"ธุรกิจ" ชี้ปัญหาโครงสร้างพลังงาน รัฐดูแลล่าช้า-ผิดทิศทาง
เอกชนชี้ต้นเหตุค่าไฟไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เกิดจากโครงสร้างพลังงาน พึ่งพึงแก๊สธรรมชาติเป็นสัดส่วนสูงทำให้ราคาไฟฟ้าผันแปรตามต้นทุน รวมทั้งซัพพลายโรงไฟฟ้าที่เกินความต้องการในปัจจุบัน ระบุรัฐควรปลดล็อกหนุนกลไกตลาดเสรี
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันราคาพลังงานมีความผันผวน และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจถดถอยที่เป็นความเสี่ยง ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการและครัวเรือน เป็นกลุ่มหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก
โดยข้อมูลจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยว่าการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าประจำงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย ย่อมส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า และกระทบต่อเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2566 จาก 3.0% อาจแตะที่ 3.5%
ทั้งนี้ ส.อ.ท.มองว่า สาเหตุหลักที่ค่าพลังงาน และค่าไฟฟ้าของประเทศไทยสูงกว่าตลาด เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง เนื่องจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) พึ่งพาก๊าซธรรมชาติ (LNG) มากเกินไป และยังขาดแผนสำรองที่ดีในการบริหารก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ส่งผลให้มีการผลิตก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยต่ำกว่าแผนมาก
อีกทั้งประเทศเมียนมาลดการส่งก๊าซลง ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร (Spot LNG) ที่มีราคาสูงมากกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเข้ามาเสริม
ทั้งนี้ โครงสร้างราคาไฟฟ้าที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากแก๊สธรรมชาติและถ่านหินในการผลิต ทำให้ราคาค่าไฟมีความผันแปรตามราคาต้นทุน ซึ่งในระยะยาวมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น แตกต่างจากการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนคงที่
นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ความต้องการขายสูงเกินไป และการเปิดการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความจำเป็น จึงก่อให้เกิดความต้องการซื้อของโรงไฟฟ้ามากกว่าความต้องการขาย (Oversupply) ถึง 52% ส่งผลให้เป็นภาระต้นทุนของประเทศไทยในระยะยาว เนื่องจากต้นทุนค่าความพร้อมจ่าย (AP)
อีกหนึ่งสาเหตุ คือ ประเทศไทยยังขาดกลไกตลาดเสรีของพลังงานและไฟฟ้าที่ยังไม่มี Third Party Access ที่เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถใช้ระบบส่ง จำหน่ายไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าผ่านสายส่ง และจำหน่ายของการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงานได้
MYH'OUH ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การปรับขึ้น-ลงค่าไฟฟ้าจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และโอกาสการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย