"วิสัยทัศน์ไกล มองภาพใหญ่ เมื่อปีใหม่มาเยือน"
ปีค.ศ. 2022 ผู้ที่มีทรัพยากรพอเพียง และจังหวะชีวิตที่ดี ก็อาจจะมองปีนี้ว่าเป็นโอกาสปรับตัว แต่ผู้ที่เจอมรสุมแบบตั้งตัวไม่ทัน ก็ต้องภาวนาว่าปีหน้าจะดีขึ้น โรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาเศรษฐกิจ อยากทิ้งไว้ในปีเก่า
เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศในปีนี้ ที่เด่นก็คงเป็นเรื่อง รัสเซียบุกยูเครน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ความรุนแรงผันผวนของสภาวะอากาศ เงินเฟ้อสินค้าแพง นโยบายผ่อนคลายโควิดในจีน การประท้วงในอิหร่าน การเมืองในลาตินอเมริกาเอนเอียงไปทางซ้าย วิกฤติในปากีสถานทั้งการเมืองเศรษฐกิจและน้ำท่วม และการเมืองในอังกฤษ
เงินเฟ้อ น้ำมันแพง ทุนจีนสีเทา คอรัปชั่นในระบบราชการ และเสียงกลองเลือกตั้ง เป็นประเด็นใหญ่ใกล้ตัวในปีนี้ของไทย
วันที่ 22 ธ.ค. วุฒิสภาของสหรัฐลงมติอนุมัติงบประมาณรัฐบาล 1.65ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับปีที่แล้ว 1.5ล้านล้านดอลาร์ น่าสังเกตคืองบประมาณการทหารเพิ่มขึ้นมาก อยู่ที่ 858,000ล้านดอลลาร์
ตลาดหุ้นในสหรัฐระยะนี้ ยังผันผวน ไม่รู้จะจบสิ้นปีอย่างไร สัปดาห์นี้กระเตื้องขึ้นมา แต่กลับลงไปเป็นสีแดงอีก S&P 500 ต้นปีเริ่มที่ 4,677จุด ถึงวันนี้เหลืออยู่ 3,781 จุด หายไป 20% ส่วน DOW เริ่มต้นที่ 36,321จุด มาถึงวันนี้ 32,710 จุด ลดไป 10%
จีนเปลี่ยนนโยบายโควิด วันที่ 7 ธ.ค. ให้ประชาชนเริ่มใช้ชีวิตเป็นปกติ หลังจากที่เข้มงวดกันมาสามปี
ยังประเมินยากว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ข่าวจากสื่อมวลชนส่วนใหญ่ออกแนวว่า จีนจะเจอปัญหาโควิดสองคลื่นใหญ่ ในเดือนมกราคม และมีนาคมปีหน้า จำนวนผู้ติดเชื้อคาดว่าจะมีหลายร้อยล้านคน และอัตราการตาย 5,000 คนต่อวัน ผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่ม รวมทั้งในฮ่องกง เตือนว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในจีนอาจเกินกว่า 1,000,000 คน
สุขภาพจิตที่กำลังย่ำแย่ และความไม่มั่นใจของชาวจีนต่อนโยบายของรัฐนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค และขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะจีนเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าส่งออกเป็นหลัก การประเมินยอดซื้อขายระหว่างประเทศ รวมทั้งไทยกับจีนนั้น แม้ได้วางแผนและตัวเลขไว้หลายระดับ แต่ก็ต้องเตรียมปรับตัวตามสถานการณ์จริง
กลุ่มนักธุรกิจที่รวยมากในจีน ที่เคยมีทรัพย์สินสูงกว่า 5,000 ล้านหยวน (720 ล้านดอลลาร์) จำนวนลดไปกว่า 160 คน เหลืออยู่เพียงประมาณ 1,300 คน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ทรัพย์สินของชาวจีนชั้นกลางหดหายไปปีนี้ประมาณ 18% ซึ่งมาจากการลดมลค่าของตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ น่าเป็นห่วงหากเกิดความตึงเครียดทางการเมืองในจีน ก่อนมีการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญของผู้บริหารประเทศเป็นทางการในเดือนมี.ค.
