"อรรถพล" นำทัพ กลุ่ม ปตท. ประกาศเป้า Net Zero 2050 เร่งปลูกป่าเพิ่มล้านไร่ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
"อรรถพล" แม่ทัพใหญ่ ปตท. ประกาศเป้า Net Zero ปี 2050 เร็วกว่าที่ประเทศกำหนด กางแผนสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งทีม G-NET ชูกลยุทธ์ 3P มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 15% ในปี 2030 พร้อมเดินหน้าปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ สร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน
โลกร้อน ภาพไฟไหม้ป่า หรือหมีขั้วโลกเกาะอยู่บนแผ่นน้ำแข็งเล็กๆ อาจจะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อมาดูผลการศึกษา German Watch Global Climate Risk Index 2021 ซึ่งติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก พบว่า ประเทศไทย เป็นประเทศความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นอันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก
นี่คือข้อมูลที่ "อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล โดยการศึกษาดังกล่าวใช้ข้อมูลย้อนหลัง 20 ปีของแต่ละประเทศ เช่น ความถี่ของการเกิดภัยพิบัติ ความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน สำหรับประเทศไทยนั้น ผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งสร้างความสูญเสียไปกว่า 70,000 ล้านเหรียญ
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลปี 2021 เรื่องการปล่อย "ก๊าซเรือนกระจก" ซึ่งเป็นต้นตอสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change พบว่า ทั่วโลกมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราวๆ 36,300 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 247 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 0.7% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ส่วนกลุ่ม ปตท. ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 45 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 18% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ
ปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้น กลุ่ม ปตท. ในฐานะบริษัทด้านพลังงาน ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และพร้อมปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่มาโดยตลอด
ล่าสุด "อรรถพล" แม่ทัพใหญ่แห่ง ปตท. นำทัพประกาศเจตนารมณ์ ตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15 ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศคือปี 2065
- ตั้งทีม G-NET ชูกลยุทธ์ 3P กู้วิกฤติโลกร้อน
สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่เป้า Net Zero ในปี 2050 กลุ่ม ปตท. ได้ผนึกกำลังจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของการดำเนินธุรกิจใน 3 แนวทางหลัก (3P) ได้แก่
- Pursuit of Lower Emissions การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออกภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization: CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน เป็นต้นโดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง ร้อยละ 30 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
- Portfolio Transformation ยกเลิกกลุ่มธุรกิจถ่านหิน และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ "Powering Life with Future Energy and Beyond" โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ที่ร้อยละ 32 ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึงร้อยละ 50
- Partnership with Nature and Society การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ อย่างน้อยร้อยละ 20 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท.
"ทั้ง 3 P เริ่มทำได้ในทันที โดยทำควบคู่กันไป อย่างธุรกิจถ่านหิน เราขายออกแล้ว อยู่ระหว่างตกลงซื้อขายกัน น่าจะเสร็จภายในปีนี้ ด้านการลงทุนพลังงานหมุนเวียน เราก็ลงทุนอยู่เรื่อยๆ ตามโอกาสที่เข้ามา ส่วนการปลูกป่า เราต้องปลูกให้ได้ตามหลักวิชาการ และสามารถเคลมได้ด้วย ซึ่งเริ่มมีการเข้าไปคุยเรื่องพื้นที่กับกระทรวงทรัพยากรฯ แล้ว" อรรถพล กล่าวเสริม
- เดินหน้า เร่งปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา ปตท. ได้อาสาฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 1.1 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหล่านี้ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์กว่าร้อยละ 80 สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเปรียบเทียบการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ยปีละ 4.6 แสนคัน และปลดปล่อยออกซิเจนได้กว่า 1.55 ล้านตันออกซิเจนต่อปี อีกทั้งสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชุมชนได้มากถึง 280 ล้านบาทต่อปี การดำเนินการภาคป่าไม้จึงเป็นอีกวิธีสำคัญ
กลุ่ม ปตท. มุ่งปลูกป่าเพิ่มเติม รวม 2 ล้านไร่ ภายในปี 2030 แบ่งเป็นการดำเนินการโดย ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสำรวจการเติบโตและวิเคราะห์ข้อมูลการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวมกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และยังสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน
อรรถพล กล่าวด้วยว่า ปตท. ให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญระดับประเทศและระดับโลก โดยปัจจุบัน ปตท. ได้รับภารกิจเป็นประธานเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network: TCNN) เครือข่ายองค์กรชั้นนำระดับประเทศจากภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น รวม 275 องค์กร มีเป้าหมายมุ่งเป็น "เครือข่ายแกนนำของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero" ผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเร่งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อภาครัฐ มุ่งยกระดับมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
"ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และศักยภาพการเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จึงมุ่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนด แม้ว่าการบรรลุเป้าหมาย Net Zero จะมีความท้าทาย แต่กลุ่ม ปตท. เชื่อมั่นด้วยความพร้อม และทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน พร้อมสร้างคุณค่าต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย และสังคมโลก ด้วยจุดมุ่งหมายภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ที่มุ่งขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต" อรรถพล ทิ้งท้าย