พัฒนาศักยภาพเพิ่ม ‘รายได้’ แรงงาน หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

พัฒนาศักยภาพเพิ่ม ‘รายได้’ แรงงาน หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ทีดีอาร์ไอเปิดรายงานผลการศึกษา ภาพอนาคตประเทศไทยรายได้สูง มุมมองตลาดแรงงานไทยในอนาคต ชี้อีก 20 ปี ไทยจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ย้ำต้องเร่งเพิ่มศักยภาพ เพิ่มทักษะแรงงาน

การพัฒนาประเทศไทยตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันไม่สามารถทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศรายได้สูง เนื่องจากปัญหาด้านแรงงานหลายอย่างเป็นปัญหาที่สะสมมานานและใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมไม่ได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอได้ศึกษาออกแบบการพัฒนาแรงงานในปัจจุบันภายใต้ข้อสมมติที่ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงโดยฉายภาพมุมมองด้านแรงงานในอีก 20 ปีข้างหน้าเพื่อกำหนดลักษณะแรงงานที่ต้องการในอนาคตและนำมาพัฒนานโยบายในปัจจุบัน

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย
และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ดร.อมรเทพ จาวะลา ระบุ หากเศรษฐกิจไทยโตได้ราว 3-3.5% ซึ่งถือว่าต่ำ แม้ปีนี้จะมองว่าเศรษฐกิจโตได้ดีกว่าปีที่แล้วจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมาช่วยหนุนแต่ยังไม่สามารถจะทำให้เศรษฐกิจไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เร่งการลงทุนภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว ปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ราว 3% ต่อเนื่องอีกนานเนื่องจากปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ แรงงานเข้ามาในระบบน้อยลงเพราะอัตราการเกิดลดลง การจะดึงแรงงานเข้าสู่ระบบต้องมาจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ปัญหาการว่างงานของไทยยังถือว่าต่ำมาก แต่แรงงานมีรายได้น้อยทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ คนอยู่ในแรงงานนอกระบบค่อนข้างมาก

20 ปี ไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลาง

ด้านนักวิจัยที่ปรึกษารับเชิญ ทีดีอาร์ไอ ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร รายงานผลการศึกษา อนาคตประเทศไทยรายได้สูง มุมมองตลาดแรงงานในอนาคต ระบุว่า แรงงานเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจไทยทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประเมินว่าการจะพัฒนาให้ประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูงได้นั้นต้องใช้เวลาอีกราว 20 ปี หรือภายในปี 2585 เพื่อให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง 

ประเทศไทยก็ยังเผชิญกับสังคมผู้สูงวัยที่แรงงานน้อยลงหลายเท่าตัว การพัฒนาทรัพยากรคนจึงต้องใส่ใจตั้งแต่เกิดจนจบการศึกษาเพราะการพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนเรื่องค่าแรงของไทยที่เหมาะสมต้องคำนึงถึงเรื่องค่าครองชีพที่แท้จริง แล้วแยกทักษะแรงงาน ต้องมีหลักคิดแยกทักษะให้ชัดเจนกับรายได้
กรณีการเหมารวม 5 ปีข้างหน้ากำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ถือว่าไม่ถูกต้องเป็นตัวเลขที่เลื่อนลอย

สำหรับข้อเสนอของการพัฒนาแรงงานไทยในอนาคต ผลการศึกษาเชิงนโยบายระบุชัดว่าการพัฒนาทักษะแรงงานไทยในปัจจุบันเพื่อยกระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวให้พ้นเกณฑ์รายได้ปานกลางอาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การทำงานของภาครัฐต้องไม่ยึดติดกับรูปแบบในอดีต ต้องพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการใช้การเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบบูรณาการ และพัฒนาแรงงานตามช่วงวัย