สปก.ลุยสร้างถนน แหล่งน้ำ ช่วงโควิด ช่วยเกษตรกรกว่า 256 ล้านบาท

สปก.ลุยสร้างถนน แหล่งน้ำ  ช่วงโควิด ช่วยเกษตรกรกว่า 256 ล้านบาท

สปก. อนุมัติสร้างถนน แหล่งน้ำ เพิ่มศักยภาพพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน เตรียมอบรมเจ้าหน้าที่ใช้งานระบบข้อมูลกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมแจ้งผลการช่วยเหลือเกษตรกรช่วงโควิด – 19 ปี 63 – 65 เป็นเงินกว่า 256 ล้านบาท

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อกก.คง.) ครั้งที่ 9/2565 ในวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร

 

สปก.ลุยสร้างถนน แหล่งน้ำ  ช่วงโควิด ช่วยเกษตรกรกว่า 256 ล้านบาท สปก.ลุยสร้างถนน แหล่งน้ำ  ช่วงโควิด ช่วยเกษตรกรกว่า 256 ล้านบาท

          ที่ประชุมมีมติอนุมัติโครงการและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถนนสายซอยผิวจราจรหินคลุกในแปลงเกษตรกรรม แปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 แปลงที่ดิน No 601 จังหวัดกระบี่ จำนวน 7 สาย ระยะทาง 2.724 กิโลเมตร เป็นเงิน 1,169,000 บาท เพื่อเกษตรกรจะได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง และช่วยลดระยะเวลาในการขนส่งผลผลิต และได้รับพื้นที่ที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ด้านแหล่งน้ำ มีมติเห็นชอบโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน ระยะที่ 1 ปี 2566 ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน 20 จังหวัด จำนวน 53 แห่ง เป็นเงิน 19,570,600 บาท เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพียงพอที่จะใช้ในภาคการเกษตร ทั้งยังสามารถยกระดับคุณภาพผลผลิตและปริมาณผลผลิตให้สูงขึ้น

และเห็นชอบโครงการฝายชะลอน้ำแบบชั่วคราวสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นเงิน 12,679,620 บาท โดยดำเนินการในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน 27 จังหวัด ภาคเหนือ 10 จังหวัด ภาคกลาง 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ภาคใต้ 7 จังหวัด ฝายชะลอน้ำแบบชั่วคราวจะช่วยให้เกิดการสะสมความชื้นในพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำของแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน และเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้มากขึ้น การสร้างฝายชะลอน้ำแบบชั่วคราวยังเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน มีการจ้างแรงงานในชุมชน เกิดการขยายผลองค์ความรู้สู่ชุมชนและเกษตรกรรายอื่น

ทั้งนี้ยังอนุมัติโครงการและใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อใช้ในโครงการอบรมหลักสูตร “ทบทวนการใช้ระบบข้อมูลกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจ ได้ฝึกปฏิบัติ สามารถลดข้อผิดพลาดในการใช้โปรแกรมสินเชื่อกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โปรแกรมค่าเช่าที่ดิน โปรแกรมค่าเช่าซื้อที่ดิน และโปรแกรมกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่อง

           “ที่ผ่านมา ส.ป.ก.มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 (COVID-19) โดยตั้งแต่ปี 2563 – 2565 สามารถช่วยเหลือเกษตรกรใน 62 จังหวัด รวม 9,373 ราย เป็นเงินกว่า 256 ล้านบาท แบ่งเป็น 2มาตรการ คือ 1) มาตรการลดภาระหนี้สิน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรใน 43 จังหวัด เกษตร 4,750 ราย และ 2) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ใน 46 จังหวัด สามารถช่วยเกษตรกร 4,623 ราย นอกจากนั้นในที่ประชุมวันนี้มีมติเห็นชอบการสร้างถนน และโดยเฉพาะแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน ให้พี่น้องเกษตรกรสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป”