‘เอกชนเพิ่มค่าแรงพนักงาน’ความหวังฟื้นเศรษฐกิจรัฐบาลญี่ปุ่น

‘เอกชนเพิ่มค่าแรงพนักงาน’ความหวังฟื้นเศรษฐกิจรัฐบาลญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเพิ่มคาดการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจสำหรับปีงบประมาณ 2566 โดยพิจารณาจากแนวโน้มค่าใช้จ่ายทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และการปรับเพิ่มค่าแรงอย่างมากของภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบริโภค

การปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจ  ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดทำแผนงบประมาณประจำปีของรัฐบาลที่มีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์ (22 ธ.ค.) ย้ำให้เห็นว่า ญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง อันเนื่องมาจากการเปิดประเทศซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้า

“อุปสงค์ที่แข็งแกร่งในภาคเอกชนจะขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2566” รัฐบาลญี่ปุ่นระบุในแถลงการณ์ แม้จะเตือนว่า มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อ ภาวะคอขวดของอุปทาน และตลาดที่มีความผันผวน

รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจรายครึ่งปีฉบับใหม่ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่แท้จริงของญี่ปุ่นจะขยายตัว 1.5% ในปีงบประมาณที่เริ่มต้นในเดือนเม.ย. 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.1% ในคาดการณ์ก่อนหน้าที่เผยแพร่ในเดือนก.ค.

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นคงตัวเลยคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สำหรับปีงานประมาณ 2566 เอาไว้ที่ 1.7% ตามเดิม โดยให้เหตุผลว่า มาตรการให้เงินอุดหนุนของรัฐบาลจะลดต้นทุนค่าน้ำมันและสาธารณูปโภค ซึ่งจะสามารถชดเชยค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น 
 

 ทั้งนี้ การประมาณการล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่นสะท้อนว่า รัฐบาลคาดหวังว่าบริษัทเอกชนจะเพิ่มค่าแรงในปีหน้าเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์และการนำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

 ด้านองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) เปิดเผยเมื่อวันพุธ (21 ธ.ค.) ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นเดือนแรกที่มีการเปิดพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบแบบเต็มเดือน จุดประกายความหวังให้กับภาคการท่องเที่ยวอย่างเป็นวงกว้างในปีหน้า

 JNTO ระบุว่า ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 934,500 คนในเดือนพ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้น 87% จากเดือนต.ค. หลังจากที่ญี่ปุ่นผ่อนคลายมาตรการสกัดโรคโควิด-19 ในวันที่ 11 ต.ค. ขณะที่ ญี่ปุ่นต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 17,766 คนในม.ค.
 

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงินด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในการประชุมครั้งล่าสุดนั้น เป็นการตัดสินใจที่มีเหตุผล แต่คณะกรรมการบีโอเจจำเป็นต้องสื่อสารเรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายในครั้งนี้ให้ตลาดเข้าใจอย่างชัดเจน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บีโอเจสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาดในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันอังคาร (20 ธ.ค.) ด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% ซึ่งทำให้นักลงทุนมองว่าบีโอเจ กำลังส่งสัญญาณเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน หลังจากที่คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Monetary Policy) มาเป็นเวลานาน

“รานิล ซาลกาโด” หัวหน้าฝ่ายกิจการญี่ปุ่นของไอเอ็มเอฟ กล่าวในวันพุธ (21 ธ.ค.) ว่า “การตัดสินใจดังกล่าวของบีโอเจนับว่ามีเหตุผล เมื่อพิจารณาจากการที่บีโอเจมีความกังวลเกี่ยวกับกลไกตลาด รวมทั้งความไม่แน่นอนของภาวะเงินเฟ้อ แต่การสื่อสารกับตลาดให้ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องนี้จะช่วยลดกระแสคาดการณ์ในตลาด และจะทำให้ความมุ่งมั่นของบีโอเจที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อนั้นมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น”

นักวิเคราะห์หลายคน ซึ่งรวมถึง“มาซามิชิ อาดาชิ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นจากบริษัทยูบีเอส ซิเคียวริตีส์กล่าวว่า การที่“ฮารุฮิโกะ คุโรดะ” ผู้ว่าการบีโอเจสร้างปรากฏการณ์ช็อกตลาดด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรนั้น เป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนทราบว่าบีโอเจมีแผนที่จะยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ

“เรามองว่า การดำเนินการของบีโอเจในการประชุมครั้งนี้ถือเป็นย่างก้าวที่จะนำไปสู่การถอนนโยบายผ่อนคลายการเงิน ไม่ว่าบีโอเจ จะเรียกว่าอะไรก็ตาม และนี่จะเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ภายใต้การนำของผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่” อาดาชิ กล่าว

ทั้งนี้ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจคนปัจจุบัน จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนเม.ย.ปีหน้า