ไอออน เผย ตลาดโซลาร์มูลค่ากว่า 5 แสนล้าน ชี้ 5 ปีขึ้นแท่นเบอร์ 1 ทั่วโลกใช้งาน
“ไอออน” ย้ำ ตลาดโซลาร์บ้านมูลค่ากว่า 5 แสนล้าน เผยอีก 5 ปี พลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นแท่นทั่วโลกใช้งานสูดสุดอันดับ 1 แนะ รัฐ สนับสนุนนโยบายด้านภาษี-เงินกู้-เปิดเสรีซื้อขายไฟสะอาด หนุนธุรกิจพลังงานสะอาดเติบโตอย่างยั่งยืน
นายพีรกานต์ มานะกิจ ประธานอำนวยการ บริษัท ไอออน เอนเอนร์ยี่ จำกัด กล่าวในงานสัมมนา Next Step Thailand 2023 : ทิศทางแห่งอนาคต หัวข้อ Innovation Driving The Future จัดโดย สปริงนิวส์ โพสต์ทูเดย์ เนชั่น กรุ๊ป ว่า กล่าวว่า ไอออนทำโซลาร์ทุกขนาดตั้งแต่โรงงานและบ้านเดี่ยว ด้วยเทรนด์ของค่าไฟที่แพงขึ้นปีเดียวถึง 30% จึงเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เห็นทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจหันมาสนใจโซลาร์มากขึ้น
ทั้งนี้ ไอออน มีโมเดล 2 รูปแบบ คือ การให้บริษัทฯ ลงทุนให้แล้วจ่ายค่าไฟกับบริษัทฯ และอีกโมเดลคือ ลูกค้าเป็นเจ้าของเองตลอดการใช้งาน ถือว่าประหยัดค่าไฟตั้งแต่วันแรก ลดค่าใช้จ่ายและสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ดี เพราะโซลาร์จะตอบโจทย์ทั้ง 2 ประเด็น ทั้งในเรื่องของการลดค่าไฟและการลดการปล่อยคาร์บอน
“โซลาร์เป็นแหล่งผลิตไฟได้จริง เสมือนโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เราติดตั้งบนบ้าน ซึ่งเมื่อก่อนค่าไฟอาจจะไม่แพงมากทำให้การติดโซลาร์อาจจะมีต้นทุนสูง แต่ทุกวันนี้ต้นทุนลงมากกว่า 90% ดังนั้นจุดคุ้มส่วนตอนนี้โรงงานอยู่ที่ 3-4 ปี ส่วนบ้านราว 5 ปี และยังช่วยลดการใช้พลังงานสกปรก เพราะการปล่อยคาร์บอนปัจจุบันเกิดจากการผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับ 1 ที่ 38% เยอะกว่าภาคขนส่งเดินมาก”
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแค่ 10% การเสียบปลั๊กรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็ยังมาจากแหล่งผลิตที่ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งโซลาร์จะเข้ามาตอบโจทย์โดยตรง อีกทั้ง การติดโซลาร์ตามบ้านเรือนขนาด 5 กิโลวัตต์ จะเสมือนปลูกต้นไม้ 185 ต้น อีกทั้ง ข้อมูลทั่วโลกพบว่าอีก 5 ปี พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์จะเป็นพลังงานทางเลือกอันดับ 1 ที่ทั่วโลกใช้สูงสุด
สำหรับแนวโน้มในการเติบโตของโซลาร์ปี 2023 นั้น มีปัจจัยผลักดัน 3 ส่วน คือ 1. แบตเตอรี่ 2. การสนับสนุนเงินทุน และ 3. การสนับสนุนด้านนโยบาย โดยข้อแรกปัจจุบันโซลาร์ผลิตไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อตกเย็นก็ผลิตไม่ได้ หัวใจสำคัญที่จะมาปลดล็อคการใช้งานโซล่าคือแบตเตอรี่ ซึ่งยังมีต้นทุนสูง ดังนั้น 3-5 ปีนี้ จะแพร่หลายแน่นอน ส่วนข้อ 2 การสนับสนุนด้านเงินทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การสนับสนุนจากภาครัฐและด้านด้านสินเชื่อจากเอกชน
“ปัจจุบันรัฐมีนโยบายบางส่วน เช่น หากการลงทุนในโซลาร์ก็สามารถหักภาษีได้ แต่อาจจะเป็นนโยบายที่จะต้องลุ้นปีต่อปี ซึ่งต่างประเทศใช้เป็นอาวุธในการทำให้โซลาร์แพร่หลายมากขึ้น อีกส่วนคือการสนับสนุนสินเชื่อ แม้ว่าจะมีการปล่อยสินเชื่ออยู่แต่ดอกเบี้ยยังสูงเกิน 20% หรือการเอาบ้านมาค้ำ ดังนั้นเราจะต้องช่วยกันผลักดันโดยปล่อยสินเชื่อสำหรับโซลาร์ นอกจากนี้ นโยบายการขายไฟที่ผลิตจากโซลาร์ ควรมีราคาที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันเราซื้อไฟกว่า 4 บาท แต่ขายแค่ 2.2 บาท”
นายพีรกานต์ กล่าวว่า โซลาร์ภาคประชาชนในกลุ่มอสังหาฯ ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ จากภาพรวมประเทศไทยมีเกือบ 20 ล้านครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าบ้าน 8 แสนหลัง จะเป็นมูลค่าตลาดราว 8 แสนล้านบาท ซึ่งจากการสอบถามบริษัทอสังหาฯ พบว่า ผู้ซื้อบ้านสนใจเรื่องของโซลาร์เป็นมากขึ้น เพราะช่วยลดค่าไฟและลดโลกร้อน ซึ่งโซลาร์จะช่วยแก้ปัญหาอย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้ามีนโยบายแบบอีวีเพื่อช่วยลดภาษีจะช่วยขับเคลื่อนการใช้โซลาร์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมโซลาร์ไม่ใช่เป็นสิ่งใหม่อาจจะมีมาตั้งแต่ยุค 1980 แต่ปัจจุบันราคาถูกลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาลดลง 90% ดังนั้น หากสนใจอยากติดโซลาร์ก็ไม่ต้องรอ เพราะเทคโนโลยีพัฒนามาไกล เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เวียดนาม พบว่าปัจจุบันเวียดนามเติบโตก้าวกระโดดแซงหน้าเราไกลมาก ติดอันดับ Top 9 ของโลกในเรื่องของโซลาร์
"สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือ การสนับสนุนที่ชัดเจนและระยะยาว ไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าจะต่อหรือไม่ รวมถึงสนับสนุนด้านการเงินส่วนนโยบายการขายไฟกับภาครัฐ ซึ่งหลายประเทศเปิดให้เอกชนสามารถซื้อขายไฟกันเองได้แล้ว ซึ่งหากรัฐสนับสนุนจะเป็นกลไกขับเคลื่อนตลาดโซลาร์ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้เร็วขึ้น”