กกร.จี้ชะลอขึ้นค่าไฟ ห่วงกระทบต้นทุนสินค้า
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.วอนภาครัฐเร่งแก้ปัญหาค่าไฟแพงกระทบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดันราคาสินค้าและบริการพุ่ง กระทบค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ ภาคเอกชนได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลขอให้ทบทวนการปรับขึ้นค่า Ft เดือน มกราคม-เมษายน 2566 เนื่องจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.69 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 20.5% จะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนหลักของภาคการผลิตและภาคบริการ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและครัวเรือน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2566 จาก 3% อาจแตะที่ 3.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้น ยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ เนื่องจากภาคการผลิตและภาคบริการเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับข้อเสนอที่ กกร.ได้ยื่นต่อรัฐบาลให้พิจารณาแนวทางในการบรรเทาภาระผู้ประกอบการจากการปรับอัตราค่าFt เดือนมกราคม - เมษายน 2566 ครอบคลุม 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1. ตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัยโดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือแต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือกลุ่มบ้านอยู่อาศัย 2. ขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้ กฟผ. ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ จัดสรรวงเงินให้ยืม และชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง
3. ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยปรับค่า Ft แบบขั้นบันได สำหรับผู้ใช้ไฟน้อยก็จ่ายในอัตราที่ถูกกว่าผู้ที่ใช้ไฟมากให้จัดเก็บคนละอัตรา รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวหรือบริหารจัดการพลังงาน
4. รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น โดยส่งเสริมการติดตั้ง Solar Cell เพื่อใช้เองให้มากขึ้น และ 5. มีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน หรือ กรอ. ด้านพลังงาน