ส่องสถานการณ์ข้าวไทยปี 66 ผลผลิต 34 ล้านตัน ปัจจัยเสี่ยงการค้ายังสูง
ข้าว มีสัดส่วนสูงสุดที่ผลักดันให้ จีดีพีเกษตรปี 2565 ขยาย 0.8 % แม้จะดูน้อยไปนิดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่จีดีพีเกษตรติดลบ และยังต่ำกว่าที่คาดว่าจะขยายตัว 2-4 % แต่ปี 2566 สศก. ยังคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 2-3 % ทั้งนี้ต้องมาดูปัจจัยเสี่ยงต่างๆด้วย
กระทรวงเกษตรสหรัฐ( USDA )รายงานว่า ในปี 2565/2566 ข้าวของโลกมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 1,027.75 ล้านไร่ลดลง 1.01 % ผลผลิต 503.69 ล้านตันข้าวสารลดลง 2.21 % และผลผลิตต่อไร่ 731 กิโลกรัม ลดลง1.30 % การบริโภคข้าวโลกคาดว่ามีปริมาณ 517.77 ล้านตันข้าวสาร ลดลง0.41 % การค้าข้าวโลก คาดว่ามีปริมาณ 52.99 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 3.72 %
การส่งออก คาดว่า ออสเตรเลีย เมียนมา กายานา ปารากวัย เวียดนามและไทยจะส่งออกได้มากขึ้น ส่วนประเทศที่คาดว่าส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล กัมพูชา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ปากีสถาน ตุรกี อุรุกวัย และสหรัฐฯ การนำเข้า คาดว่า สหภาพยุโรป กานา เม็กซิโก โมซัมบิก เนปาล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ จะนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศที่คาดว่านำเข้าลดลง ได้แก่ จีน อิรัก ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ และเซเนกัล
ด้านสต็อกปลายปีข้าวโลก ปี 2565/66 คาดว่าจะมีปริมาณ 169.02 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 183.10 ล้านตันข้าวสาร ลดลง7.69% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดย ฟิลิปปินส์ มีสต็อกเพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่วนประเทศที่คาดว่ามีสต็อกคงเหลือลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และไทย
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก. ) กล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์ข้าวของไทย โดยรวมคาดว่าปี 2566 จะมีผลผลิต ประมาณ 34 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็นการผลิตข้าวนาปี ปี2565/66 คาดว่ามีเนื้อที่เพาะปลูก 62.92 ล้านไร่ ลดลง 0.15 % ผลผลิต 26.70 ล้านตันข้าวเปลือกลดลง 0.39 % และผลผลิตต่อไร่ 424 กิโลกรัม ลดลง 0.24 % เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากแหล่งผลิตทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ บางส่วน ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน ทำการเกษตรแบบผสมผสาน บางแหล่ง ปลูกพืชอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า และดูแลง่ายกว่า เช่น มันสำปะหลัง
แม้แหล่งผลิตทางภาคเหนือ และภาคกลาง จะเพิ่มขึ้นในที่แปลงว่างเปล่า แต่เป็นปริมาณไม่มาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง ทั้งปุ๋ย สารเคมี เนื้อที่ปลูกในภาพรวมจึงลดลง และแหล่งผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบอุทกภัยในช่วงปลายเดือนส.ค. ต่อเนื่องถึงเดือนต.ค. 2565 ซึ่งข้าวอยู่ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว น้ำท่วมขังนาน ทำให้ต้นข้าวล้มและเน่า ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
ในขณะที่ ข้าวนาปรัง ปี 2566 คาดว่ามีเนื้อที่เพาะปลูก 11.37 ล้านไร่ ผลผลิต 7.78 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 19.5 % ผลผลิต 6.17 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น19.62 % และ ผลผลิตต่อไร่ 646 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.62 % เมื่อเทียบกับปี 65 เนื่องจากมีปริมาณน้ำมาก เอื้อต่อการขยายพื้นที่ และต้นข้าวเติบโตได้ดี ทั้งนี้เกษตรกรจะเก็บเกี่ยว ตั้งแต่เดือน ก.พ. - เม.ย. ปริมาณรวม 4.22 ล้านตันข้าวเปลือก
ในด้านการตลาด จากแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2565/66 กำหนดความต้องการใช้ในประเทศ เพื่อการบริโภค อุตสาหกรรม และทำเมล็ดพันธุ์ รวม 16.88 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงอ4.59 % เนื่องจากโรคโควิด 19ระบาด ส่งผลให้ในช่วงต้นปี2565 นักท่องเที่ยวลดการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ร้านอาหาร/โรงแรม ลดการสำรองวัตถุดิบเพื่อการประกอบอาหาร อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การบริโภคในประเทศอาจจะมีแนวโน้ม ปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยวช่วงวันหยุดเทศกาลปลายปี
ด้านการส่งออก ปี 2566 คาดว่าไทยจะส่งออกได้ประมาณ 7.50 - 8.00 ล้านตันข้าวสาร ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงกลางปี 2565 และราคาข้าวไทยยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยราคาจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
แต่ยังมี ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง คือ นโยบายข้าว ต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ รัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรในการนำเข้าทั่วไป (MFN Tariff Rates) ออกไปอีก 1 ปี เป็นสิ้นสุดปลายปี 2565 สำหรับข้าวที่นำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มสมาชิกอาเซียน จากเดิมกำหนด ภาษีในโควตาร้อยละ 40 นอกโควตาร้อยละ 50 ปรับอัตราภาษีใหม่เป็นร้อยละ 35 เท่ากันทั้งในโควตาและ นอกโควตา ดังนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าข้าวจากไทย
เวียดนาม รัฐบาลเพิ่มเป้าหมาย การส่งออกข้าว ในปี 2565 โดยเน้นข้าวคุณภาพสูง ได้แก่ ข้าวหอมพื้นนุ่มพันธุ์ ST25 เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและปรับรายได้ของเกษตรกรให้เพิ่มขึ้น โดยเน้นส่งออกไปยังประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป อีกทั้งการที่สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับเวียดนาม European Union Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) และ The UK - Vietnam Free Trade Agreement (UKVFTA) ทำให้ เวียดนามมีความได้เปรียบในการส่งออกข้าวไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นตลาดที่มีมาตรฐานสูง ประกอบกับข้าวเวียดนามมีราคาถูกกว่าข้าวไทย จึงอาจส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะสูญเสีย ส่วนแบ่งตลาดข้าวให้แก่เวียดนามได้ในอนาคต
เมียนมา กำหนดเป้าหมายที่จะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตัน เป็น 4 ล้านตัน ภายในปี 2568 โดยเน้นที่พันธุ์ข้าวคุณภาพสูง (higher-quality varieties) เนื่องจากคาดการณ์ว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นทั้งในจีน สหภาพยุโรป และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
บังคลาเทศ รัฐบาลประกาศลดภาษีและอากรนำเข้าข้าวน้อยลงเหลือร้อยละ 25 จากเดิมที่เก็บภาษีและอากรนำเข้า ร้อยละ 62.5 เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในประเทศจากที่ผลผลิตได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และประเทศ กำลังประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 8 ปี
อินเดีย รัฐบาลประกาศระงับการส่งออกข้าวหัก และกำหนดอัตราภาษีส่งออกข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวกล้องขัดสี หรือข้าวขาว ที่ร้อยละ 20 ทำให้ข้าวอินเดียมีราคาสูงขึ้นใกล้เคียงกับข้าวไทย ทำให้มีผู้นำเข้ามาบางหันมาสั่งซื้อข้าวไทยที่มีคุณภาพดีกว่า ส่งมอบตรงเวลา และ ครบถ้วนตามคำสั่งซื้อ
นอกจากนี้ยังมี สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน หลายประเทส นำเข้าข้าวเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีข้าวเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ รวมทั้งมีความต้องการใช้ข้าวเพื่อทดแทนสินค้ากลุ่มธัญพืชที่ปรับราคาสูงขึ้นมาก เช่น ข้าวโพด และข้าวสาลีที่ ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกข้าวโดยเฉพาะปลายข้าวได้เพิ่มขึ้น เพื่อสต็อกไว้จากความไม่แน่นอนที่ยังไม่สิ้นสุดของสถานการณ์ความขัดแย้ง
ระบบการจัดการขนส่งสินค้า (Logistic) โลจิสติกส์เป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบ ต่อศักยภาพการส่งออกข้าวของไทย โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งทางเรือ ซึ่งในปี 2564 เกิดปัญหาการขาดแคลน ตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับขึ้นของค่าระวางเรืออย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการขนส่งข้าวไทยเพิ่มขึ้น กว่า 3 เท่า แต่ในช่วงปลายปี 2565 สถานการณ์ค่าระวางเรือมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลง จึงส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือจะลดลง
ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่าลง จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกข้าวของไทย ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง มากขึ้น
ภัยธรรมชาติ สถานการณ์การเกิดภัยพิบัติในต่างประเทศที่เป็นคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทย ส่งผลให้ไทยมีโอกาสส่งออกข้าวได้มากขึ้น โดยในปี 2566 คาดว่าภัยจากโลกร้อนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและต้องเฝ้าระวังภัยพิบัติทั้งอุกทกภัยและภัยแล้งทั่วโลก