คนจีนยังไม่อยากเที่ยวนอก แม้ทางการผ่อนคุมโควิด
ผลศึกษาล่าสุดชี้ คนจีนกว่าครึ่งชะลอแผนเดินทางไปต่างประเทศนานหลายเดือนถึงปีกว่า ต่อให้เปิดประเทศพรุ่งนี้ก็ตาม ส่งสัญญาณว่าการบริโภคจะฟื้นตัวได้ต้องใช้เวลา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน ผลการศึกษาล่าสุดชื่อ “การฟื้นตัวของการบริโภคจีน” จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาโอลิเวอร์ ไวแมน สำรวจผู้บริโภค 4,000 คนในจีน พบว่า พวกเขากังวลเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด รองลงมาคือการเปลี่ยนกฎการเข้าประเทศ
นางสาวอิมเก วูเตอร์ หุ้นส่วนด้านค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภคของโอลิเวอร์ ไวแมน กล่าวว่า ประชาชนระมัดระวังตัว “ดังนั้นแม้แต่เมื่อเดินทางได้แล้ว พวกเขาก็ยังไม่คิดจะเดินทางในทันที”
ผู้ให้ข้อมูลมากถึง 51% มีแผนชะลอการเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าไปก็จะไปที่ใกล้ๆโดยฮ่องกงเป็นปลายทางอันดับหนึ่งที่จะไป ผู้ให้ข้อมูล 34% บอกว่าจะไปฮ่องกงเป็นที่แรกถ้าจีนเปิดประเทศ
การสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นเมื่อปลายเดือน ต.ค. หลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้นำพรรคสมัยที่ 3 อย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งหลายคนหวังว่าจีนจะเปิดประเทศหลังโควิดได้
ก่อนหน้านี้จีนเคยเป็นตลาดท่องเที่ยวเอาท์บาวด์รายใหญ่สุดของโลก แต่นักท่องเที่ยวจีนที่ปี 2562 เคยใช้จ่ายในต่างแดนถึง 1.27 แสนล้านดอลลาร์กลับหายไปเลยเมื่อจีนปิดประเทศต้นปี 2563 พร้อมควบคุมการเดินทางของประชาชน
ผู้บริหารในจีนมากถึง 83% ให้ข้อมูลว่า การที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะฟื้นคืนต้องใช้เวลาอีกนานส่อเค้าส่งผลกระทบต่อธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ของพวกเขาในปีหน้า
แม้รายงานพบว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเพราะล็อกดาวน์และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ แต่วูเตอร์กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวจีนยังแสดงถึงความปรารถนาเพิ่มการใช้จ่ายในปีหน้าถ้าเงื่อนไขดีขึ้น
ผู้ให้ข้อมูลเกือบครึ่ง หรือ 44% อ้างว่า เงินออมส่วนตัวเพิ่มขึ้น เป็นเหตุผลให้พวกเขาอยากใช้จ่ายมากขึ้นในปีหน้า
ทั้งนี้ เงินออมครัวเรือนจีนเพิ่มขึ้นเป็น 13 ล้านล้านหยวน (1.8 ล้านล้านดอลลาร์) ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย. ปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 8.5 ล้านล้านหยวนจากช่วงเดียวกันของปี 2564
การใช้จ่ายส่วนใหญ่ในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเน้นไปที่ความเป็นอยู่ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ฟิตเนส หรือการอยู่ดีกินดี กลุ่มที่แปลกออกไปคือ กลุ่มเจนZ หรือคนที่เกิดระหว่างกลาง-ปลาย ทศวรรษ 1990 ถึงต้นทศวรรษ 2010 จะมุ่งเน้นการใช้จ่ายกับ “ชีวิต ณ ปัจจุบัน”
“เราไม่หวังจะได้เห็นการใช้จ่ายหรูหราเติบโตแบบเดียวกับที่เคยเห็นในปี 2564 แต่อะไรก็ตามที่เติบโตขึ้นเป็นผลมาจากคนเจนZ” วูเตอร์กล่าว