ส่องตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจีน โอกาสไทยแบ่งเค้กส่วนแบ่งตลาด

ส่องตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจีน โอกาสไทยแบ่งเค้กส่วนแบ่งตลาด

ชาวจีน นิยมเลี้ยงสัตว์ ส่งผลตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน บูม เผยปี 64 มูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท พาณิชย์แนะผู้ส่งออกขยายตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเข้าสู่ตลาดจีน

กระแสความนิยมเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยถือเป็นสินค้าดาวรุ่งที่นำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก ประมาณปีละ 65,000 ล้านบาท จากข้อมูลกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าการส่งออกรวม 74,975.65 ล้านบาทขยายตัว  34.41%  ตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 21,520.36 ล้านบาท  ขยายตัว 59.11% ญี่ปุ่น 8,411.20 ล้านบาท  ขยายตัว 6.56%  และอิตาลี 4,821.45 ล้านบาท ขยายตัว 52.59 %  สินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ อาหารสุนัขและแมว 65,279.63 ล้านบาท  ขยายตัว41.05% อาหารสัตว์อื่น ๆ 9,696.02 ล้านบาท  ขยายตัว2.06%   ซึ่งประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเยอรมนีและอเมริกา 

ทั้งนี้ไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไปยังประเทศในแถบเอเชียกว่า 32 ประเทศ หรือคิดเป็น 42% ของการส่งออกทั่วโลก โดยประเทศนำเข้าที่สำคัญคือ ประเทศญี่ปุ่น ตามด้วย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย และจีน 

ส่องตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจีน โอกาสไทยแบ่งเค้กส่วนแบ่งตลาด

 

เมื่อโฟกัสไปยังตลาดจีน พบว่า  มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการเลี้ยงสัตว์ของชาวจีน ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตขึ้นตามไปด้วย “ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า  ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง และของใช้ในชีวิตประจำวันของสัตว์เลี้ยง ครองส่วนแบ่งตลาด ในสัดส่วนที่มากที่สุด  

โดยผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงในจีนปี 2019 มีมูลค่า 105,800 ล้านหยวน หรือประมาณ 560,740 ล้านบาท และปี 2021 มูลค่าเพิ่มขึ้น เป็น 140,100 ล้านหยวน หรือประมาณ 742,530 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรที่มีฐานะโสด มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสัตว์เลี้ยงมากขึ้น 

ส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ถูกครองโดยบริษัทต่างชาติ โดยอาหารหลัก Royal Canin ครองส่วนแบ่งตลาด 13%  รองลงมา Myfoodie  8%  PureNatural  7%  และ Orijen Cat & Kitten  5%  และอาหารว่าง Myfoodie ครองส่วนแบ่งตลาด18% รองลงมา Wanpy , FancyFeast และ Frisian ครองส่วนแบ่งประมาณ 5 %  แต่อุตสาหกรรมของจีนเริ่มมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทำให้เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น 

ส่องตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจีน โอกาสไทยแบ่งเค้กส่วนแบ่งตลาด

จากข้อมูลดังกล่าวไทย จึงน่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยรายใหม่ ๆ จะขยายเข้าสู่ตลาดได้ซึ่ง”ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์”ให้คำแนะนำว่า การเปิดตลาด สามารถทำได้หลายช่องทาง ทั้งผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังในจีน หรือช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนโดยการร่วมมือกับพันธมิตร คู่ค้าที่น่าเชื่อถือได้ในจีน และเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้ากับเทศกาลสำคัญของแพลตฟอร์มออนไลน์ การทำคลิปวิดีโอสั้น การร่วมกับผู้มีชื่อเสียงท้องถิ่นในการแนะนำสินค้า รวมทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติระดับประเทศทั้งในเมืองหลวง และเมืองรองต่าง ๆ เพื่อทดสอบตลาดในระยะเริ่มต้น ซึ่งปัจจุบันสามารถพบเห็นอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยวางจำหน่ายอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนบ้างแล้ว อาทิ JD.com และ TaoBao เป็นต้น แต่ยังมีแบรนด์ที่ไม่หลากหลายเท่าที่ควร

นอกเหนือจากการทำตลาดผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังในจีนแล้วยังจะต้องศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนในการเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณสมบัติของอาหารสัตว์เลี้ยงให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีนที่มีความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีสารอาหารเสริมครบถ้วน ต้องการผลิตภัณฑ์ไฮเอนด์ ที่มีความเป็นธรรมชาติหรือออร์แกนิก เพราะสินค้ากลุ่มนี้ ผู้เลี้ยงสัตว์วัยหนุ่มสาวชาวจีนให้ความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยง 

ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน จึงเป็นตลาดที่น่าจับตาสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดเพราะอุตสาหกรรมไทยอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยถือว่ามีคุณภาพ มีจุดแข็ง อาทิ มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าคู่แข่งซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารสัตว์เลี้ยงไทยมีความแข็งแกร่ง