เปิดวิสัยทัศน์ 'จุฬา สุขมานพ' เตรียมปรับทัพอีอีซีฝ่าปัจจัยท้าทาย
เปิดวิสัยทัศน์ 'จุฬา สุขมานพ' ว่าที่เลขาธิการ สกพอ. เดินหน้าปรับทัพองค์กรฝ่าปัจจัยท้าทาย สู่เป้าหมายดันอีอีซีเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2565 มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ.เป็นประธาน โดยมีการเห็นชอบจุฬา สุขมานพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คนใหม่ เพื่อเร่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งปัจจุบันหลายโครงการสำคัญยังอยู่ในสเตตัสรอตอกเสาเข็ม
จุฬา สุขมานพ ว่าที่เลขาธิการ สกพอ.ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าจะนำเอาความรู้ความสามารถและประสบการณ์การทำงานเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาใช้ในอีอีซี อีกทั้งจะนำความรู้จากการวางแผนงาน การบริหารองค์กรภาครัฐยุคใหม่มาปรับใช้ เพื่อทำให้ สกพอ.เป็นองค์กรที่ทันสมัย และพื้นที่อีอีซีจะเป็นต้นแบบแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยวิสัยทัศน์ที่จะนำมาบริหาร สกพอ.นั้น จะเดินหน้าภายใต้ “อีอีซี เป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความหวังของคนไทยและเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและประชากรนานาชาติ” โดยมีความหมายว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจะเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จที่ได้รับการอ้างอิงถึงในการบริหารงานภาครัฐยุคใหม่ ทั้งในด้านการกำหนดนโยบายและการทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ ในการบริหารงานจะมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ดี ความทันสมัย ความอุดมสมบูรณ์ เอกลักษณ์และคุณค่าของความเป็นไทย และคนไทยที่จะช่วยให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความหลากหลาย (Diversity) และความแตกต่าง (Uniqueness) จากพื้นที่อื่น และกลายเป็นเป้าหมายสำหรับการจัดตั้งสถานที่ทำงานหรือการย้ายถิ่นฐานของประชากรนานาชาติ ซึ่งจะดึงดูดให้เกิดการลงทุนเพื่อรองรับอุปสงค์ใหม่ดังกล่าว
ส่วนพันธกิจที่ตนจะนำมาขับเคลื่อนองค์กรนั้น คือ Re-evaluate, Re-image, Re-alive & Realize โดยเริ่มต้นจาก Re-evaluate การประเมินกลไกการพัฒนาพื้นที่อีอีซีที่กำหนดไว้ ทั้งในเรื่องของอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เขตส่งเสริมเศรฐกิจพิเศษ และสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งการประเมินกลไกเหล่านี้จะดำเนินการภายใต้ปัจจัยความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมาปรับใช้ เช่น ความปกติถัดไปที่เกิดขึ้นภายหลังจากการปรับตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Next Normal) การถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ (Global Recession) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นต้น
ส่วน Re-Image การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่แสดงให้เห็นว่ากลไกการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความทันสมัย เหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความสนใจและยอมรับประเด็นการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับตน เกิดความเชื่อมั่นและเป็นแนวร่วมกับ สกพอ. ในการดำเนินโครงการต่างๆ ตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวคือ เป็นการนำ Soft side ไปขับเคลื่อน Hard side เพื่อจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายนั้นๆ
ขณะที่ Re-Alive จะเป็นการปลุกให้สังคมกลับมาให้ความสนใจในโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงโครงการที่จะผลักดันใหม่ เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนใหม่อีกครั้ง เช่น การแสดงความก้าวหน้าและบริหารโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามแผน
รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างพันธมิตรกับประชาชนในพื้นที่ตาม Zoning ของการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ซึ่งควรเริ่มจากการผลักดันโครงการที่พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ หรือทำให้ Residential Area กับ Working Area สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก เช่น โครงการ Smart Living City โครงการ EEC : Destination & Workation เป็นต้น
และส่วนสุดท้าย Realize คือ การแปลงนโยบายและแผนต่างๆ ให้เกิดเป็นโครงการ และเกิดผลผลิต ผลลัพธ์และผลเชิงบวกต่อการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดตามวัตถุประสงค์ โดยการสร้างและรักษาระบบนิเวศสำหรับการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันของ 3 ฝ่าย คือ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นตัวแทนของระดับนโยบาย ผู้ประกอบกิจการต่างๆ ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และประชาชนในพื้นที่
โดย สกพอ. ต้องทำหน้าที่เป็น Facilitator ผู้อำนวยความสะดวกในการบริหารความสัมพันธ์ และส่วนได้เสียของแต่ละฝ่าย รวมถึงผู้ประกอบการหรือผู้รับจ้างในห่วงโซ่อุปทานของแต่ละฝ่ายนั้นด้วย นอกจากนั้น สกพอ. ต้องทำหน้าที่แก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากกฎระเบียบและการบริหารงานของภาครัฐต่างๆ และการเตรียมความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่อีก
ทั้งนี้วิสัยทัศน์และพันธกิจที่กล่าวมานั้น จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเป้าหมายของ สกพอ.ที่ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1.การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบท่าอากาศยานอู่ตะเภา และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง (TOD)
2.การดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายปีละ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในระดับฐานปกติปีละ 250,000 ล้านบาท และการลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) รวมปีละ 150,000 ล้านบาท
3.การยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด อีคอมเมิร์ซ การสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้ชุมชน