'สุริยะ' ปลื้ม 'ชุมชนดีพร้อม' นำผลผลิตการเกษตรต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดฝึกอบรม ณ หอประชุมเทศบาลตำบลสันโป่ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดการฝึกอบรมตามโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม”
นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือแม้แต่ชาวบ้าน ที่เคยประกอบอาชีพและมีรายได้จากการสนับสนุนการบริการ หรือการท่องเที่ยว เมื่อสถานประกอบการทยอยปิดตัวลง ก็กระทบต่อคนทำให้ตกงาน ขาดรายได้ บางคนก็เดินทางกลับภูมิลำเนาในจังหวัดต่าง ๆ
วันนี้แม้สถานการณ์โรคระบาดจะเริ่มดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะดีขึ้นในทุกภาคส่วน ยังมีคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ และยังต้องการการฟื้นฟูอาชีพ ทั้งในแง่ของการเพิ่มทักษะ หรือหาอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ของครอบครัว และทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้รับมอบหมายให้จัดทำโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม” เพื่อเติมเต็มกลไกให้เกิดการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการในระดับชุมชน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากด้วยกลไก 7 ขั้นตอน
“กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการฯ คือ ประชาชนหรือคนที่อยู่ในชุมชนนั้น ๆ ทั้งคนที่มีอาชีพอยู่เดิม ประชาชนที่ตกงาน หรือประชาชนที่ต้องการอาชีพเสริม โดยจะประสานบูรณาการผ่านทางผู้นำชุมชน ให้ช่วยคัดเลือกผู้ที่ตรงกับเป้าหมายซึ่งอาจจะเป็นสมาชิกกลุ่มอาชีพของชุมชน ผู้ประกอบการภายในชุมชน หรือคนที่กลับมาจากการเลิกจ้าง ตกงาน หรือคนที่ต้องการมีอาชีพเสริม ไม่เว้นแม้แต่นักศึกษาที่จบใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้”
สำหรับหลักสูตรที่ 1 ที่ดำเนินการอบรมประกอบด้วย 4 วิชา ได้แก่ การทำน้ำยาล้างจาน การทำสบู่เลว การทำเหรียญโปรยทาน และการเพ้นต์ลายกระเป๋าผ้า ซึ่งทั้งหมดนอกจากจะช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนด้วยการทำเองใช้เองแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปสู่การทำเพื่อจำหน่ายได้ด้วย
“ชุมชนที่เข้ามารับการอบรมของเชียงใหม่เป็นสมาชิกของเครือข่ายสตรีในระดับสภาสตรีตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ซึ่งพอมาเรียนรู้แล้ว พวกเขาสามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมไปเพิ่มทักษะ และนำไปต่อยอดเป็นอาชีพในนามกลุ่ม สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงถาวร ทำให้วิถีชีวิตดีขึ้น หรือบางชุมชนมีวัตถุดิบในพื้นที่อยู่แล้ว หลังจากอบรมหลักสูตรที่ 3 ที่ซึ่งเป็นการทำน้ำพริกสมุนไพร
บางชุมชนซึ่งมีอาชีพหลักจะเป็นการทำเกษตร และการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ก็สามารถจะนำเอาความรู้ที่ได้ไปต่อยอดด้วยการนำเอาวัตถุดิบที่เป็นพืชผลทางการเกษตร ทั้งที่เป็นแบบออแกนิค และพืชผักสวนครัว ไปเติมแต่งน้ำพริกสมุนไพรได้”
สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถหาข้อมูลเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เฟซบุ๊กแฟนเพจของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 หรือติดต่อโดยตรงที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 (DIProm Business Service Center)