ส่วนทางสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะควบคุมราคาพลังงานได้แล้ว แต่ยังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ถ่วงดึงนโยบายเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สภาผู้แทนชุดใหม่ซึ่งจะเริ่มต้นภายในวันที่ 3 ม.ค. ปีค.ศ. 2023 พรรครีพับลิกันได้เสียงข้างมากและได้ตำแหน่งประธานสภา คาดว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ จ้องทำลายมากกว่าร่วมมือ จะส่งผลต่อวิกฤตรอบโลก
สงครามในยูเครนอยู่ในช่วงฤดูหนาว ฝ่ายรัสเซียกำลังรวบรวมกำลังตั้งตัวใหม่ หลังจากสูญเสียเกินคาดเป็นเวลากว่า 300 วัน การโจมตีโดยขีปนาวุธรัสเซียต่อสาธารณูปโภคในยูเครน ทำให้ประชาชนกว่า16ล้านคนโยกย้ายถิ่นฐาน และอีกหลายล้านคนต้องเผชิญชะตากรรม เสี่ยงชีวิตและความลำบาก
อเมริกาเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือยูเครนอีก 45,000ล้านดอลลาร์ จากเดิม 40,000ล้านดอลลาร์ โดยอ้างว่าไม่ใช่เป็นการกุศล แต่เป็นการลงทุนเพื่อปกป้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และกฎหมายสากลของโลก
การเมืองภายในรัสเซียเองก็เดายากว่าจะออกมาเป็นรูปใด ผู้นำการเมืองและการทหารรัสเซียตั้งความหวังว่า ยูเครนอาจไม่สามารถรักษาแรงสนับสนุนจากพันธมิตรฝ่ายตะวันตกไว้ได้เป็นระยะเวลายาว และต้องยอมเจรจาในที่สุด คลื่นผลักดันให้ผู้นำเปลี่ยนแปลงทิศทางเพิ่มขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญคือคาซัคสถานเริ่มมีท่าทีแข็งข้อ ความสัมพันธ์กับจีนในเชิงลึกยังเป็นที่น่าวิเคราะห์
ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ส่งสัญญาณชัดเจน เปลี่ยนนโยบายการป้องกันประเทศ กระแสสนับสนุนทางการเมืองเพิ่มขึ้น ให้ระดมทุกฝ่ายหันมาพัฒนาและผลิตอาวุธสงคราม โดยอ้างความขัดแย้งในภูมิภาค โดยเฉพาะตัวอย่างของสงครามที่อาจเกิดขึ้นได้จากจีน รัสเซีย หรือเกาหลีเหนือ
ทีนี้เราหันมามองภาพใหญ่ วิสัยทัศน์ไกล หาแสงสว่างปลายอุโมงค์ในปีหน้า
การที่ไทยเป็นมิตรกับทุกฝ่าย พยายามแก้ไขปัญหาภายในประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดรับนักท่องเที่ยว และเชิญชวนการลงทุน โดยเน้นความเป็นกลาง และเป็นมิตรกับทุกฝ่ายนั้น เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ไทยมีต้นทุนภูมิรัฐศาสตร์ พื้นฐานทางเศรษฐกิจพอดีพองาม ไม่ถูกไม่แพงเกินไป ทำให้เรามีโอกาสรับการลงทุนจากต่างประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีสำคัญ และตลาดเพื่อการส่งออก
เราอาจไม่ได้ทุกอย่าง หรืออาจจะไม่ได้ในสิ่งที่เราอยากจะได้ แต่ก็จะมีผลลัพธ์ที่ดีพอสมควร ควรเลือกคุณภาพมากกว่าปริมาณ
การเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในอีกไม่กี่เดือนนี้ ก็คงจะวุ่นวายพักหนึ่ง แต่ในที่สุดก็คงหาทางประนีประนอม เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม และก็ลงตัวยอมรับหน้าที่บทบาทจำกัด ได้บ้างเสียบ้าง ตามวัฒนธรรม
สิ่งที่จะมาเป็นระลอก โดยเฉพาะปีหน้า คือความกดดันจากมหาอำนาจให้ไทยเลือกฝ่าย แต่ต้องเตือนใจกันว่า เมื่อมีใครมาชวนให้เรา ตัดแขนซ้ายหรือแขนขวา เหลือไว้แขนเดียว เราก็ไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติตาม
ประวัติการประคับประคองประเทศให้รอดพ้นจากการครอบครองของมหาอำนาจในอดีตนั้น ควรเป็นบทเรียนให้เรานำมาปฏิบัติในปัจจุบัน แม้ฝ่ายหนึ่งคิดว่าการที่ไทยรอดพ้นการเป็นอาณานิคมในอดีตนั้น เป็นเพราะความปราณีของมหาอำนาจ หรืออีกฝ่ายหนึ่งคิดว่าเป็นความชาญฉลาดของผู้นำไทยในอดีต ไม่จำเป็นต้องสรุปว่าใครผิดใครถูก ตั้งสติ สามัคคี รับทุกสถานการณ์ในปีใหม่ครับ