกาศ กฎกระทรวง ทำได้ทันที แต่การยกเลิก พ.ร.บ.หรือกฎหมายต้องเสนอกฎหมายต่อสภา แต่สิ่งที่ยากสุด คือ ผู้บริหารภาครัฐต้องปรับทัศคติในการให้บริการภาคธุรกิจและประชาชนให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นำไปสู่การส่งเสริมการปฏิรูปและการเดินหน้าปลดล็อกกฎระเบียบอย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ“
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน เพื่อผลักดันการปรับแก้กฎหมายหรือกฎระเบียบ โดยปี 2564-2565 ปลดล็อกไปแล้ว 938 กระบวนงาน
นอกจากช่วยประหยัดต้นทุนได้ปีละ 100,000 ล้านบาท ยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่และเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะช่วยกันเร่งดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างชาติให้เร็วที่สุด ภายการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยเสร็จสิ้นลงเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย.2565 และสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็มีความพร้อมรองรับการลงทุนตรงจากทั่วโลก
“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนภายในประเทศอาจไม่เพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การดึงดูดการลงทุนจึงเป็นเครื่องยนต์สำคัญนับจากนี้ที่จะช่วยนำเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศ และยังจะได้รับประโยชน์จากกลุ่ม Talent ทั่วโลกที่จะเข้ามาทำงานและอยู่อาศัย เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้คนไทย”
ดังนั้น การทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วยการสร้าง Ecosystem เพื่อให้เกิด Ease of Doing Business และ Ease of Investment อย่างจริงจัง จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นต่อสายตานานาชาติ