“อาคม”ชี้ปี66ไทยเผชิญแรงต้านจากเศรษฐกิจโลกถดถอย

“อาคม”ชี้ปี66ไทยเผชิญแรงต้านจากเศรษฐกิจโลกถดถอย

“อาคม”ชี้เศรษฐกิจไทยในปี 66 เผชิญแรงงานสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่ ท่องเที่ยวและบริโภคยังเป็นแรงหนุนสำคัญ รวมถึง การลงทุนภาครัฐมั่นใจไม่เจอปัญหาขาดดุลแฝด เชื่อรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่ม ขณะที่ ทยอยลดขาดดุลงบประมาณ ประเมินทั้งปีจีดีพีอยู่ที่ 3.8%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุ ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับแรงต้านหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนสำคัญจากการลงทุนของรัฐบาลและภาคเอกชน ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศยังคงเป็นแรงหนุนหลักต่อเนื่องจากปี 65  โดยคาดว่า ระดับจีดีพีของไทยในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.8%

“เชื่อว่า ในปี 66 เราน่าจะรักษาโมเมนตั้มการเติบโตได้ ตัวเลขที่คาดการณ์ 3-4% ก็ไม่ได้เกินความคาดหมายว่า ทั้งไอเอ็มเอฟ เวิล์ดแบงก์ก็ให้เราประมาณนี้ ถ้ากระทรวงการคลังเองก็มองที่ 3.8% อย่างไรก็ตาม เราจะยึดตัวเลขนี้เป็นสรณะคงไม่ได้ เพราะเราต้องติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา ฉะนั้น ในทุกๆ 3 เดือนจะมีการปรับประมาณการขึ้นกับสถาการณ์เป็นอย่างไร”

ชี้นโยบายการเงินต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในแง่การดำเนินนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจนั้น เขากล่าวว่า นโยบายการเงินหลังสถานการณ์โควิดจะทำงานมากขึ้น ซึ่งต้องดูว่า จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ไม่ให้เงินเฟ้อสูงมากเกินไป ส่วนนโยบายการคลัง เมื่อวิกฤตโควิดคลี่คลายก็ต้องผ่อนคันเร่งลงให้นโยบายการเงินทำหน้าที่

“ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ในส่วนของไทยนั้น เงินเฟ้อเกิดจากต้นทุน การดูแลเศรษฐกิจจึงเน้นไปที่การดูแลด้านต้นทุนมากกว่า ถ้ามาตรการใดๆที่มีผลต่อคนทั่วไป หรือแบบเหวี่ยงแห ต้องลดลงไป เพื่อลดภาระงบประมาณแผ่นดิน แต่งบประมาณต้องมุ่งไปช่วยเหลือกลุ่มเฉพาะที่ได้รับความเดือดร้อน ก็เป็นนโยบายที่หลายๆประเทศดำเนินการ”

ภาคผลิตยังเผชิญปัญหาขาดแคลนสินค้า

สำหรับแรงต้านต่อเศรษฐกิจไทยจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในปี 66 นั้น เขาประเมินว่า ไม่น่าจะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยไม่มาก โดยหากไปดูภาคการส่งออกของเรานั้น สินค้าอื่นๆยกเว้น เรื่องของอิเลกทรอนิกส์ถือว่า ยังมีโอกาสมาก โดยเฉพาะหมวดอาหาร ฉะนั้น สังเกตว่า ในช่วงไตรมาสสามและสี่ ราคาพืชผลเกษตรดีขึ้น แต่ยางพาราอาจจะตกช่วงต.ค.-พ.ย.แต่ว่า ธ.ค.นั้น ราคาขยับขึ้นแล้วฉะนั้น กำลังซื้อจะก็มาจากภาคเกษตร ทั้งนี้ ในปี 65 คาดการส่งออกจะขยายตัวได้ประมาณ 8%

“เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ก็มีผลต่อกำลังซื้อจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เรื่องของซัพพลายเชนนั้นยังดำรงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของไมโครชิป ซึ่งช่วงปี 63-64 ขาดแคลนไมโครชิปมือถือและอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งปัญหานี้ยังดำรงอยู่ เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกมีแค่ 10 บริษัท เชื่อว่า ฐานการผลิตจะมีการโยกย้าย เพราะการพึ่งเสถียรภาพของประเทศเริ่มมีความสำคัญในการตั้งฐานการผลิต”

