คาดตลาดอาหารสัตว์จาก ‘แมลง’ แตะ 1.5 พันล้าน
นับตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 การส่งออกอาหารสัตว์ของไทยเติบโตได้อย่างโดดเด่น โดยในปี 2564 มูลค่าส่งออกอาหารสัตว์ของไทยมีมูลค่าถึง 2.45 พันล้านดอลลาร์สรอ. เป็นอันดับ 6 ของโลก
นับตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 การส่งออกอาหารสัตว์ของไทยเติบโตได้อย่างโดดเด่น โดยในปี 2564 มูลค่าส่งออกอาหารสัตว์ของไทยมีมูลค่าถึง 2.45 พันล้านดอลลาร์สรอ. เป็นอันดับ 6 ของโลก โดยในปี 2562-2564 มีอัตราการเติบโตในระดับสูงถึง 21.1%CAGR และเป็นการเติบโตดีกว่าผู้ส่งออกอาหารสัตว์รายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกอย่างเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีอัตราการเติบโตของการส่งออกอยู่ที่ 18.5%CAGR และ 13.7%CAGR ตามลำดับ เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบจากการได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าในตลาดอาเซียน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการผลิตในห่วงโซ่การผลิตสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับต้นๆ ในภาคเกษตรและอาหาร ทำให้หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับการผลิตอาหารสัตว์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เช่น ในการประชุม Cop27 ที่นอกจากจะมีวาระพูดถึงการลดก๊าซเรือนกระจกในระบบการผลิตอาหารสำหรับมนุษย์แล้ว ยังมีการให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารสัตว์ที่ช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ด้วย ดังนั้น ในบทความนี้ Krungthai COMPASS จึงนำเสนอเรื่อง Insect Feed ซึ่งเป็นหนึ่งทางเลือกในเทรนด์อาหารสัตว์ที่น่าสนใจที่จะช่วยผู้ประกอบการรับมือกับความท้าทายจากกระแสลดโลกร้อนดังกล่าว
กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในสัดส่วนที่สูงแค่ไหน?
การผลิตอาหารสัตว์เป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงที่สุดในห่วงโซ่การผลิตปศุสัตว์ โดยจากข้อมูลของ Our world in data ระบุว่า ภาคปศุสัตว์เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก และจากข้อมูลของ The Farm Animal Investment Risk and Return (FAIRR) และ Food and Agriculture Organization of United Nations (FAO) ชี้ว่า กิจกรรมการผลิตอาหารสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 45% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดตลอดห่วงโซ่การผลิตปศุสัตว์ (รูปที่ 1) เนื่องจากในกระบวนการผลิตต้องมีการบุกรุกทำลายป่า หรือแผ้วถางป่า เพื่อปรับเปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งในกระบวนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชอาหารสัตว์ยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ หากลงรายละเอียดไปในแต่ละกลุ่มปศุสัตว์ โดยยกตัวอย่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคปศุสัตว์ในสหภาพยุโรป จะพบว่า กิจกรรมการผลิตอาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงสุกรปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดราว 114 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นสัดส่วนถึง 63% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดตลอดห่วงโซ่การผลิตสุกร ซึ่งยิ่งสะท้อนว่าการผลิตอาหารสัตว์เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ (รูปที่ 2) ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์รายใหญ่ของโลก เช่น Cargill และ JBS ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพัฒนา คือ อาหารสัตว์จากแมลงเพราะนอกจากจะตอบโจทย์เรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยให้สัตว์มีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงต่อผลผลิต อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากแมลงยังมีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอีกด้วย ซึ่งเราจะอธิบายรูปแบบและลักษณะของผลิตภัณฑ์ Insect Feed ในส่วนถัดไป
ทำความรู้จักกับอาหารสัตว์จากแมลง (Insect Feed)
Insect Feed คืออะไร?
Insect Feed คือ อาหารสัตว์ที่นำแมลงมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยสามารถแบ่งประเภท Insect Feed เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ
อาหารสำหรับปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ คือ อาหารสำหรับสุกร วัว ไก่ และอาหารสำหรับกุ้ง ปลา โดยใช้แมลงมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น หนอนนก แมลงวันลาย จิ้งหรีด สำหรับตัวอย่างบริษัทในต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท Alltech Coppens ซึ่งเป็นบริษัท Startup สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่ผลิตอาหารปลาจากโปรตีนแมลง หรือบริษัท Enviro flight เป็นบริษัท Startup สัญชาติสหรัฐ ที่ผลิตอาหารสัตว์จากหนอนแมลงวันลาย
อาหารสัตว์เลี้ยง คือ อาหารสุนัขและแมวที่ใช้แมลงเป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น หนอนนก แมลงวันลาย เป็นต้น โดยปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงหลายรายหันมาพัฒนาผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจากแมลงมากขึ้น เช่น บริษัท Yora ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ผลิตอาหารสัตว์ที่เหมาะสำหรับสัตว์เลี้ยงที่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่น หรือบริษัท Entoma บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเหมาะสำหรับสัตว์เลี้ยงที่แพ้ง่าย
Insect Feed ใช้ทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมได้ 100%
หรือไม่?
