"อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" CEO of the Year 2022 ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ความยั่งยืน

"อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" CEO of the Year 2022 ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ความยั่งยืน

“อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” นักธุรกิจแห่งปี ทรานส์ฟอร์มธุรกิจพลังงานสู่ความยั่งยืน ปี 2565 ถือเป็นปีที่ยากลำบากในการขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปีที่ 3

ทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงเกินบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ เป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ และสร้างแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

ในขณะที่การพัฒนาที่ยังยืน หรือ Environment, Social, และ Governance (ESG) เป็นอีกเมกะเทรนด์ที่ภาคธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น 

เป็นประจำที่กองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ จะคัดเลือก “CEO of the Year” หรือ “สุดยอดซีอีโอ” โดยการพิจารณาคัดเลือกแบ่งการให้คะแนนเป็น 4 ส่วน คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ ESG สัดส่วนคะแนน 30%, การทรานส์ฟอร์มที่เป็นหัวใจสำคัญของการปรับตัวทางธุรกิจเพื่อให้สอดรับการวิกฤติที่เข้ามา สัดส่วนคะแนน 25%, การพัฒนานวัตกรรม ที่จะเป็นการต่อยอดธุรกิจในอนาคต สัดส่วนคะแนน 25% และผลดำเนินงาน สัดส่วนคะแนน 20%

ในปี 2565 “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้รับการคัดเลือกเป็น CEO of the Year 2022 ถือเป็นการได้รับคัดเลือกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

“อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2563 ถือเป็นซีอีโอคนที่ 10 ของ ปตท. โดยเข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ขยายวงกว้างและรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทำให้ภารกิจแรกที่เข้ามาต้องรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว

ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในเรื่องของความผันผวนของราคาพลังงาน เทคโนโลยี ดิสรัปชัน การเปลี่ยนผ่านของพลังงานสู่นโยบายสร้างความยั่งยืน ซึ่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศแล้ว ยังต้องบริหารจัดการเพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และขับเคลื่อนทุกชีวิต ทั้งชุมชน สังคม ประเทศ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างความยั่งยืนในอนาคตเช่นกัน

อุตสาหกรรมพลังงานอยู่ในช่วง Energy Transition มุ่งสู่พลังงานสะอาด ลดปัญหาสภาวะโลกร้อน และการใช้พลังงานในรูปแบบไฟฟ้า ที่จะอำนวยความสะดวกมากขึ้น ปตท.ได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่เป็น “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” โดยดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานรองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนทางด้านพลังงาน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2565 ปตท.ได้กำหนดแผนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งมองความท้าทายที่โถมเข้ามาในภาคธุรกิจทั้งดิจิทัลดิสรัป วิกฤติโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ 

ปตท.มองว่าทิศทางอุตสาหกรรมพลังงานมุ่งสู่พลังงานสะอาดและพลังงานไฟฟ้า ในสถานการณ์ดังกล่าวการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond" จะเป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจของ ปตท.เติบโตอย่างยั่งยืน 

จากทิศทางการดำเนินการดังกล่าว ปตท.ได้กำหนดอนุมัติงบการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงินรวม 100,227 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจก๊าซรรมชาติ รวม 36,322 ล้านบาท ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวม 18,988 ล้านบาท ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,316 ล้านบาท ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 8,828 ล้านบาท การลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงิน 32,773 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคตในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีก 302,168 ล้านบาทเพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. โดยปตท.จะต่อยอดการเติบโตจากธุรกิจหลัก เร่งพัฒนาและขยายธุรกิจใหม่ เข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลกใน 6 ด้าน แบ่งเป็น

1. New Energy โดยการปรับพอร์ทการลงทุนขยายไปธุรกิจพลังงานใหม่ อาทิ ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัดดำเนินธุรกิจ EV Value Chain ที่ร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตรถอีวีกับบริษัท Foxconn มูลค่า 36,100 ล้านบาท ตามคอนเซปท์แบบ BOL (Build Operate Localize)ตั้งเป้าต้นปี 2567 มีกำลังผลิตปีละ 50,000 คัน และขยายกำลังการผลิตปีละ 150,000 คัน ในปี 2573 สอดรับกับความต้องการใช้รถอีวี ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ ยังร่วมกับบริษัท น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ขยายสถานีชาร์จอีวีทั้งในสถานี PTT station และนอกสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น อีกทั้ง กลุ่มปตท.ยังดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่อง (Electricity value chain) รวมถึงการศึกษาโอกาสในธุรกิจ Hydrogen ขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย

