ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไทยปี 65 สูงขึ้น 5.7%
สนค. เผยดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไทยปี 65 สูงขึ้น 5.7% หลังต้นทุนต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งราคาพลังงาน วัตถุดิบ ค่าแรง ค่าไฟ ดอกเบี้ย เงินบาทอ่อน และน้ำท่วมปลายปี คาดปี 66 ดัชนีใกล้เคียงปี 65
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 65 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างของไทยสูงถึง 5.7% เทียบปี 64 ซึ่งเป็นไปตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 64 จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน การลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตรายสำคัญของโลก ประกอบกับ การสูงขึ้นของค่าแรง การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า และอัตราดอกเบี้ย เงินบาทที่อ่อนค่า และปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายไตรมาส 3 และต้นไตรมาส 4 ปี 65 ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต และค่าขนส่งอยู่ในระดับสูง
แต่ความต้องการใช้เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กโลกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ รวมถึงจีนประสบปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ ส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก และดัชนีวัสดุก่อสร้างโดยรวมของไทยชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
เฉพาะเดือนธ.ค.65 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 119.4 ลดลง 0.2% เทียบเดือนพ.ย.65 แต่ยังสูงขึ้นถึง 3.6% เทียบเดือนธ.ค.64 สาเหตุที่ดัชนีราคาเทียบเดือนพ.ย.65 ลดลง มาจากการลดลงของราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์ ตามการลดลงของราคาตลาดโลก รวมถึงหมวดสุขภัณฑ์ ที่ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
สำหรับ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ปี 66 มีแนวโน้มใกล้เคียงปี 65 จากความต้องการในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนที่จะเริ่มกลับมาเป็นปกติจากนโยบายเปิดประเทศ ที่จะส่งผลต่อความต้องการใช้และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์ และน้ำมัน ขณะที่ราคาพลังงานที่ยังไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า การปรับขึ้นค่าแรงทั้งระบบ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความกังวลต่อโควิด-19 ในจีนที่อาจรุนแรงจนกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนและประเทศต่างๆ ตลอดจนการทยอยลดนโยบายส่งเสริมภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ เช่น การไม่ต่อมาตรการ LTV (Loan To Value) อาจมีส่วนกดดันความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศ และส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ สนค.ได้สำรวจจากกลุ่มผู้บริโภค 7 กลุ่มอาชีพ รวม 6,600 คนในทุกอำเภอ หรือ 884 อำเภอทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีโดยรวมอยู่ที่ 50.4 เพิ่มจาก 49.9 ในเดือนพ.ย.65 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดและปรับขึ้นมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่น (ค่าดัชนีมากกว่า 50 ขึ้นไปจากเต็ม 100) เป็นครั้งแรกในรอบ 43 เดือนนับจากเดือนพ.ค.62 ก่อนการระบาดของโควิด-19 และเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีในปัจจุบัน และอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มาอยู่ที่ 41.3 และ 56.5 ตามลำดับ จากเดือนพ.ย.ที่ 40.4 และ 56.3 ตามลำดับ
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้น มาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นต่อเนื่อง หลังการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ รวมถึงช่วงปลายปีเป็นฤดูการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐออกมาตรการของขวัญปีใหม่จำนวนมาก ซึ่งเมื่อรวมกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและออกมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจหลายภาคส่วน โดยเฉพาะโรงแรมและร้านอาหาร ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบและมีความต้องการของแรงงานเพิ่มขึ้น