ภาคธุรกิจผนึกค้านขึ้นค่าไฟ เตรียมขึ้นราคาสินค้า-บริการ
ภาคธุรกิจหวั่นผลกระทบขึ้นค่าไฟ ผนึกกำลังค้าน ส.อ.ท.ชี้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องทยอยขึ้นราคาในปีหน้าเฉลี่ย 5-12% หวั่นค่าไฟไทยแพงที่สุดในอาเซียน กระทบดึงลงทุน ด้าน "สมาคมโรงแรมไทย” ระบุยังอยู่ช่วงฟื้นจากโควิด ดัมพ์ราคาห้องพักดึงดูดนักท่องเที่ยว
การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ซึ่งจะทำให้อัตราค่าไฟฟ้ารวมอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย โดยรัฐบาลจะมีมาตรการดูแลภาคครัวเรือนทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ ในขณะที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น
วันนี้ (23 ธ.ค.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ผนึกกำลังสมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมโรงแรมไทย และตัวแทนภาคธุรกิจ ร่วมกันชี้แจงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่า Ft และข้อเสนอต่อรัฐบาล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า หากรัฐพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน จะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าในปีหน้า โดยเฉลี่ยประมาณ 5-12% ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้น แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่มีการใช้ไฟมาก จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 9-12% อาทิ ปิโตรเคมี เหล็ก ปูนซีเมนต์
กลุ่มที่มีการใช้ไฟปานกลาง จะปรับขึ้นราคาราว 6-8% อาทิ ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล ยาง และกลุ่มที่ใช้ไฟน้อย จะปรับขึ้นราคาไม่เกิน 5% อาทิ ยา เครื่องสำอาง สิ่งพิมพ์ เครื่องนุ่งห่ม
นอกจากนี้ ในช่วงที่เทรนด์การย้ายฐานการผลิตเข้าสู่ภูมิภาคกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด การปรับขึ้นค่าไฟครั้งนี้จะทำให้ไทยมีราคาค่าไฟสูงที่สุดในภูมิภาคซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามที่มีค่าไฟ 2.88 บาทต่อหน่วยและยังมีการประกาศตรึงราคาไว้อย่างต่อเนื่อง
ชี้ขึ้น 2 งวดติดต้นทุนพุ่ง
แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท.ระบุว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของภาคอุตสาหกรรมมี 5 เหตุผลที่ต้องการเสนอให้ภาครัฐชะลอปรับขึ้นค่า Ft ของเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ประกอบด้วย
1. การปรับขึ้นอีกในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 จะเป็นการปรับค่าไฟฟ้าขึ้นที่รุนแรงมากถึง 2 งวดติดต่อกัน และจะส่งผลกระทบรุนแรงมากจนยากต่อการปรับตัวของทุกภาคส่วน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยเกินคาด
2. กกพ. ได้ประมาณการต้นทุนค่าไฟฟ้าว่าจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ว่าจะมีการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคา LNG ลดลงสู่ภาวะปกติ จึงเป็นโอกาสให้ชะลอการปรับขึ้นค่า Ft ไว้ก่อน เมื่อต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงต่ำกว่าค่า Ft แล้ว จึงบริหารค่า Ft อย่างเหมาะสมเพื่อชดเชยและลดภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ในปัจจุบัน
3. ภาระค่าไฟฟ้าส่วนที่ กฟผ. แบกรับภาระแทนไปก่อนนั้น อยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ. สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้น และยาวนานขึ้นได้มากกว่า 2 ปี โดยวิธีการต่างๆ เช่น การเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง เป็นต้น
4. เร่งตัดทอนกาารลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ในสถานการณ์ที่ค่าไฟฟ้าสูงมาก เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่าปกติ จนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับภาระค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสูงถึง 30,665 ล้านบาท สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 และ 32,420 ล้านบาท งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 เพื่อให้ทาง กกพ. สามารถเรียกคืนเงินส่วนที่ตัดทอนได้นี้ (Claw Back) มาช่วยลดค่าไฟในช่วงวิกฤตราคาไฟฟ้านี้
