มองแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาว | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงปัจจัยที่จะต้องติดตาม เพื่อคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ครั้งนี้ผมจะพยายามประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในระยะ 10 ปีข้างหน้า
เพราะผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานกำลังเกิดขึ้น ทำให้แนวโน้มในอนาคตแตกต่างจากพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แบบที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนยุคสมัยเลยทีเดียว
ในช่วงตั้งแต่ต้นศตวรรษนี้มาถึงประมาณปี 2020 นั้น พอจะสรุปได้ว่าเป็นช่วงที่
1. เศรษฐกิจโลกถูกขับเคลื่อนโดยโลกาภิวัตน์ คือการกระจายการผลิตและการเปิดตลาดไปทั่วทุกหนแห่งของโลกเพื่อการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มยอดขาย
กล่าวสั้นๆ คือเศรษฐกิจขับเคลื่อนภูมิรัฐศาสตร์ (economic-driven geopolitics) โดยตัวขับเคลื่อนหลัก (หรือ catalyst) คือการที่สหรัฐสนับสนุนให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกและผลักดันให้กลุ่มประเทศเอเปกเปิดตลาดและกำจัดมาตรการกีดกันการค้าทั้งหมด
2. พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลและโทรคมนาคมเป็นแรงสนับสนุนให้การสื่อสาร การค้าและการให้บริการทำได้โดยที่ความห่างไกล (geographical distance) ไม่เป็นสิ่งกีดขวางต้นทุนของการเก็บแสวงหาและวิเคราะห์ข้อมูล
ตลอดจนการสื่อสาร และการทำธุระกรรมทางการเงิน สามารถทำได้โดยมีต้นทุนต่ำมากและทำได้ในชั่วพริบตา
3. ผลที่ตามมาคือราคาสินค้าและบริการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในเชิงโครงสร้าง ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแต่ลดลง
ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลก (โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ) ที่เพิ่งปราบเงินเฟ้ออย่างอยู่หมัดในช่วง 10 ปีก่อนหน้า (ช่วง 1990’s) สามารถลดดอกเบี้ยลงไปได้อีก
และหลังจากเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Global Financial Crisis) ธนาคารกลางสหรัฐก็ปรับลดดอกเบี้ยเหลือศูนย์ และพิมพ์เงินใหม่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่เงินเฟ้อก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นมา
4. ภาวะที่เงินเฟ้อต่ำติดดินซึ่งทำให้ดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ (ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ 0% พันธบัตรรัฐบาล 10 ปีปรับลดลงเหลือ 1%)
ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทปรับตัวเพิ่มขั้นอย่างยกแผง สินทรัพย์ใหม่ๆ เช่น คริปโตหรือหุ้นที่ “ขายความฝัน” เช่น หุ้นเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเป็นพันเท่า ทำให้นักลงทุนร่ำรวยอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน
5. ปัจจัยพื้นฐานที่ขับเคลื่อนการผลิตที่เพิ่มขึ้นโดยปราศจากเงินเฟ้อในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อีกส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่ประเทศในเอเชีย (โดยเฉพาะประเทศจีน) พร้อมแรงพร้อมใจผลิตสินค้าและบริการขายให้กับประเทศสหรัฐ
โดยแลกกับการที่สหรัฐพิมพ์เงินดอลลาร์ (กระดาษ) มาให้ หมายความว่าประเทศเอเชีย (รวมทั้งไทย) ตั้งหน้าตั้งตาผลิตสินค้าเพื่อส่งออกมากกว่าการนำเข้าอย่างมาก ทำให้ประเทศสหรัฐเงินเฟ้อต่ำ
ส่วนประเทศในเอเชีย เกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนเกินนี้ทำให้เกินดุลชำระเงินเห็นได้จากการที่ทุนสำรอง (ซึ่งส่วนใหญ่คือเงินเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
เช่น กรณีของประเทศไทยนั้นทุนสำรองเพิ่มขึ้นจาก 30,000 ล้านเหรียญในปี 2000 มาเป็น 279,000 ล้านเหรียญในปี 2021 เป็นต้น
แต่ในช่วง 10 ปีข้างหน้านั้นผมเชื่อว่า 5 ปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้นจะเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญดังนี้