ลงทุนภาครัฐแรงหนุนสำคัญเศรษฐกิจปี66

ด้านแรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทยในปี 66 นั้น ด้วยอานิสงส์ของปี 65 กำลังขับเคลื่อนจะมาจากภาคการท่องเที่ยวแน่นอน เพราะว่า 10 ล้านคนก็ถือว่า ไม่น้อย แม้รายได้เราอาจจะยังไม่ถึงเป้า แต่ในแง่ปริมาณนั้นเราได้แล้ว อีกแรงกำลังขับเคลื่อน คือ การใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งการใช้จ่ายช่วงไตรมาสสามปี 65 โต 4-5% ถือว่า ใช้ได้ นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐและเอกชน จะเป็นแรงส่งที่มีผลอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ซึ่งต้องเร่งรัดการลงทุนโดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

“เมื่อเราผ่านพ้นวิกฤตแล้ว เรามักจะถามว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ที่ตรงไหน หากเราไม่เร่งโครงสร้างพื้นฐาน อันดับความสามารถในการแข่งขันเราจะลดน้อยถอยลง ฉะนั้น แรงส่งสำคัญในปี65-66 คือ การลงทุนภาครัฐและเอกชน ขณะที่ การใช้จ่ายและการท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งสำคัญ”

เขากล่าวว่า ถามว่า อะไรคือการลงทุน ตนคิดว่า รัฐบาลมีโครงการธงนำ คือ โครงการลงทุนในอีอีซี ขณะนี้ ขับเคลื่อนไปได้ แต่ต้องเร่งให้มากขึ้น เพื่อให้ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะนี้นั้น การลงทุนเอกชนที่ขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก็เพิ่มมาตลอด โดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี การลงทุนจากจีนมีเข้ามาค่อนข้างเยอะ ฉะนั้น แรงส่งการลงทุนสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน

แนะธุรกิจลงทุนสอดคล้องความท้าทายเศรษฐกิจ

ส่วนที่จะขับเคลื่อนการลงทุนในอนาคตจะเป็นแบบไหน ก็ต้องถามว่า อนาคตมีความท้าทายในเรื่องอะไรบ้าง คงมี 2-3 เรื่อง เรื่องแรก คือ ดิจิทัล ซึ่งเราก็พัฒนาก้าวหน้ากว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะในช่วงของโควิดที่ใช้กันมาก แต่สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจต่อไปนั้น ต้องใช้ดิจิทัลมากขึ้น ไม่ใช่แค่ธุรกิจแต่หมายรวมถึงภาครัฐด้วย ซึ่งต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยลดต้นทุนธุรกรรมต่างๆของภาครัฐ

สองเรื่องของโครงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการที่สำคัญ คือ รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมาตรการได้ออกไปหมดแล้ว แต่สิ่งที่เติมเต็ม คือ อะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราก็สนับสนุนตรงนี้ ก็จะเป็นโอกาสให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ ยกตัวอย่าง การส่งเสริมไบโอพลาสติก ก็จะเป็นโอกาสหนึ่ง ซึ่งโครงการเหล่านี้สอดคล้องกับBCG

สามเรื่องของสังคมสูงอายุ เป็นอีกด้านที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อ ซึ่งเราต้องมองว่า จะทำอย่างไรให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของผู้สูงอายุดีขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ก็ต้องมีการดีไซน์เพื่อรองรับผู้สูงอายุ อีกด้าน คือ เกี่ยวกับการจัดงบประมาณที่ดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุให้มากขึ้น

ความเชื่อมั่นดึงต่างชาติลงทุน

แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้น คือ ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทย บางคนอาจจะมองในเรื่องอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถ้ามองตรงนั้น เราจะห่อเหี่ยว เพราะอันดับขีดความสามารถล่าสุดไม่ได้ดีขึ้น แต่มันจะวิ่งแถวๆ30กว่า เพราะการวัดขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น มีหลายปัจจัย ทั้งอัตราการเติบโตเศรษฐกิจด้วย เมื่อชะลอลง ความสามารถในการแข่งขันก็ลดลงตามไปด้วย ขึ้นอยู่กับว่า คนที่วัด เขาให้น้ำหนักมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ดี ถ้าเรากลับมามองเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ซึ่งขณะนี้ ค่ายๆต่างให้มุมมองความน่าเชื่อถือเรา ถ้ามองตรงนี้ ก็หมายความว่า นักลงทุนจะให้ความเชื่อถือเราเ พราะการวัดเครดิตประเทศนั้น เป็นการวัดเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค หรือดูแลเศรษฐกิจให้ดีต่อเนื่อง และยังมองเรื่องการบริหารด้านการคลังสมเหตุผลหรือไม่อย่างไร และ ท้ายสุด คือ ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งทั้งสามด้านนั้นเราก็ทำได้มาโดยตลอด

ยันรัฐบาลไม่เจอปัญหาการขาดดุลแฝด

เขากล่าวด้วยว่า หากมองเรื่องฐานะการคลังนั้น หลายคนห่วงเรื่องการขาดดุลแฝด หรือ ที่เรียกว่า Twin deficits คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลการคลัง ซึ่งปัญหาดังกล่าว โอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อยมาก โดยรายได้จากการท่องเที่ยวที่เริ่มเข้ามามากขึ้น จะทำให้รายได้เราดีขึ้น ขณะที่ ดุลการคลังนั้น เราก็ส่งสัญญาณขาดดุลลดลงมาโดยตลอด

ทั้งนี้ สำหรับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น มาจากการค้าขายขาดทุนหรือซื้อมากกว่าขาย และ ขาดดุลบริการ ซึ่งมาจากการท่องเที่ยว รวมสองอันคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บาทแข็งหรืออ่อนลงด้วย ในช่วงที่บาทอ่อนมากๆ ดุลด้านท่องเที่ยวยังไม่มาตอนต้นๆปี บาทจะอ่อนช่วงไตรมาสสอง ซึ่งส่งออกโอเค แต่ยังไม่ถึงจุดที่เราจะเกินดุล ส่วนท่องเที่ยวมาเร่งเอาไตรมาสสามและสี่ ฉะนั้น เมื่อมันเร่งขึ้นมาก็ทำให้เงินเข้า บาทก็แข็งขึ้น ตรงนี้จึงสำคัญว่า ถ้าดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเป็นเวลานานก็ไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ เพราะเรามีแต่จ่ายออกไป ซึ่งเวลานี้ เราก็มีตัวจ่ายมาก คือ เรื่องของน้ำมัน

ส่วนขาดดุลอีกด้าน คือ ขาดดุลด้านการคลัง ซึ่งเราส่งสัญญาณขาดดุลลดลง แต่การขาดดุลลดลงไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลไม่ใช้จ่าย โดยงบประมาณยังเป็นงบที่ขยายตัว ส่วนจะขยายตัวมากน้อยแค่ไหนจากปี 65 นั้น ขอให้ติดตามตอนต่อไปว่า งบประมาณในปี 67 นั้น จะเป็นอย่างไร แต่เรียนว่า นโยบายการคลังยังทำหน้าที่ในการใช้จ่ายอยู่ ไม่ใช่ใช้จ่ายแบบหดตัว ซึ่งเราทำแค่ปีเดียว คือ ปี 64 ช่วงนั้น รายได้ปี63 ไม่เข้าเป้า ในปี 64 เราจึงทำงบประมาณลดลง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์

จีดีพีปี 65 ขยายตัวเกินเป้าเล็กน้อย

สำหรับจีดีพีปี 65 นั้น อัตราการเติบโตของจีดีพีไม่ได้สูงมากนัก แต่สิ่งที่เห็นชัดเจน ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 65 อัตราเติบโตอยู่ที่ 2.3% ไตรมาสที่สองอยู่ที่ 2.5% ไตรมาสที่สามที่ 4.5% ทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ3.1-3.2% ขึ้นอยู่กับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เราทำได้ดีแค่ไหน หากรายได้จากการท่องเที่ยวเติมเข้ามา ก็เชื่อว่า จะได้สูงกว่าสภาพัฒน์เล็กน้อย

“แต่ประเด็นคือ ส่งออกปี 65 ได้อานิสงส์เรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงมาก ถ้ามองในแง่เงินบาทอ่อนตัวมากๆ ก็มีผลด้านบวกและลบ ด้านบวก คือ รายได้ส่งออกดี แต่ปริมาณไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เป็นประเด็นหนึ่ง แต่ว่า อีกด้าน ต้องไม่ลืมว่า เมื่อบาทอ่อน ต้นทุนนำเข้าก็แพง ฉะนั้น ราคาน้ำมันจึงได้แพงตลอดเวลาแม้ว่า ช่วงน้ำมันดิบในตลาดโลกจะลดลงไป หากบาทยังอ่อนต้นทุนเราก็ยังแพง ก็มีบวกและลบ ต้องดูสุทธิว่า ได้หรือเสีย โดยสรุปก็ยังได้ แต่ไม่เต็มร้อย”