เจาะลึก "ปตท." ผู้ผลิต EV ไทย พร้อมหรือไม่? ขึ้นแท่น "ฮับ อาเซียน"
เทรนด์รถอีวีกลายเป็นเทรนด์โลก ซึ่งประเทศไทยจะเดินหน้าต่อยอดเป็นผู้ผลิตรถอีวีต่อไปได้อย่างไร การเปลี่ยนแปลงจากเครื่องสันดาปภายในไปสู่อีวี ภาครัฐเองก็ได้สนับสนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่องและประกาศนโยบาย 30@30 อย่างชัดเจน
นายเอกชัย ยิ้มสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ผู้นำด้านระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร หนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ของ ปตท. กล่าวว่า ปีที่ผ่านมากระแสรถอีวีเข้ามา กลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องปรับตัวเพื่อที่จะให้อยู่อย่างเดิมไม่ได้ จึงมีวิชั่นใหม่คือ Powering Life with Future Energy and Beyondขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่ง
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอีวี ได้ปักธงอยู่ในวิชั่นนี้ ซึ่งมีทั้ง อรุณ พลัส และมีบริษัทในกลุ่มปตท. อย่าง GPSC ที่ทำเรื่องแบตเตอรี่มาซักพัก ส่วน IRPC และ GC ได้ทำเรื่องซัพพลายเชนป้อนวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ ในขณะที่ OR ทำปั๊มน้ำมัน และมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนเป็นอีวี อีโคซิสเต็มเพื่อรองรับรถอีวี ดังนั้น สิ่งที่ปตท.ทำอยู่ คือการดำเนินธุรกิจให้ไปในทิศทางเดียวกันตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ดังนั้นสิ่งที่ขาดคือส่วนสำคัญคือการสร้างอีโคซิสเต็มที่เป็นการต่อยอดอีวี
“อุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาปต้องมี และเป็นโอกาสของรถอีวีด้วยเช่นกัน แต่จะเหมือนไก่กับไข่ว่าอะไรจะเกิดก่อนกัน คนจะซื้อรถจะต้องบอกว่าที่ชาร์จรถเพียงพอหรือยัง คนจะลงทุนสถานีชาร์จ ก็ต้องดูว่ารถเยอะพอหรือยัง อันนี้เป็นปลายทาง ต้นทางก็คือ คนจะลงทุนแบตเตอรี่ก็ต้องดูว่าโรงงานรถมีเยอะพอหรือไม่ ในขณะที่คนจะลงทุนรถ ซัพพลายเชนพร้อมหรือยัง แบตเตอรี่มาหรือยัง เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม เมื่อคลี่ดูแล้วก็จะต้องวางให้ถูกที่ ถูกจังหวะและเวลา ซึ่งหัวใจหลักคือโปรดักชั่น ภาคของการผลิต เมื่อเกิดความร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ ตั้งบริษัทร่วมทุน ลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นโรงงานที่ผลิตรถได้ทั้งคัน มองหาธุรกิจใหม่เหมือนกัน สิ่งที่ฟ็อกซ์คอนน์ให้ อรุณ พลัสคือความเสรี โดยโอเพ่นทั้งภาคการพัฒนาและภาคการใช้กับลูกค้า
“ตอนนี้เรามีลูกค้า 2 กลุ่มคือ กลุ่มสตาร์ทอัพจากจีน ที่ยังมีเทค คอมพานี ที่ทำเรื่องรถ อาทิ แอปเปิ้ล หัวเหว่ย โซนี่ เป็นต้น ที่ยังไม่มีรถเป็นของตัวเอง บางคนที่มีกำลังก็จะลงทุนภาคการผลิต บางคนไม่มีกำลังหรือมีโรงงารอยู่ที่จีนและต้องการขยายแบรนด์ของตัวเอง เราก็เป็นทางเลือก คนอยากมาเปิดตลาดรถในอาเซียนก็มาคุยกับเราเพื่อผลิตให้ได้ อีกกลุ่มที่เป็นแบรนด์รถที่น่าสนใจและยังไม่มีโรงงาน ดังนั้น ลูกค้าเราจะเหมาะกับแบรนด์รถใหม่และรถเก่าที่อยากมาลงตลาดอีวีที่ไม่อยากตกขบวน”
ทั้งนี้ อรุณพลัส ได้พูดคุยกับลูกค้าหลายรายมีทั้งยุโรปและจีน ทั้งใหม่เก่า โดยมีแผนว่าไตรมาส 1/2566 จะมีความชัดเจน ขณะเดียวกันโรงงานต้องสร้างให้เสร็จภายในปี 2566 เพื่อที่ต้นปี 2567 จะเริ่มผลิต โดยช่วงกลางปี 2566 จะมีรถที่ออกมาวิ่งที่เป็นรถของลูกค้า ปตท. ที่มาจ้างผลิต ซึ่งข้อดีคือ การลดเต้นทุนการผลิต
"เมื่อกลุ่มปตท.มีความพร้อมทุกซัพพลายเชนก็สามารถต่อยอดอุตสาหกรรมอีวีได้อย่างครบวงจร สามารถก้าวสู่ผู้นำฮับ อาเซียนให้กับผู้ผลิตรถอีวีได้อย่างครบวงจรและสมบูรณ์แบบได้อย่างแน่นอน"