2.Life Science ขยายธุรกิจใหม่นอกเหนือจากพลังงานในธุรกิจด้าน Life science จากการเล็งเห็นโอกาสจากโลกเข้าสู่สังคมสูงวัยและกระแสการดูแลสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น จึงจัดตั้ง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อปลายปี2563เข้าถือหุ้นหลักของบริษัท Lotus Pharmaceutical ในสัดส่วน 37% และยังถือหุ้น 60% ในบริษัท Adalvo บริษัทชั้นนำด้านการซื้อขายยาและสิทธิบัตรที่มีเครือข่ายทั่วโลกผลักดันยุทธศาสตร์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพของอาเซียน และเพิ่มโอกาสการลงทุนด้านเทคโนโลยีผลิตยาขั้นสูงจากต่างประเทศในไทยอีกด้วย

อีกทั้ง อินโนบิก ยังมีโครงการความร่วมมืออื่น อาทิ ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมพัฒนาโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งแห่งแรกในประเทศไทย รวมถึงความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางยา อาทิ สารตั้งต้นสำหรับผลิตยาต้านไวรัสโควิด-19 ฟาวิพิราเวียร์ เป็นต้น

พร้อมกับร่วมทุนกับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด จัดตั้งบริษัท นิวทรา รีเจนเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด ดำเนินธุรกิจ Plant-Based Protein และได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับ บริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศอังกฤษจัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อบริษัท แพลนท์ แอนด์ บีน ประเทศไทย ผลิตผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชตั้งเป้ากำลังการผลิต3,000ตันต่อปี ซึ่งขณะนี้ได้ตอกเสาเข็มก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลักดันยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่ม อาทิ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด สร้างโรงงานผลิตผ้าไม่ถักทอ (Non-Woven Fabric) ที่เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ เป็นต้น เพื่อพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทดแทนการนำเข้า และเพิ่มความมั่นคงทางสาธารสุขให้กับประเทศไทย

3.Mobility & Lifestyle ผ่านการดำเนินการของโออาร์ ที่เน้นการลงทุนสู่ธุรกิจค้าปลีกมากขึ้นตอบโจทย์คนเดินทางในอนาคต (mobility) และตอบโจทย์การใช้ชีวิต (lifestyle) สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค อาทิ การลงทุนในกิจการร้านอาหารแบรนด์โอ้กะจู๋ และขยายสาขาร้านในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station, การลงทุนในบริษัท พาคามาร่า คอฟฟี่ โรสเตอร์ เสริมการจัดหาวัตถุดิบและอุปกรณ์, การเพิ่มทุนในกลุ่มธุรกิจ Flash เพื่อรองรับ E-Commerce เป็นต้น

4.High Value Business ต่อยอดปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงผ่านการลงทุนของบริษัทในกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC อาทิ การเข้าซื้อกิจการ Allnex เพื่อประกอบธุรกิจในการผลิต coating resins และสาร additives สร้างมูลค่าเพิ่มและขยายการเติบโตในตลาดต่างประเทศ

5.Logistics & Infrastructure ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผ่านบริษัทลูก บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด พัฒนาและดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยร่วมลงทุนกับรัฐและเอกชน ก่อสร้างท่าเทียบเรือ รองรับการขนถ่ายตู้สินค้าด้วยระบบจัดการแบบอัตโนมัติ เพิ่มขีดความสามารถของระบบโลจิสติกส์ และโครงการขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศไทย

6.AI & Robotics Digitalization ปตท. ได้จัดตั้ง บริษัท เมฆา เทคโนโลยี จำกัด ให้บริการระบบ public cloud services, จัดตั้งบริษัท PTT RAiSE ร่วมกับพันธมิตรมิตซุย ให้บริการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม, จัดตั้งบริษัท T-Ecosys ดำเนินธุรกิจด้าน digital platformรวมถึงการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วีพัฒนาการใช้เทคโนโลยีโดรน หุ่นยนต์ และ AI ใน applications ต่าง ๆ อาทิ การซ่อมท่อใต้น้ำ การสำรองภายในท่อ การใช้โดรนในการเกษตร (smart farming) และโดรนแปรอักษร

“ปตท.มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและขับเคลื่อนประเทศไปสู่ธุรกิจสีเขียว โดยตั้งเป้ามุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี ค.ศ. 2030 และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ” นายอรรถพล กล่าว

ปตท.เข้าเป็นสมาชิก DJSI ปีที่ 11

ปตท.ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI กลุ่มดัชนีโลก (World Index) รวมถึงดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Index) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 และยังเป็นองค์กรชั้นนำของอุตสาหกรรมในกลุ่ม Oil & Gas Upstream & Integrated (OGX) อีกด้วย 

ทั้งนี้ สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ ปตท.ผ่านการกำหนดทิศทางกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับบริบทของโลกที่แปรเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าวทำให้ ปตท.มุ่งเน้นการเติบโตในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักของ ปตท. ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร ในขณะเดียวกัน ปตท. ยังคงยึดมั่นการกำกับดูแลกิจการที่ดีและมีธรรมาภิบาล รวมทั้งคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม เพื่อให้สังคมไทยเดินหน้าสู่ความยั่งยืนในระดับสากล