สัดส่วนในการใช้ Insect Feed เพื่อทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมขึ้นอยู่กับประเภทของสัตว์ ช่วงอายุของสัตว์ รวมทั้งสายพันธุ์แมลงที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ โดยจากรายงานการศึกษาเรื่อง Potential Utilization of Insect Meal as Livestock Feed (2022) ชี้ว่า อาหารของลูกสุกรควรใช้วัตถุดิบแมลงเป็นส่วนผสมประมาณ 3.5% ขณะที่อาหารของสุกรโตเต็มวัยควรใช้วัตถุดิบแมลงเป็นส่วนผสม 8% หรือจากการศึกษาของ Insect Meal to mix: Effect on fish feed pellet-All about Feed (2018) ระบุว่า ในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจำพวกปลาควรมีการใช้วัตถุดิบแมลงเป็นสัดส่วน 75% นอกจากนี้ งานวิจัยเรื่อง Use of insects in poultry feed as replacement soya bean meal and fish meal in development countries ระบุว่า หากนำโปรตีนจากแมลงวันลายผสมอาหารสัตว์เลี้ยงแทนกากถั่วเหลืองเป็นสัดส่วนประมาณ 23-45% จะทำให้ไก่ออกไข่มากขึ้น (ตารางที่ 1)
โดยทั่วไปลักษณะผลิตภัณฑ์ Insect Feed มี 2 รูปแบบ 1) อาหารสัตว์สำเร็จรูปซึ่งพร้อมใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเป็นการผลิตที่นำวัตถุดิบจากแมลงมาผสมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทอื่น เช่น ปลาป่น กากถั่วเหลือง เป็นต้น ตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับสัตว์แต่ละประเภท 2) อาหารสัตว์ที่จำหน่ายเป็นอาหารเสริมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องนำไปผสมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทอื่นเอง ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม
ทำไมจึงควรใช้ Insect feed
Insect Feed ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตอาหารสัตว์ดั้งเดิมที่ใช้กากถั่วเหลือง ดังจะเห็นได้จากการศึกษาของ Bryan, Garnier & Co (2022) พบว่า การผลิต Insect Feed ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ดั้งเดิม เช่น ถั่วเหลือง ในหลากหลายมิติทั้งในด้านการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ที่ดิน การใช้น้ำ รวมทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นต้น (รูปที่ 3) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ Deutsches Institut für Lebensmitteltechnik (DIL) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอุตสาหกรรม ในประเทศเยอรมนี ระบุว่าการผลิต Insect Feed 1 กิโลกรัม ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราว 1.1 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่ำกว่าอาหารสัตว์จากถั่วเหลืองซึ่งอยู่ที่ 7.5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือต่ำกว่าถึง 7 เท่า อีกทั้งยังใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าถึง 330 ลิตร
ทำให้ปัจจุบันกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้มีการนำแมลงมาผลิตเป็นอาหารสัตว์อย่างแพร่หลาย เช่น บริษัท Better Origin ซึ่งเป็น Startup ในสหราชอาณาจักร ที่พัฒนาการผลิตอาหารสัตว์จากหนอนแมลงวันลาย โดยมีการเพาะเลี้ยงฟาร์มแมลงที่เรียกว่า Better Origin X1 ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีลักษณะเหมือนตู้คอนเทนเนอร์โดยภายในจะมีการใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยในการเพาะเลี้ยงแมลง ซึ่งผลผลิตที่ได้จากกระบวนการเพาะเลี้ยงในฟาร์มเหล่านี้จะสามารถนำมาผลิตอาหารให้ไก่ไข่ราว 32,000 ตัวต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงปีละ 5,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการลดการตัดไม้ทำลายป่าในอเมริกาใต้ได้ถึง 336 ไร่ต่อปี หรือบริษัท Ynsect ซึ่งเป็นบริษัท Startup สัญชาติฝรั่งเศส ที่ผลิตโปรตีนจากแมลง ซึ่งได้มีการระดมเงินทุนสร้างฟาร์มเลี้ยงแมลง เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง โดยกระบวนการผลิตในรูปแบบดังกล่าวช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี นอกจากนี้อาหารสัตว์เลี้ยงจากแมลงยังมีสารอาหารที่ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ รวมทั้งช่วยลดอาการแพ้อาหารสัตว์ในสัตว์เลี้ยง อีกทั้งแมลงอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินนานาชนิด มากกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่นที่นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง รวมทั้งยังมีไฟเบอร์ ที่ไม่สามารถหาได้ในเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ ทำความรู้จัก Insect Products เมื่อแมลงกลายเป็นแหล่งโปรตีนใหม่แห่งโลกอนาคต)
2. Insect Feed ช่วยรับมือกับกฎระเบียบทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก และเป็นตลาดส่งออกอาหารสัตว์คิดเป็นสัดส่วนรวมกันคิดเป็นเกือบ 50% ของมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์ทั้งหมดของไทย (รูปที่ 4) โดยในระยะข้างหน้ามาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคทางการค้าสำหรับผู้ส่งออกอาหารสัตว์ของไทยที่ปรับตัวไม่ทัน โดยมาตรการที่มีโอกาสส่งผลกระทบกับธุรกิจอาหารสัตว์ ได้แก่ นโยบายฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) ของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นมาตรการที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค โดยจะต้องมีการพัฒนาระบบอาหารที่มีความโปร่งใส ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการปลูก การแปรรูป การบริโภค จนถึงการกำจัดขยะอาหาร ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอาหารสัตว์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป ซึ่งในอนาคตอาจขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่น จึงเป็นปัจจัยกดดันต่อธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว จำเป็นที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง Insect Feed เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ
3. Insect Feed เป็นทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงที่วงการอาหารสัตว์ให้ความสนใจมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ สร้างความกังวลในเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบธัญพืช ซึ่งส่วนหนึ่งใช้สำหรับการผลิตอาหารสัตว์ รวมทั้งทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (รูปที่ 5) เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก โดยมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราว 19% ของปริมาณการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดของโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีราว 29% ของปริมาณการส่งออกข้าวสาลีทั้งหมดของโลก
ซึ่งจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นจะทำ Insect Feed เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์ในการช่วยกระจายความเสี่ยงในด้านการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ โดยจะช่วยในการลดการพึ่งพานำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การนำเข้าถั่วเหลืองของไทย ที่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบถึง 99.0% ของความต้องการใช้ในประเทศทั้งหมด (รูปที่ 6) อีกทั้ง ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ของไทยมีต้นทุนด้านวัตถุดิบถึง 80% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด การผลิตอาหารสัตว์ทดแทนจึงเป็นแนวทางที่ช่วยรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังมีสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ซึ่งเหมาะสำหรับการเติบโตของแมลงหลากหลายสายพันธุ์ จึงทำไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ Insect Feed โดยจากข้อมูลของ FAO พบว่าสายพันธุ์แมลงในไทยที่สามารถใช้สำหรับการผลิตอาหารสัตว์ได้มีหลายสายพันธุ์ เช่น หนอนแมลงวันลาย จิ้งหรีด และหนอนนก เป็นต้น
มูลค่าตลาด Insect Feed ของโลกใหญ่แค่ไหน
คาดว่ามูลค่าตลาด Insect Feed ของโลกจะแตะระดับ 6 พันล้านดอลลาร์สรอ. ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจากรายงานของ Market Reports World คาดว่าในปี 2570 มูลค่าตลาด Insect Feed ของโลกจะอยู่ที่ 6,039 ล้านดอลลาร์สรอ. (ประมาณ 223,451 ล้านบาท) หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 26.8%CAGR จากเดิมในปี 2565 ที่เท่ากับ 1,842 ล้านดอลลาร์สรอ. (ประมาณ 68,169 ล้านบาท)
ส่วนตลาด Insect Feed ของประเทศไทย Krungthai COMPASS คาดว่าในปี 2570 จะอยู่ที่ราว 1,500 ล้านบาท จากเดิมในปี 2565 ที่มีมูลค่าเท่ากับ 459 ล้านบาท หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 26.7%CAGR หรือคิดเป็น 0.3% ของมูลค่าตลาดอาหารสัตว์ในประเทศในปี 2570 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ราว 4.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินโดยอ้างอิงจากงานวิจัยของต่างประเทศที่มีข้อมูลมูลค่าตลาด Insect Feed ของเอเชีย จากนั้นเราคาดการณ์มูลค่าตลาด Insect Feed ของไทย โดยกำหนดให้สัดส่วนมูลค่าตลาด Insect Feed ของไทยเทียบกับมูลค่าตลาด Insect Feed ของเอเชีย เป็นสัดส่วนเดียวกับความต้องการใช้อาหารสัตว์รวมของไทยเทียบกับความต้องการใช้อาหารสัตว์รวมของเอเชีย ซึ่งขึ้นอยู่กับ 1) จำนวนผลผลิตปศุสัตว์แต่ละชนิด 2) ปริมาณอาหารสัตว์ที่ต้องการของสัตว์แต่ละชนิด
Insect Feed เป็นโอกาสสำหรับใครบ้าง
Krungthai COMPASS ประเมินว่า การที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มที่จะหันมาใช้ Insect Feed มากขึ้น ในอนาคต จะส่งผลบวกต่อผู้เพาะเลี้ยงแมลง ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ใช้อาหารสัตว์ และภาครัฐ ดังนี้
ผู้เพาะเลี้ยงแมลง Insect Feed จะช่วยสร้างความต้องการผลิตภัณฑ์จากแมลงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อรายได้ของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงแมลง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงแมลงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับแนวทางปฎิบัติด้านมาตรฐานการเลี้ยงและการรับรองมาตรฐานยกตัวอย่างเช่น “แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด” หรือ GAP ฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ. 8202-2560) เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เลี้ยงแมลงสามารถตั้งราคาขายได้สูงขึ้น
ผู้ผลิตอาหารสัตว์ Insect Feed ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยจากข้อมูลของ Petco ชี้ว่า พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้น สำหรับสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีการใช้วัตถุดิบทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ราคาอาหารสัตว์เลี้ยงที่ผลิตมาจากแมลง สามารถตั้งราคาได้สูงกว่าอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วไป และแม้ว่าปัจจุบันต้นทุนการผลิต Insect Feed ยังสูงกว่าต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ทั่วไป แต่ในระยะข้างหน้าแนวโน้มต้นทุนการผลิตจะถูกลง เนื่องจากผู้ผลิตอาหารสัตว์ต่างมีการลงทุนขยายกำลังการผลิตมากขึ้นจนทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด
นอกจากนี้ ธุรกิจยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในรูปแบบสิทธิพิเศษด้านภาษี และการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับการนำเข้าเครื่องจักร จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการขยายการลงทุนต่อยอดในกลุ่ม Insect Feed เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment :BOI) พบว่า ในปี 2564 มีบริษัทในกลุ่มกิจการผลิตอาหารสัตว์ ได้รับการอนุมัติจาก BOI จำนวน 28 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 10,393.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 17 โครงการ เงินลงทุนรวม 2,345.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ทั้งในแง่จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนถึง 64.7% และ 343.1% ตามลำดับ
ผู้ใช้อาหารสัตว์ เช่น ผู้เลี้ยง ผู้เพาะเลี้ยง โดย Insect Feed ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ดังจะเห็นจากงานวิจัยของ Bryan, Garnier & co (2022) ที่ชี้ว่า ปลากะพงที่ได้รับการให้อาหารสัตว์จากแมลงจะมีอัตราการตายลดลง 25% เมื่อเทียบกับปลากระพงที่ได้รับการให้อาหารสัตว์ปกติ เนื่องจากสารอาหารจากแมลงช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์ เช่น โปรตีนจากแมลงวันลายมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อก่อโรคต่างๆ ส่งผลให้การติดเชื้อในสัตว์ลดลง หรือการศึกษาของ Insect meal as a feed ingredient for poultry (2022) พบว่า ไก่ที่บริโภคอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของแมลง จะมีเนื้อที่ต้นขาเพิ่มขึ้น ซึ่งประสิทธิภาพในการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กำไรของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากผู้ประกอบการในกลุ่มผู้เลี้ยงไก่เนื้อใช้ Insect Feed ทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมในสัดส่วนที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้ 3% ซึ่งประเมินโดยมีสมมติฐานซึ่งอ้างอิงจาก Uses insects in poultry feed as replacement soya bean meal and fish meal in development countries: a systematic review (2021) ที่ระบุว่า หากใช้ Insect Feed ในสัดส่วนที่เหมาะสมจะทำให้อัตราการแลกเนื้อ (FCR) ลดลง 30% ทำให้ FCR เดิมของธุรกิจเลี้ยงไก่เนื้อจาก 1.70 ลดลงเป็น 1.19 ขณะที่ถ้าอ้างอิงข้อมูลจาก Insect larvae, Hermetia illucens in poultry by-product meal for barramundi, Lates calcarifer modulates histomorphology, immunity and resistance to Vibrio harveyi ระบุว่าการใช้ Insect Feed จะทำให้อัตราการรอดในการเลี้ยงไก่เนื้อ (Survival Rate) เพิ่มขึ้นจากเดิม 93% เป็น 96% และกำหนดให้ราคาวัตถุดิบ Insect feed ที่ทำจาก Black soldier fly larvae meal อยู่ที่ 94 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ดั้งเดิมอย่างกากถั่วเหลืองอยู่ที่ 22 บาทต่อกิโลกรัม และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อใช้ Insect Feed ทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมในสัดส่วน 10% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อ พบว่า การใช้ Insect Feed จะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากเดิมอยู่ที่ 7.0%
ภาครัฐ ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐมีความพยายามในการผลักดันการพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทรนด์การใช้ Insect Feed จะช่วยให้เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรสำเร็จได้ง่ายขึ้น อีกทั้งทำให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยดีขึ้น และลดแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมจากคู่ค้าต่างประเทศ เนื่องจากภาคปศุสัตว์ของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภาคเกษตรและอาหาร โดยจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า ภาคปศุสัตว์ของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 20.7% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรและอาหารทั้งหมดของไทย เป็นอันดับ 3 รองจากการเพาะปลูกข้าว และการใช้ดินเพาะปลูก ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 50.7% และ 22.7% ตามลำดับ ดังนั้นหากไทยมีการใช้ Insect Feed เพิ่มมากขึ้นก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกในกลุ่มเกษตรและอาหารที่ถูกจับตาในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
ถ้าหากไทยมีการใช้ Insect feed แพร่หลายมากขึ้นจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้แค่ไหน?
หากไทยมีการใช้ Insect Feed แพร่หลายมากขึ้น โดยสมมติฐานว่าภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันในการผลักดันการใช้ Insect Feed จนทำให้มีสัดส่วนการใช้ Insect Feed ทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายของสหภาพยุโรปที่ต้องการใช้ Insect Feed ราว 5-12% ของปริมาณการใช้อาหารสัตว์ทั้งหมด จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ราว 4 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกป่า 34 ล้านต้น คิดเป็นพื้นที่ป่า 3.4 แสนไร่ หรือประมาณ 0.4 เท่าของพื้นที่กรุงเทพฯ โดยในการประเมินเริ่มจากการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมการผลิตอาหารสัตว์ของไทย โดยใช้ฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเกณฑ์ของ Global Livestock Environmental Assessment Model (GLEAM) ที่มีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการผลิตปศุสัตว์ ในกิจกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งจากข้อมูลของ GLEAM ประเมินว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคปศุสัตว์ในอาเซียนอยู่ที่ 327.41 ล้านตันคาร์บอน
ไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี แต่เนื่องจาก GLEAM ไม่มีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายประเทศ เราจึงประมาณการสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ของไทยเทียบอาเซียนก่อน โดยเป็นการพิจารณาจากจำนวนปศุสัตว์แต่ละชนิดและอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสัตว์แต่ละประเภทของประเทศในอาเซียน ทำให้ได้สัดส่วนของไทยอยู่ที่ 7.4% ซึ่งเมื่อคูณกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคปศุสัตว์ในอาเซียนตามเกณฑ์ข้อมูลของ GLEAM จะทำให้ได้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคปศุสัตว์ของไทยราว 24.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากนั้นกำหนดให้สัดส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมผลิตอาหารสัตว์ของไทย เท่ากับสัดส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมอาหารสัตว์ต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของภาคปศุสัตว์ในอาเซียนซึ่งอยู่ที่ 58.07% จะทำให้ได้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมอาหารสัตว์ของไทยราว 14.1 ล้านตันคาร์บอน
ไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และหากอ้างอิงข้อมูลจาก The Potential of Insect Protein to Reduce Food-based Carbon Footprints in Europe ซึ่งระบุว่า การใช้ Insect Feed ในการเลี้ยงปศุสัตว์จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 34% เมื่อเทียบกับการใช้อาหารสัตว์แบบดั้งเดิม และหากกำหนดให้ไทยมีสัดส่วนการใช้ Insect Feed ทดแทนอาหารสัตว์ดั้งเดิมได้ใกล้เคียงกับของสหภาพยุโรปที่มีเป้าหมายใช้ Insect Feed ราว 5-12% ของปริมาณการใช้อาหารสัตว์ทั้งหมด ซึ่งเมื่ออ้างอิงสัดส่วนดังกล่าวก็จะช่วยให้ไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 4 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี