ทุเรียนใต้ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้อานิสงส์จีนเร่งสั่งซื้อ รับเทศกาลตรุษจีน

ทุเรียนใต้ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้อานิสงส์จีนเร่งสั่งซื้อ รับเทศกาลตรุษจีน

ตลาดกลางผักและผลไม้ จ.ชุมพร ยันทุเรียนใต้ราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง แถมได้อานิสงส์ใกล้ตรุษจีน มีการเร่งสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกก็ไม่มีอะไรติดขัด มั่นใจดันราคาขยับจนจบฤดูกาลผลิต

นายธเนศ สร้างถาวร ผู้จัดการทั่วไป ตลาดมรกต ตลาดกลางผักและผลไม้ จ.ชุมพร เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนที่กลับมารุนแรงในช่วงนี้ ทำให้ยอดการส่งออกทุเรียนภาคใต้ลดลง ว่า ขณะนี้ยังมีการซื้อขายเป็นปกติ และมีการเร่งซื้อเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงในช่วงปลายเดือนม.ค.2566 และปัจจุบันยังเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิตของภาคใต้ หากไม่เร่งซื้อ ก็จะไม่มีผลผลิตไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคชาวจีน จนกว่าผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกฤดูกาลใหม่จะออกมา ทำให้มีการซื้อต่อเนื่อง จนราคาขยับขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และคาดว่าราคาจะดีไปจนหมดฤดูกาลผลิตปีนี้ 

“ยืนยันว่าขณะนี้สถานการณ์การส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีนยังปกติ หากแต่ช่วงที่ผลผลิตออกมากก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการจีนมีการชะลอการสั่งซื้อไปบ้าง แต่ไม่ได้ลดลงจนผิดปกติ และในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ตลาดปลายทางในจีน เริ่มมีความต้องการทุเรียนมากขึ้น เนื่องจากผู้ค้าเร่งซื้อทุเรียนให้ทันต่อเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง ส่งผลให้มีการเข้ามาแย่งซื้อทุเรียน และทำให้ราคารับซื้อทุเรียนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น”นายธเนศกล่าว 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน หมอนทอง เกรด AB ราคา 160บาท/กิโลกรัม (กก.) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่ 140 บาทต่อกก. เกรด ABC 130-140 บาทต่อกก. เพิ่มจาก 120 บาทต่อกก. เกรด C ราคา 110 บาท/กก. เพิ่มจาก 100 บาทต่อกก. ซึ่งหากเทียบกับต้นทุนที่ประมาณ 50 บาทต่อกก. ถือว่าเกษตรกรยังมีรายได้คุ้มกับต้นทุนการผลิต และมีกำไร 

 

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันจีนเปิดประเทศ และมีการผ่อนคลายมาตรการล๊อกดาวน์ ทำให้การส่งออกทุเรียนไทยไปจีนไม่ติดปัญหาความเข้มงวดของด่าน ส่งผลให้การส่งออก ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ มีความคล่องตัว ไม่มีปัญหาเหมือนในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ใหม่ ๆ 

สำหรับปริมาณผลผลิตของทุเรียนใต้ในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 600,000 ตัน ปัจจุบันออกสู่ตลาดแล้วกว่า 80% ซึ่งขณะนี้ ถือเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิต เมื่อหมดแล้ว ก็ต้องรอทุเรียนฤดูกาลใหม่ของภาคตะวันออก ที่จะออกมาก่อนภาคใต้