5. เร่งพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ และการทำนโยบายด้านพลังงานให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการภาคผลิตและบริการ รวมถึงผู้ลงทุน
ไม่ใช่ช่วงเหมาะสมขึ้นค่าไฟ
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นค่าไฟ เพราะจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรม เพราะค่าไฟเป็นต้นทุนหลักอันดับ 2 รองจากค่าจ้างพนักงาน ประกอบกับตอนนี้ภาคท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวด้านรายได้ หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 มานาน 3 ปี มีปัญหาหนี้สินจากการขาดทุนระยะยาว และยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่งกลับมาดีขึ้นในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ดีมานด์การเดินทางยังไม่ฟื้นตัว 100%
ขณะที่ซัพพลายโรงแรมที่พักยังเท่าเดิม หรือหายไปประมาณ 3-5% จากวิกฤติโควิด-19 ทั้งยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญการแข่งขันสูง ลดราคาห้องพักแข่งกันเพื่อดึงลูกค้า ไม่สามารถขึ้นราคาห้องพักตามต้นทุนที่สูงขึ้น หรือผลักภาระแก่ลูกค้าได้
“ในภาวะปกติที่มีรายได้คงที่ โรงแรมมีต้นทุนค่าไฟเฉลี่ย 5% ของรายได้ แต่ในภาวะไม่ปกติ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่าเดิม สัดส่วนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 20% นั่นหมายความว่ากำไรลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องคุมค่าไฟ เช่น ลงทุนซื้อเครื่องจักรประหยัดไฟ หรือใช้พลังงานทางเลือก แต่ด้วยวิกฤติโควิดกระทบต่อธุรกิจโรงแรม ทำให้หลายแห่งไม่มีเงินทุนไปลงทุนด้านนี้”
นอกจากนี้สมาคมฯ ยังอยากให้รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนแก่ภาคธุรกิจโรงแรม เช่น ซื้อเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่สามารถช่วยลดต้นทุนค่าไฟได้ รวมถึงออกมาตรการลดหย่อนภาษีกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลงทุนด้านการใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ เพิ่มขึ้น
ร้องมาตรการช่วยลดต้นทุน
ด้านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน พ.ย.2565 จัดทำโดยสมาคมฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจระหว่างวันที่ 11-27 พ.ย.2565 มีผู้ตอบแบบสำรวจ 113 แห่ง ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐ
โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการ คือ
1.มาตรการช่วยเหลือด้านการลดต้นทุน เช่น ลดราคาวัตถุดิบอาหาร ลดค่าน้ำ-ค่าไฟและลดภาษีต่างๆ
2.มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน เช่น สินเชื่อฟื้นฟู/ดอกเบี้ยต่ำที่เข้าถึงง่ายขึ้น (ดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ต่อปี และเพิ่มวงเงิน) รวมถึงต้องการให้ ธปท.ขยายเวลาลดภาระอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้น
3.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 หรือมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยอื่นๆ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมภายในจังหวัด นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐปรับเพิ่มงบสำหรับการประชุมให้สอดคล้องกับต้นทุนผู้ประกอบการที่สูงขึ้น
4.มาตรการด้านแรงงาน เช่น กำหนดค่าแรงขั้นต่ำของโรงแรมให้เป็นมาตรฐาน สนับสนุนฝึกอบรมพนักงาน และสร้างบุคลากรรองรับตลาดในอนาคต เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงาน
“สำหรับไตรมาส 4 นี้ โรงแรมส่วนใหญ่ 75% คาดว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรก มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของทั้งราคาวัตถุดิบ ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และค่าจ้างแรงงาน เช่น ปรับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำ และปรับขึ้นเพื่อดึงดูดแรงงาน ขณะที่ผลของค่าเงินบาทอ่อน และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นไม่ค่อยกระทบต้นทุนธุรกิจมากนัก”