1. Geopolitics will drive economics สหรัฐอเมริกามีนโยบายส่งเสริมและโน้มน้าวให้พันธมิตรและบริษัทขนาดใหญ่ของฝั่งประชาธิปไตย ปรับให้ห่วงโซ่การผลิตให้มาใกล้บ้านและใกล้พันธมิตร (re-shoring กับ friend-shoring)
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนพร้อมกับรัฐมนตรีและซีอีโอชั้นนำของสหรัฐไปร่วมงานเปิดโรงงานผลิต semiconductor ของ TSMC ที่มลรัฐ Arizona (ซึ่งตัดสินใจลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 30,000 ล้านเหรียญ) พร้อมกับการเพิ่มมาตรการกีดกันไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีในด้านนี้อย่างเข้มข้นขึ้นทุกวัน
2. Semiconductor หรือชิปนั้นเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของเครื่องใช้ทุกประเภทที่ปัจจุบันขับเคลื่อนการทำธุรกิจ การผลิต การเก็บข้อมูล โทรคมนาคม การทหาร ฯลฯ นาย Morris Chang ผู้ก่อตั้ง TSMC บอกว่าการต้องย้ายฐานการผลิตไปที่ Arizona นั้นทำให้ต้นทุนการผลิตชิปเพิ่มขึ้น 50%
ปัจจุบันประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ชิปมากที่สุดในโลก (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของการผลิตชิปทั้งหมด) เป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอุปกรณ์เครื่องใช้ราคาถูกให้กับตลาดโลก
กำลังจะต้องเผชิญกับการขาดแคลนชิปและต้นทุนราคาชิปที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 10-20 ปีข้างหน้า
3. ต้นทุนการผลิตที่น่าจะมีแต่เพิ่มขึ้นในอนาคต จากการกีดดันทางเทคโนโลยีนั้นจะสมทบกับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ ทำให้ยุโรปตัดสินใจลดทอนการพึ่งพารัสเซียด้านพลังงานอย่างถาวร
โดยการเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่การพึ่งพาพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างมาก (และเพื่อตอบโจทย์เรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนอีกด้วย) เป็นอีกส่วนที่จะขับเคลื่อนเงินเฟ้อ
นอกจากนั้นก็ยังมีกระแสที่เร่งตัวขึ้นในสหภาพยุโรปให้เก็บภาษีประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขายสินค้าให้กับยุโรป กล่าวคือกฎหมาย Carbon Border Adjustment Mechanism (BAM) ที่เพิ่งคลอดออกมาซึ่ง CBAM นี้ย่อมจะเพิ่มต้นทุนการผลิตของผู้ส่งออกทั่วโลกอีกด้วย
4.ดังนั้น ความเสี่ยงใน 10 ปีข้างหน้าคือ เงินเฟ้อนั้นน่าจะควบคุมให้ลดลงได้ไม่ง่ายนัก และที่สำคัญคือการควบคุมเงินเฟ้อในระยะสั้น (เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อฝังราก) นั้นต้องอาศัยนโยบายการเงินหรือการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของอุปสงค์ (demand) เป็นหลัก
แต่ดังที่กล่าวข้างต้น ปัจจัยที่น่าจะขับเคลื่อนเงินเฟ้อ 2 ประเด็นหลัก (การขาดแคลนชิป กับการปรับตัวไปสู่พลังงานทางเลือก) นั้นเป็นปัจจัยด้านอุปทาน (supply)
กล่าวคือเงินเฟ้อน่าจะปราบยากและดอกเบี้ยอาจต้องอยู่ที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แปลว่าต้นทุนทางการเงินใน 10 ปีข้างหน้าน่าจะสูงกว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก
5.ปัจจุบันนี้และมองไปข้างหน้า ประเทศเอเชียคงจะไม่เร่งการผลิตเกินตัวเพื่อสะสมทุนสำรองอย่างเช่นในอดีต
สำหรับประเทศไทยนั้น ในปีที่แล้ว (2021) ก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 10,000 ล้านเหรียญ (จากที่เกินดุล 21,000 ล้านเหรียญในปี 2020 แม้ต้องเผชิญกับ COVID-19) และจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2022 อีกประมาณ 15,000 ล้านเหรียญ
หากเอเชียไม่ผลิตสินค้าส่วนเกินไปให้อเมริกาใช้จ่ายเกินตัว ก็จะทำให้ราคาสินค้าปรับลดลงได้ยาก
ดังนั้นเราจึงอาจกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ซึ่ง ดอกเบี้ยต่ำกลับกลายเป็นดอกเบี้ยสูง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงมีความท้าทายมากกว่าในอดีตมากครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร