รัฐบาลเร่งเครื่องทำ ‘งบประมาณปี 67’ ส่งสัญญาณการเมืองปูทางยุบสภาฯ
นายกฯ เรียก 4 หน่วยงานเศรษฐกิจหารือวันนี้ กำหนดกรอบงบปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ขาดดุล 5.93 แสนล้าน เตรียมชง ครม. 10 ม.ค.นี้ สำนักงบฯ ยันไม่สะดุดแม้มีเลือกตั้ง เผยแผนสำรองใช้งบไปพลางได้ 6 เดือน ขณะที่ปฏิทินงบประมาณวางไว้ตามกำหนดเดือน ต.ค.ได้รัฐบาลใหม่เดือน มิ.ย.ปีนี้
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะเริ่มขึ้นในช่วงนี้ เพื่อกำหนดกรอบเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เพื่อให้สำนักงบประมาณนำไปหารือส่วนราชการเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยสำนักงบประมาณกำหนดปฏิทินเสนอ ครม.พิจารณาประมาณการรายได้ กำหนดนโยบายวงเงินและโครงสร้างงบประมาณ 2567 ในวันที่ 10 ม.ค.2566
หลังจากนั้นสำนักงบประมาณจะจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณ และเสนอ ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวันที่ 16 พ.ค.2566 แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนกรอบเวลาเพราะปีนี้จะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยกรณีไม่มีการยุบสภาจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.2566 และคาดว่าจะได้ ครม.ชุดใหม่ในเดือน มิ.ย.2566
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า วันนี้ (4 มค.) เวลา 9.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ร่วมกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจประกอบไปด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
นายเฉลิมพล กล่าวว่า กรอบการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะเป็นไปตามที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2566 ที่เห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณระยะปานกลาง 2567-2570 โดยงบประมาณ 2567 มีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.65 แสนล้านบาท โดยจัดทำงบประมาณขาดดุล 5.93 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 3% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางกรอบการคลังระยะปานกลางที่ต้องการทำให้งบประมาณไปสู่สมดุลในที่สุด
ทั้งนี้ งบประมาณปี 2567 ประกอบไปด้วยรายได้ของรัฐบาล 2.757 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลรวม 3.357 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% และมีหนี้สาธารณะคงค้าง 1.18 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61.35% ต่อจีดีพี
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2567 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 1-2% ชะลอลงจากปี 2566 ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.3-4.3% (ค่ากลาง 3.8%) โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวดีขึ้นของการลงทุนภายในประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว
ทำแผนสำรองงบช่วงเลือกตั้ง
นายเฉลิมพล กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 2567 นั้นสำนักงบประมาณทำแผนรองรับปัจจัยการเลือกตั้ง ซึ่งการจัดทำงบประมาณอาจล่าช้าออกไปจากที่กำหนดไว้ โดยมีการทำแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปพลางก่อน ไว้เป็นเวลา 6 เดือน และหากล่าช้าออกไปก็ขยายระยะเวลาการใช้งบไปพลางก่อนออกไปได้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ครม.อาจต้องอนุมัติกรอบงบประมาณปี 2567 ก่อนที่จะมีการยุบสภา เพื่อให้สำนักงบประมาณนำกรอบไปหารือกับส่วนราชการเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ โดยจะทำให้ส่วนราชการสามารถทำงบประมาณในระหว่างที่มีการเลือกตั้งได้ และเมื่อได้ ครม.ชุดใหม่เข้ามาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณได้เลยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
ได้ ครม.ใหม่เดือน มิ.ย.
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้ง โดยเริ่มนับจากวันที่ 23 มี.ค.2566 ที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และ กกต.ประกาศกำหนดวันรับสมัครวันที่ 3-7 เม.ย.
ส่วนวันที่ 30 เม.ย.เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง และวันที่ 7 พ.ค.เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยหลังจาก กกต.รับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. 95% แล้ว ภายใน 15 วัน ให้เรียกประชุมรัฐสภา (รัฐพิธี) คาดว่าอยู่ระหว่างวันที่ 22-25 พ.ค. จากนั้นไม่เกิน 10 วัน (ไม่เกิน 5 มิ.ย.) ต้องเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ โดยหลังโปรดเกล้าฯ ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน และรองประธานสภาฯ แล้วให้เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ กกต.ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเลือกนายกรัฐมนตรีว่าต้องดำเนินการภายในกี่วัน ซึ่งในปี 2562 ใช้เวลาเพียง 10 วัน โดยมีประชุมสภา วันที่ 25 พ.ค.2562 และวันที่ 5 มิ.ย.2562 มีการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงคาดว่าครั้งนี้จะได้นายกรัฐมนตรีและ ครม.ชุดใหม่ภายในเดือน มิ.ย.2566