การเปิดประเทศของจีน | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
การเปิดประเทศโดยการผ่อนคลายนโยบาย dynamic zero Covid (สกัดการรระบาดของ Covid ให้เป็นศูนย์) ของประเทศจีนที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอย่างมาก
เพราะจีนเป็นทั้งประเทศที่นำเข้าพลังงานและใช้สินค้าโภคภัณฑ์มาก (จึงจะมีผลต่อราคาสินค้าดังกล่าวในตลาดโลก) และยังเป็นประเทศผู้ผลิตและประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น iPhone) รายใหญ่ที่สุดของโลก
สำหรับประเทศไทยนั้นประเทศจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ทั้งในเชิงของการส่งออกสินค้าและการคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนกลับมาประเทศไทยอีกครั้งในปลายปีหน้าจำนวนหลายล้านคน
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม วารสาร The Economist ได้วิเคราะห์การปรับเปลี่ยนนโยบาย zero covid policy (“Xi Jinping’s zero-covid policy has turned a health crisis into a political one”)
ตรงนี้ต้องขอเตือนก่อนเลยว่าคนที่เชียร์ประเทศจีนคงจะไม่ชอบความเห็นของ The Economist แต่ผมเห็นว่าเป็นการวิเคราะห์ที่สมควรจะรับฟังไปไตร่ตรอง
ประเด็นปัญหาที่ผู้นำจีนต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้คือ การจะต้องดำเนินนโยบาย “สายกลาง” เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดระบบเศรษฐกิจ (lockdown) ในด้านหนึ่งและในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถหลีกเลี่ยงการระบาดของ COVID-19 (mass infections) พร้อมๆ กันไปด้วย
ในช่วงที่ประเทศจีนกำลังเข้าฤดูหนาวที่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคทางเดินหายใจ และในขณะเดียวกันก็จะต้องพยายามควบคุมมิให้การเดินขบวนและความไม่พอใจของประชาชนลุกลามออกไปอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
นโยบาย zero Covid ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนั้นในช่วง 2 ปีแรกประสบความสำเร็จอย่างงดงาม กล่าวคือเป็นนโยบายที่ควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำให้จำนวนคนจีนที่เสียชีวิตจากโรคนี้มีเพียง 5,200 กว่าคน (ประชากร 1,400 ล้านคน) ในขณะที่ฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐที่เน้นการฉีดวัคซีนและเปิดประเทศ (อย่างไม่ค่อยเป็นระบบ) ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิต จาก COVID-19 ในสหรัฐมีมากกว่า 1 ล้านคน (ประชากร 340 ล้านคน) ในช่วงแรกนั้น
จึงสรุปได้ว่า ระบบการปกครองที่รวมศูนย์ที่พรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงยังประสบความสำเร็จอย่างมากในการปกป้องชีวิตของประชาชนจีน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมื่อเปรียบเทียบกับความสูญเสียในเชิงของชีวิตและเศรษฐกิจในประเทศอเมริกา
แต่มาถึงวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ กล่าวคือประเทศต่างๆ ในโลกเร่งฉีดวัคซีนและเปิดประเทศ องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ประชากรประมาณ 2/3 ของประชากรทั้งโลกมีภูมิต้านทาน COVID-19
ไม่ว่าจะเป็นเพราะได้รับวัคซีน หรือเพราะเคยติดเชื้อมาแล้วหรือทั้งสอง ซึ่งผมคิดว่าเป็นตัวเลขที่น่าเชื่อถือได้เพราะปัจจุบันประชากรโลกประมาณ 90% ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็มและข้อมูลการติดเชื้อที่เก็บโดยประเทศพัฒนาแล้ว
ก็สะท้อนว่ามีผู้ติดเชื้อ (จึงมีภูมิคุ้มกัน) แล้วน่าจะประมาณ 1/3 ถึง ½ ของประชากรในประเทศดังกล่าว เช่น ในสหรัฐประชากรติดเชื้อเป็น Covid ไปแล้ว 29.87% เยอรมนี 43.40% เกาหลีใต้ 50.84% อังกฤษ 36% เป็นต้น
แต่สำหรับประเทศจีนนั้นมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไปแล้วเพียง 1.3 ล้านคน (คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 0.08% ของประชากรทั้งหมด) และแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ (90%) จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่คนกลุ่มเสี่ยงคืออายุ 80 ปีหรือมากกว่ามีเพียง 40% เท่านั้นที่ได้ฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3
นอกจากนั้นวัคซีนที่จีนใช้ก็เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งผลงานวิจัยพบว่ามีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีน mRNA และ Viral Vector (Astra Zeneca) ที่ใช้เป็นหลักในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
กล่าวโดยสรุปคือคนจีนส่วนใหญ่น่าจะไม่มีภูมิคุ้มกัน COVID-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ติดเชื้อได้ง่ายกว่า เพราะหลีกเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้เก่งกว่าสายพันธุ์เดิมๆ เช่น Delta เป็นต้น
The Economist อ้างว่าอาศัยแบบจำลองที่อาศัยข้อมูลการติดเชื้อและการเสียชีวิตที่ผ่านมา ทำให้สามารถประเมินได้ว่าหากเปิดประเทศอย่างเต็มที่โดยยอมให้มีการติด COVID อย่างกว้างขวาง
ก็จะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันพุ่งขึ้นได้สูงถึง 14 ล้านคน และเสี่ยงที่จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 680,000 คน แม้ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพและระบบการดูแลผู้ป่วยจะมีอย่างเพียงพอ
โดยประเมินว่าจะต้องมีห้อง ICU เพื่อดูแลผู้ป่วยหนัก 410,000 ห้อง แต่ประเทศจีนมีห้อง ICU เพียง 60,000 ห้องเท่านั้น (ผมพบว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเก่า แต่ก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับจำนวนห้อง ICU แต่อย่างใด)
ตรงนี้จะต้องอ้างอิงสถิติว่า ผู้ที่อายุ 80 ปีหรือมากกว่า มีที่ความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่าคนที่อายุ 20 ปีถึง 100 เท่า (งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเมินว่าผู้ติด COVID-19 สายพันธุ์ Omicron.2.75 นั้น มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิต (mortality rate) โดยรวมประมาณ 0.3%)
กล่าวโดยสรุปคือการเปิดเศรษฐกิจ หากจะทำให้เป็นผลได้จริงนั้น จึงต้องหมายถึงการเร่งฉีดวัคซีน (หากเป็นวัคซีน mRNA ก็จะให้ความมั่นใจสูงขึ้นไปอีก) โดยเฉพาะการเร่งฉีดเข็มกระตุ้นให้ผู้สูงอายุ
ตามด้วยการเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยหนัก (hospitalization) มากกว่าการทุ่มเททรัพยากรไปในการทำ lockdown และ mass testing
ประเด็นสุดท้ายคือ การยอมรับในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจว่า ในที่สุดประเทศจีนก็ต้อง “อยู่กับ” COVID-19 โดยให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่อย่างที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วทั่วโลก
ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้นั้น กำลังเป็นภาระทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ความไม่พอใจของประชาชนก็ดูเหมือนว่ากำลังเพิ่มขึ้นด้วย
ซึ่งปัจจุบันนั้นคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เพียง 3% ในปีนี้และ 4% ในปีหน้า ต่ำกว่าเป้าของรัฐบาลคือการขยายตัวของจีดีพีที่ 5.5% ต่อปีอย่างมาก
ที่สำคัญคือ อัตราการว่างงานของคนหนุ่ม-สาวในเขตเมือง (urban unemployment) นั้นสูงถึง 18% เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2018 ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร