7 เทรนด์นวัตกรรมมาแรง ปี 2566 โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

7 เทรนด์นวัตกรรมมาแรง ปี 2566 โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

NIA ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ มีเป้าหมายสูงสุดที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” และติดอันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ มีเป้าหมายสูงสุดที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” และติดอันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573 โดยหนึ่งในกลไกสำคัญคือการเร่งปั้นสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมให้สอดรับกับเทรนด์โลก ซึ่งพบว่าในปี 2566 มี 7 เทรนด์นวัตกรรมที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ได้แก่ ขาขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงาน (New energytech on the rise) โดยเปลี่ยนจากการใช้พลังงานปิโตรเลียมเป็น “พลังงานหมุนเวียน” เช่น ระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์แบบเข้มข้น การแปลงพลังงานจากแหล่งความร้อนใต้พิภพ พลังงานชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอนาคตก็คือ “ระบบสำรองพลังงานประสิทธิภาพสูง” เช่น การสำรองไฟฟ้าสำหรับระบบโครงข่ายพลังงาน เทคโนโลยีสำรองไฟฟ้าแบบวัสดุลิเทียมไอออนขั้นสูง ระบบแบตเตอรี่ทางเลือก เป็นต้น

การฟื้นสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอากาศยาน (Regenerating travel and aviation industries) แม้ว่าการเปิดประเทศภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่รูปแบบการเดินทางและท่องเที่ยวมีการปรับเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ตั้งแต่การพัฒนารูปแบบตลาดที่ลดการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ การอำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารจัดการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ชุมชน รวมถึงการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่อย่าง Workation หรือ Stacation ในด้านธุรกิจการบินก็ต้องนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการปัญญาการขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากรในห่วงโซ่ การให้บริการที่ลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาและบริหารจัดการเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เล่นใหม่จากวงการเทคโนโลยีเชิงลึก (Deeptech startup, a newcomers) เป็นคำตอบของการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก โดยเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน ยากต่อการเลียนแบบ จึงสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันบนฐานของทรัพย์สินทางปัญญา สามารถผลักดันธุรกิจให้ขยาย - สร้างตลาดใหม่ได้ในระดับนานาชาติได้ อีกทั้งยังได้รับความสนใจจากผู้ใช้หรือนักลงทุนทั้งในกลุ่มเกษตร อาหาร อวกาศ เทคโนโลยีเสมือนจริง เซนเซอร์ ฯลฯ เนื่องจากเป็นผู้ที่สร้างความแตกต่างให้กับวงการเหล่านั้น ทั้งนี้ พบว่าการระดมทุนของธุรกิจดีพเทคเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี 2561 ถึงปี 2565 จาก 15 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็น 60 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยกลุ่มตัวอย่างของนวัตกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ของ Apple วัคซีนโควิด 19 รถไฟฟ้า Tesla ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงพลังของดีพเทคที่อาจจะเป็นเคลื่นลูกที่ 4 ในการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การกลับมาผงาดอีกครั้งของญี่ปุ่นด้วยซอฟต์พาวเวอร์ (Return of Japan Soft Power) ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความโด่ดเด่นในการใช้ซอร์ฟพาวเวอร์มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่อดีต ซึ่งไม่ได้เป็นแค่การเติบโตของอุตสาหกรรม แต่ยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้กับประเทศในเวทีสากล เช่น การนำซอร์ฟพาวเวอร์มากระตุ้นและใช้งานผ่านกิจกรรมโอลิมปิก 2020 โดยนำจุดเด่นของ MAG culture (หนังสือการ์ตูน; manga, อะนิเมะ; anime และ เกม; games) และตัวละครอย่างมาริโอ้ โปเกมอน หรือ โดราเอมอน มาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คน ส่วนประเทศไทยภาครัฐได้มีแนวทางการขับเคลื่อนซอร์ฟพาวเวอร์ภายใต้กรอบ 5F ได้แก่ Food (อาหาร) Film (ภาพยนตร์และ วีดิทัศน์) Fashion (ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น) Fighting (ศิลปะการต่อสู้-มวยไทย) และงานเทศกาล (Festival) โดยนวัตกรรมที่คาดว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อน 5F ของไทยที่เห็นได้ชัดคือ NFT (Non-fungible Token) โดยเฉพาะในตลาดนักสะสมของหายาก และเป็นช่องทางสำหรับศิลปินและผู้ผลิตผลงานศิลป์หน้าใหม่ ทำให้ระบบนิเวศของผลงานสร้างสรรค์ไทยเติบโตและผลักดันซอร์ฟพาวเวอร์ไทยให้เข้มแข็ง

 

ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์เนื้อหาจากข้อมูล (Sophisticated AI for data-driven content creation) ดิจิทัลได้ปฏิวัติภูมิทัศน์สื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงผู้คน และเปิดทางให้กับ “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” หลายล้านคนเข้ามาสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสื่อรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Creator Economy” โดยเฉพาะผู้สร้างที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มนุษย์ได้ออกแบบ - สอนไว้ในการสร้างไอเดียและเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างคอนเทนท์ที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนในระดับปัจเจกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.5 เมื่อเทียบกับการใช้งาน AI ในด้านอื่น นอกจากนี้ AI ยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงในมิติอื่น เช่น Virtual influencer ที่สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการสื่อสารได้ง่ายกว่าการใช่มนุษย์ มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ บุคลิกภาพโดดเด่นดึงดูดสายตาไม่ต่างจากนางแบบที่เป็นมนุษย์จริง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการรักษาภาพลักษณ์และลดต้นทุนของแบรนด์ได้อีกด้วย

 

เข้าสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีอาหาร (Next generation of foodtech) การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก พฤติกรรมการบริโภคที่เน้นอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีชีวภาพมีส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาทรัพยากรอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหาร ต่อยอดกระบวนการผลิตอาหารให้ตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อนไปพร้อมกับสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนต่อโลก เช่น เนื้อที่ทำจากพืช เนื้อสัตว์ที่เพาะในห้องแลป อาหารจากเครื่องปริ้นสามมิติ อาหารทางเลือกที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือผ่านการปรุงแต่งน้อย อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อาหารที่อัดแน่นด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดอาหารแห่งอนาคตของโลกในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 0.31 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับปี 2563

 

การลงทุนขนานใหญ่ในเทคโนโลยีความมั่นคง (Hyper Spending on Defense Tech) การพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารเป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญเพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงและทางเศรษฐกิจ เช่น การเตรียมความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์และความมั่นคงข่าวสารทำให้เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรมทางการทหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซีย และสหราชอาณาจักรที่มีการใช้จ่ายงบประมาณด้านนี้สูงสุด ส่วนนวัตกรรมที่มีความสำคัญได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการบินเหนือเสียง หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และอาวุธพลังงานสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงประเทศไทยรัฐบาลก็มีนโยบายในการผลักดันให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็น S-Curve ตัวที่ 11 โดยเน้นการส่งเสริมและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสองทาง (Dual-Use) ที่สามารถนำใช้งานได้ทั้งภารกิจด้านความมั่นคงและสำหรับภาคพลเรือนทั่วไปเชิงพาณิชย์

 

ในปี 2566 นี้ NIA จะส่งเสริมนวัตกรรมภายใต้กลยุทธ์การดำเนินงานระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยแบ่งเป็น 4 กลยุทธ์ ได้แก่ พัฒนาระบบนวัตกรรมไทยเป็นระบบที่เปิดกว้างเชื่อมโยงความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับเวทีสากล สร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนอย่างทั่วถึง เพื่อเพิ่มจำนวนธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประเทศ พลิกโฉมระบบการเงินนวัตกรรมไทย ผ่านการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบการเงินนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนการเติบโต และเข้าถึงได้ ช่วยให้ธุรกิจนวัตกรรมสามารถเติบโตและมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สร้างระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและเชิงระบบด้วยการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์เครือข่ายข้อมูลนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจบนหลักฐานเชิงประจักษ์ของนักนโยบายและผู้ประกอบการในการสร้างและพัฒนานวัตกรรม และยกระดับ NIA ให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูงที่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงระบบนวัตกรรม และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัล ปรับใช้มาตรฐานการบริหารจัดการ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร

 

NIA จะเปลี่ยนบทบาท “สะพานเชื่อม (System Integrator)” สู่ “ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal Facilitator)” เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความเข้มแข็งของพื้นที่ และการพัฒนาศักยภาพและการเติบโตของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน รวมถึงเร่งผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์โลก

 

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปี 2566 ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมที่ดีขึ้น โดยเฉพาะมิติด้านเทคโนโลยีเชิงลึก และการท่องเที่ยว โดยคาดว่าผลการจัดอันดับนวัตกรรมโลกยังมีโอกาสก้าวไปสู่อันดับที่ดีขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ในอันดับ 43 โดยมีปัจจัยส่งเสริมคือ กลุ่มปัจจัยด้านระบบธุรกิจโดยเฉพาะสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมด้านวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ (อันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3) ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนไทยที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น และกลุ่มปัจจัยผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ที่ภาพรวมปรับตัวดีขึ้น 6 อันดับ (อันดับที่ 49) โดยมีจุดแข็งด้านการส่งออกสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ (อันดับที่ 1) นอกจากนี้ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยขยายตัวได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น การเปิดพื้นที่ทดลองธุรกิจสำหรับภาคเอกชน โครงการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจอาชีพและธุรกิจนวัตกรรม ซึ่ง NIA พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ทุกเป้าหมายก้าวไปสู่เวทีนานาชาติ